ดัชนีอุตสาหกรรมฯ ต.ค. ทรุด ต่ำสุดรอบ17 เดือน
ดัชนีอุตสาหกรรมฯ ต.ค. ทรุด ต่ำสุดรอบ17 เดือน ปมกำลังซื้อในภูมิภาคชะลอตัว เอสเอ็มอีประสบปัญหาด้านการเงินผลระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ส่วนภาพรวมปัญหา สงครามการค้า บาทแข็งยังหลอนไม่เลิก
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนต.ค. 2562 อยู่ที่ระดับ 91.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.1 จากเดือนก.ย. โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2561
เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคที่ยังชะลอตัว และผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงยืดเยื้อ และการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง
ส่วนการสำรวจผู้ประกอบการ 1,211 ราย ทั่วประเทศในเดือนต.ค. ผู้ประกอบการ 75.1% ยังคงกังวลปัญหาสภาวะเศรษฐกิจโลก, 58.4% มีความกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์) ในมุมมองผู้ส่งออก ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกในเดือนนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการส่งออกมียอดขายและคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลดีจากการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพื่อใช้ในเทศกาลช่วงปลายปีโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นและอาหาร ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการชิมช็อปใช้ส่งผลดี ต่อยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 102.9 โดยลดลงจากระดับ 103.4 ในเดือนก.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน ปัญหาเบร็กซิทรวมทั้งการที่ไทยถูกสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2563 ทำให้สินค้าส่งออกของไทยราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
ด้านข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่าภาครัฐควร 1) ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศเรื่องปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อ ค่าเงินบาท
2) เร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู (Thailand - EU Free Trade Agreement) และเร่งการเจรจาขอคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กับสหรัฐฯ 3) เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน อันจะส่งผลต่อห่วงโซ่มูลค่าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 4) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยภาคการส่งออกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก