สภาผู้แทนฯ ลงมติเอกฉันท์เห็นชอบรายงาน กมธ. วิสามัญศึกษาแนวทางคุมการใช้สารเคมีเกษตร
ทางด้านกระทรวงเกษตรฯ เรียกตัวแทนผู้ค้าสารเคมีเกษตรรับทราบแนวทางการดำเนินการหลังการแบนสารฯ
โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ใช้เวลาตลอดระยะเวลา 60 วันจัดทำรายงานดังกล่าว ก่อนที่จะนำเสนอในที่ประชุมสภาฯ ในวันนี้และได้รับฉันทามติสนับสนุน 423 ต่อ 0
สภาฯ ได้เริ่มพิจารณารายงานนี้ของกรรมาธิการวิสามัญฯ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 20 พฤศจิกายน และประชุมใหม่อีกครั้งในวันนี้ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 8 ท่านได้ลุกขึ้นอภิปรายเสนอแนะ ซึ่งต่างให้การสนับสนุนรายงานของกรรมาธิการ และข้อเสนอแนะให้รัฐบาลชดเชยและสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงไปสู่การใช้สารทางเลือก และการพัฒนาไปสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี หรือ BioThai หนึ่งในองค์กรนำของเครือข่ายต้านสารพิษเกษตร 686 องค์กร กล่าวว่า หลังจากที่สภาฯ ได้ลงมติดังกล่าว รายงานจะถูกส่งไปยังคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งถือได้ว่า มีผลในเชิงการเมือง เพราะพรรคการเมืองที่บริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะที่ปรากฏในรายงาน
แม้รายงานของ กมธ. จะไม่ได้มีผลในเชิงบริหารโดยตรง แต่มีความสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะการสร้างความชอบธรรมให้กับการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป, นายวิฑูรย์กล่าว
เครือข่ายฯ เองได้แสดงความยินดีต่อมติในครั้งนี้ โดยได้มีการโฟสต์ข้อความในเฟสบุ๊คเพจของมูลนิธิฯ ว่า “สิ่งที่สภาราษฎรได้แสดงให้เห็นในวันนี้ คือการย้ำว่า เกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ใช่เป็นความหวังของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้กลายเป็นความหวังและความฝันของคนไทยส่วนใหญ่แล้ว”
วันนี้ทางเครือข่ายฯ จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งสำคัญด้านการเกษตรอีกครั้ง
ในวันเดียวกัน สมาคมบริษัทผู้ค้าสารเคมี ได้แก่ สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตร ได้เข้าประชุมร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันถึงแนวทางการดำเนินการภายหลังที่จะมีการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส โดย รมช. มนัญญา ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า หากบริษัทใดมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งออก 3 สารดังกล่าวนี้ จะสามารถดำเนินการได้ใน 3 วันทำการ และสามารถแจ้งจำนวนสต๊อกเข้ามาได้
รมช. มนัญญา ยังกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ หากมีมติในการใช้สารเคมี 3 ตัวนี้อย่างไร ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็พร้อมดำเนินการตามมติของที่ประชุม
ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า การบังคับใช้การยกเลิกสารพิษทั้ง 3 ชนิด ในวันที่ 1 ธันวาคม อาจไม่สามารถทำได้ เนื่องจากปัญหาข้อเทคนิคในการเตรียมการ และอาจมีการเลื่อนออกไปอีกระยะ