แบน 3 สารส่อเลื่อน หลังผลประชาพิจารณ์75%ไม่เห็นด้วย ทำ"เกษตร"เตรียมเสนอเลื่อนบังคับใช้6เดือน
“สุริยะ”เผยผลประชาพิจารณ์ไม่เห็นด้วยสูง หวังที่ประชุมบอร์ดวัตถุอันตรายพิจารณารอบด้าน ขณะที่“ปลัดเกษตรฯ” เตรียมเสนอเลื่อนไปอีก 6 เดือนอ้างทำแทนรองรับ ขณะที่ 5ประเทศชี้ไทยทำผิกกติกาสากล
ผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อ 22 ต.ค. ที่ผ่านมามีมติให้สารเคมีทางการเกษตรได้แก่ ไกลโฟเสท พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นสารอันตรายห้ามจำหน่ายและครอบครอง ให้มีผล 1 ธ.ค.นี้ ท่ามกลางการขับเคลื่อนจากรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย อย่างไรก็ตาม มติครั้งนั้น กำหนดให้กรมวิชาการเกษตรได้แก่ จัดทำแผนรองรับผลกระทบการเลิกใช้ 3 สาร,จัดทำร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้รัฐมตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการฯลงนามเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และ การจัดทำประชาพิจารณ์เรื่องดังกล่าว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายเปิดเผยว่าในวันที่ 27 พ.ย.นี้ จะประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งคงจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และทำความเข้าใจ ว่าเมื่อมีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดแล้วจะมีสารตัวใดที่จะมาทดแทน สารใดบ้าง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเกษตรกร
นอกจากนี้ นายสุริยะ ได้ให้สัมภาษณ์รายการ“เจาะลึกทั่วไปอินไซด์ ไทยแลนด์” โดยระบุว่ากรมวิชาการเกษตรได้ส่งข้อมูลมาครบแล้วแต่ปัญหาคือ ในส่วนของข้อมูลการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งพบว่า จากลุ่มตัวอย่าง 48,789 รายมีจำนวนถึง 75% ไม่เห็นด้วยให้แบนสาร ขณะที่25% เห็นด้วย
ดังนั้นเรื่องนี้ต้องให้กรมวิชาการเกษตรผู้จัดทำประชาพิจารณ์จะต้องมีแผนที่ชัดเจนว่าหากมีการแบนแล้วกรมต้องให้ข้อมูลคณะกรรมการว่ามีมาตรการรองรับอย่างไร เพราะคือหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ เพราะข้อมูลล่าสุดพบว่า เมื่อ 23 พ.ค. 2561 กรมวิชาการเกษตร แจ้งกับคณะกรรมการฯว่ายังไม่สามารถหาสารมาทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดที่มีแผนจะแบนได้และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีเอกสารใดเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว
“ผมคงบอกไม่ได้ว่าที่เราจะแบนสารทัน 1 ธ.ค.นี้หรือไม่ ต้องรอฟังที่ประชุมก่อน เพราะคณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่ละส่วนจะมีแต่กรมที่เชี่ยวชาดูแลในแต่ละเรื่องเนื่องจากเป็นที่ทราบกันกันดีว่ามีความเห็นต่างกันในเรื่องนี้ และหากมติที่ประชุมให้เลื่อนก็ต้องเลื่อนออกไป แต่หากจะแบนตามกำหนดก็ต้องมีมาตรการรองรับ”
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากที่ได้ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ส่งเอกสารมาประกอบการประชุมยกเลิก 3 สารมาเพิ่มเติม ซึ่ง
กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเอกสารมาตรการรองรับผลกระทบจากการยกเลิก 3 สารเคมี และเอกสารอื่นๆมาให้แล้ว โดยเอกสารทั้งหมดปิดผนึกเป็นความลับ จะส่งให้กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายเปิดอ่านพิจารณาในวันที่ 27 พ.ย.นี้ ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย
เกษตรเสนอเลื่อนแบนนาน6เดือน
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร3 ชนิด ว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานในที่ประชุมว่า จะยืดระยะเวลาการจัดการหรือการบังคับใช้การยกระดับ 3 สารเคมีเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามใช้ และห้ามมีไว้ครอบครอง ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ออกไป อีก 6 เดือน เนื่องจากจะต้องมีระยะเวลาสำหรับการบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่ขณะนี้ยังมีอยู่ในประเทศไทยกว่า 20,000 ตัน
ในส่วนนี้ ต้องรอให้กรมวิชาการเกษตรหารือในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะใช้วีธีเลื่อนการแบน หรือจะใช้กำหนดการแบนเดิมที่วันที่ 1ธ.ค.2562 แต่ให้มีไว้ครอบครองได้หลังประกาศในราชกิจการนุเบกษาอีก 6 เดือน โดยเชื่อว่าปริมาณ 3 สารที่มีอยู่ในไทยจะหมดไปได้
“ที่กรมวิชาการเกษตรมารายงานตรงนี้เพราะในการประชุมครั้งก่อนผมสอบถามไปว่ายังมีปริมาณ 3 สารเคมีอยู่เท่าไหร่ ในตอนนั้นระบุว่ายังคงเหลือ 38,000 ตัน เลยเสนอแนวทางไปให้ปรับวิธีการจัดการ ตอนนั้นผมเสนอให้ย้อนศรกลับไปยังประเทศ ที่นำเข้ามา ซึ่งจากการหารือแล้วการย้อนศรออกไปก็ทำได้ ถ้าเป็นวัตถุอันตรายที่ยังเป็นศาลชั้นต้น แต่ถ้านำมาทำเป็น finished Product หรือสารขั้นปลายจะส่งออกไปไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศใช้ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นในที่ประชุมกรมวิชาการเกษตรจึงเสนอมาว่า จะยืดระยะเวลาการจัดการหรือการบังคับแบนออกไปอีก 6 เดือน”
อย่างไรก็ตาม งานหลักของคณะกรรมการชุดนี้คือการรองรับผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าถ้ามีการแบนวันที่ 1 ธ.ค. นี้นั้นจะมีผลกระทบอะไรบ้าง และจะเยียวยาและชดเชย ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ประมาณเท่าไหร่ โดยให้แต่ละกลุ่มเสนอโครงการเข้ามาแต่ในที่ประชุมถกเถียงกันและให้กลับไปทำใหม่ โดยข้อเสนอเบื้องต้นกำหนดให้รัฐต้องใช้เงินชดเชยให้เกษตรกร 32,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมร่วม 600,000 ครัวเรือน
5ประเทศจี้ไทยทำผิดกติกาสากล
นายอนันต์ กล่าวอีกว่าขณะนี้ 5 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา ทำหนังสือมาให้ไทยแจ้งรายละเอียดของการแบน 3 สาร พร้อมทั้งให้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันการตกค้างของสารเคมี ในผลผลิตด้านการเกษตร จนนำมาซึ่งการแบน 3 สาร ซึ่ง 5 ประเทศที่ส่งหนังสือมาถึงไทย เพื่อขอให้ไทยชี้แจงรายละเอียด ของการแบน เพราะตามระเบียบสากลของโลก หรือตามระเบียบขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)หากจะมีการแบนสารเคมีใด ประเทศที่ดำเนินการแบนต้องส่งหนังสือแจ้งกับประเทศสมาชิก ก่อน 60 วัน ซึ่งเงื่อนเวลาที่จะแบน 1 ธ.ค.ไม่ถึง 60 วัน หลายประเทศบอกว่าไทยทำผิดกติกาสากล นอกจากนี้ทั้ง 5 ประเทศ ก็กังวลว่าจะไม่สามารถส่งออกสินค้าทางการเกษตร อาทิ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง เป็นต้น มายังประเทศไทยได้
“ต่างประเทศส่งหนังสือถึง มกอช. เรื่องผลกระทบหากไทยแบน 3 สาร จะกระทบการส่งออกของเขามายังไทย ซึ่งจะต้องนำเสนอกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ยอมรับว่า หากแบน 3 สาร ทันทีในวันที่ 1 ธ.ค.2562 นักวิชาการ เอกชนและเกษตรกรก็ช็อค เพราะเดิมคิดว่า อยู่ระหว่างการจำกัดปริมาณการใช้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย"
ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลที่สุด คือผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปศุสัตว์เพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมน้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อทำจากแป้งสาลี ก็จะไม่สามารถนำเข้ามาผลิต หรือแม้แต่นำมาเพื่อจำหน่ายได้
เอกชนชี้ความเสียหาย1.7ล้านล้านบ.
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวร่วมกับ 6 สมาคมอุตสาหกรรมเกษตร ได้แก่ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และตัวแทนกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดหวาน ว่า การแบน3 สารเคมี คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต โดยยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 22ต.ค.2562 โดยให้มีผลในวันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป โดยไม่มีการเตรียมแผนรองรับจะทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร ผู้บริโภคควักเงินซื้ออาหารแพงขึ้น และมีผลกระทบในหลายภาคส่วนคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านบาท กระทบต่อภาคแรงงาน 12 ล้านคน
ทั้งนี้การแบน3 สารจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่มีการใช้สารเคมี 3 ตัวนี้ จะไม่สามารถนำเข้ามาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เกินกว่าครึ่ง โดยเฉพาะสินค้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองซึ่งประเทศที่นำเข้าหลัก 3 ประเทศ คือ สหรัฐ บราซิล และอาร์เจนติน่ายังคงมีการใช้สารไกลโฟเซตในการจัดการแปลง
“อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะกระทบไล่ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ มายังโรงงานผลิตอาหารสัตว์ 789 โรงงานต้องเจ๊งปิดตัว คนตกงานแน่นอน 1 ล้านครัวเรือนเพราะผลกระทบจะเกิดต่อเนื่องไปยังเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หมดอาชีพ ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าว ก็ขาดตลาดรองรับ จนท้ายที่สุดไปกระทบถึงอาหารต่างๆที่ส่งขายภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 800,000 ล้านบาท ขอถามว่าใครจะรับผิดชอบ ต่อไปประเทศไทยจะเลี้ยงไก่ไม่ได้ เพราะไม่มีอาหารสัตว์ จะเกิดวิกฤติอาหารขาดแคลน และราคาแพง ก็ต้องไปซื้อไก่จากเวียดนามตัวละ 300 บาทก็แล้วกัน”