เมื่อ ‘ไลน์’ อยู่ใต้ปีก ‘ซอฟท์แบงก์’

เมื่อ ‘ไลน์’ อยู่ใต้ปีก ‘ซอฟท์แบงก์’

อีกไม่ถึง 1 ปีข้างหน้า “ไลน์” แอพพลิเคชั่นแชทยอดนิยมในญี่ปุ่นและไทย จะไปอยู่ในการดูแลของ "ซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป คอร์ป" ยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนของญี่ปุ่น และกลายเป็นยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์

ซอฟท์แบงก์ คอร์ป บริษัทการสื่อสารในเครือซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป แถลงว่า “แซด โฮลดิ้งส์ คอร์ป” หรือชื่อเดิมคือ “ยาฮู เจแปน” ธุรกิจอินเทอร์เน็ตของตน จะควบรวมกิจการกับไลน์ คอร์ปซึ่งอยู่ในเครือบริษัทเนเวอร์ คอร์ปของเกาหลีใต้ คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้ในเดือน ต.ค. 2563

ทั้ง 2 บริษัทตั้งเป้าที่จะทำข้อตกลงขั้นสุดท้ายในเดือนหน้า ซึ่งซอฟท์แบงก์ คอร์ปและเนเวอร์จะตั้งบริษัทร่วมทุนโดยถือหุ้นสัดส่วน 50:50 ซึ่งจะควบคุมแซด โฮลดิ้งส์ที่จะดำเนินการทั้งยาฮู เจแปนและไลน์หลังจากปิดดีลแล้ว

ซอฟท์แบงก์ คอร์ปและเนเวอร์ ซึ่งถือหุ้น 73% ในไลน์ มีแผนที่จะยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นที่เหลือของไลน์ในราคา 5,200 เยนต่อหุ้น หรือสูงกว่าราคาหุ้นก่อนมีข่าวควบรวมกิจการ 13.4% โดยหุ้นของไลน์เพิ่มขึ้น 2.6% มาอยู่ที่ 5,180 เยนในการซื้อขายรอบเช้าที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียววันนี้ (18 พ.ย.)

ขณะที่แซด โฮลดิ้งส์จะยังเป็นบริษัทย่อยที่ทำงบรวมกับบริษัทแม่อย่างซอฟท์แบงก์ คอร์ปต่อไป

ผลต่อธุรกิจของไลน์

ที่ผ่านมา ไลน์หาแหล่งกระตุ้นการเติบโตผ่านการขยายสู่ธุรกิจต่าง ๆ เช่น การชำระเงินคิวอาร์โค้ดกับ “ไลน์เพย์” แต่ทำได้ไม่มากนักเพราะมีเงินทุนจำกัดและต้องแข่งขันกับบรรดาผู้เล่นทุนหนา รวมถึงซอฟท์แบงก์ ซึ่งมีบริการคู่แข่งอย่าง “เพย์เพย์” อยู่แล้ว

ซอฟท์แบงก์ คอร์ป ระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อรวมทรัพยากรธุรกิจของแซด โฮลดิ้งส์และไลน์ กรุ๊ป ซึ่งมีฐานผู้ใช้งานและสินทรัพย์มหาศาลในญี่ปุ่น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่สะดวกยิ่งขึ้นสำหรับผู้ใช้ในญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ซอฟท์แบงก์ยังมีแผนที่จะลงทุนขยายสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ค้าปลีก เทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) โฆษณา ฯลฯ และตั้งเป้าเป็นบริษัทชั้นนำที่สร้างแรงขับเคลื่อนไปทั่วญี่ปุ่น เอเชีย และทั่วโลก

ในขณะที่ไลน์เป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นแชทยอดนิยมในตลาดญี่ปุ่นและไทย แต่ยังประสบความยากลำบากในตลาดอื่น ๆ แม้จะมีบริการหลากหลายรวมถึงไลน์เพย์ ไลน์แท็กซี่ และไลน์มิวสิค ก็ตาม

ส่วนยาฮู เจแปนเป็นหนึ่งในเว็บไซต์สืบค้นข้อมูลรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุน แต่ต้องแข่งขันกับ "กูเกิล" ของสหรัฐ และธุรกิจอื่น ๆ ของยาฮู เจแปนรวมถึงอีคอมเมิร์ซ ก็มีคู่แข่งสำคัญอย่าง "ราคูเท็น" และ "อาลีบาบา"

ข้อตกลงควบรวมกิจการนี้ถือเป็นตัวอย่างล่าสุดของการผนวกรวมกันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ในเดือนนี้ ซอฟท์แบงก์บรรลุข้อตกลงซื้อ “โซโซ อิงค์” ผู้ค้าปลีกแฟชั่นออนไลน์ ซึ่ง ยูซากุ มาเอะซาวะ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของโซโซได้ขายหุ้นของตนทั้งหมด หลังเขาบริหารจัดการผิดพลาดหลายครั้ง

เปลี่ยนแปลงใหญ่ย่างสู่ปีที่ 9

ไลน์เปิดตัวเมื่อปี 2554 หลังเหตุภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น ที่สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมไปทั่วประเทศ และปัจจุบันได้ผนวกฟีเจอร์ต่าง ๆ จากสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค สไกป์ และวอทส์แอพ เข้ากับเกมและบริการชำระเงินผ่านมือถือ

ก่อนหน้านี้ ซอฟท์แบงก์และไลน์แข่งขันกันมากขึ้นในหลายธุรกิจ เช่น การชำระเงินดิจิทัล ขณะที่ทั้ง 2 บริษัทยังลงทุนในเอไอเพื่อปรับปรุงบริการของตนด้วย

นับถึงต้นปีนี้ ไลน์มีผู้ใช้ประจำรายเดือนเกือบ 200 ล้านรายทั่วโลก และมีตลาดสำคัญอย่าง ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งมีผู้ใช้ประจำรายเดือนรวมกัน 164 ล้านราย โดยเกือบครึ่งหนึ่งหรือราว 80 ล้านรายอยู่ในญี่ปุ่น นับถึงไตรมาส 2 ของปี 2562