ชี้เป้าสายงาน “Game Developer”
DPU X มธบ. ชี้เป้าสายงาน “Game Developer” เส้นทางสู่อาชีพสำหรับคอเกมเมอร์ กูรูวงการ E-Sport เผยตลาดโตต่อเนื่องต้องการบุคลากรรองรับ
สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต (DPU X) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) ร่วมกับวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี (ANT) เปิดประสบการณ์ใหม่ให้นักศึกษาภายใต้แนวคิด Playfessional ชอบทางไหนต้องไปให้สุด ตอน Indy Game
โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานในพิธีเปิด และนายจุลดิษฐ์ สันติธรณี ผู้จัดการทั่วไปและหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ซอฟแวร์เพื่อองค์กร บริษัท ดิจิโทโปลิส จำกัด ร่วมแชร์ประสบการณ์และจุดประกายฝันให้กับนักศึกษา ในการคว้าโอกาสเป็นนักพัฒนาเกมแห่งโลกอนาคตรวมถึงทิศทางการตลาดและอาชีพในสายเกม
นายจุลดิษฐ์ กล่าวว่า ในวงการเกมเชื่อว่าทุกคนต้องรู้จัก Indy Game ซึ่งเป็นเกมที่เริ่มจากนักพัฒนาเกมเพียงคนเดียวหรือมีทีมขนาดเล็ก และใช้ช่องทางการจำหน่ายเกมเองโดยไม่พึ่งผู้จัดจำหน่าย ที่สำคัญเกมดังกล่าวส่วนใหญ่ผู้สร้างเกมทำบนความชอบมากกว่ามองรายได้ ถือเป็นอุดมการณ์การทำเกมที่แตกต่างจากนักสร้างเกมทั่วไป
สำหรับวงการ E-Sports ในไทยเริ่มตื่นตัวและอยู่ในกระแสหลักมากขึ้น คนที่จะอยู่ในวงการนี้ หรือเป็นนัก E-Sports ต้องมีวินัย รู้จักการทำงานเป็นทีมเวิร์ค และหมั่นฝึกซ้อมอยู่เสมอ จะทำให้มีโอกาสเติบโตสูง
ส่วนคนที่สนใจอยากเป็นนักพัฒนาเกมหรืออยากลงทุนทำเกม นอกจากจะรู้เรื่องเกมและเล่นเกมเก่งแล้วต้องเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม อาทิ ความคิดที่เป็นระบบ ความคิดสร้างสรรค์ และสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เป็นต้น เนื่องจากการทำธุรกิจในด้านนี้ต้องเน้นทำการตลาดโลกเท่านั้นถึงจะไปต่อได้ ถ้าเน้นทำตลาดในไทยอย่างเดียว มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูง
นายจุลดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ปกครองเริ่มอยู่ใน Generation ที่เล่นเกมเป็น จึงมีทัศนคติที่ดีต่อเกมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาพเกมมอมเมาเยาวชนเริ่มหายไป
อย่างไรก็ตามเด็กที่ชอบเล่นเกมต้องอยู่ในการควบคุมให้เล่นแต่พอดี แต่ถ้าเด็กมีพรสวรรค์ในด้านดังกล่าวผู้ปกครองควรสนับสนุนให้ทำเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ส่วนเด็กที่อยากเรียนสายนี้ แนะนำให้เรียนเพราะความชอบและอยากทำเกมจริงๆ อย่าเรียนเพื่อเลียนแบบคนดังหรือคนที่ประสบความสำเร็จ คนทำเกมต้องมีใจรักมีความรู้เรื่องเกมและมีใจที่อยากทำถึงจะอยู่รอดได้ในธุรกิจนี้ ส่วนอาชีพที่มาแรงในสายนี้ คือ เกมแคสเตอร์ (Game Caster)
“วงการเกมเป็นธุรกิจที่ใหญ่กว่าวงการภาพยนตร์ มีเม็ดเงินหมุนเวียนเงินมหาศาล คนอยากทำเกมต้องมีทุนสูง มีความสามารถวางแผนการตลาดและต้องวิเคราะห์เกมที่จะได้รับความนิยมในอนาคตได้ ส่วนอุปสรรคของคนทำเกม คือเงินทุนน้อย สำหรับคนที่มีใจอยากทำเกมแต่มีทุนน้อยยังพอมีช่องทางในธุรกิจอยู่บ้าง”นายจุลดิษฐ์ กล่าว
ถ้าคุณเป็นคนที่มีมุมมองผู้ประกอบการและมุมมองคนเล่นเกม สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเกมแบบไหนจะติดตลาดในอนาคต ให้ทำเกมส่งเข้าประกวด แม้พลาดรางวัลแต่ได้รีวิวจากกรรมการเพื่อกลับมาปรับแก้แล้วนำเกมไปปล่อยในสโตร์เล็กๆ ก่อนเพื่อดูข้อมูล ทั้งนี้การลงแรงแต่ไม่ลงทุนคือวิธีที่ฉลาดและคุ้ม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของคนทำเกมรุ่นใหม่
น.ส.ธีราภรณ์ สิงห์ขร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาออกแบบดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี(ANT) กล่าวว่า หลังจบการศึกษาตนอยากทำงานด้าน Marketing หรือ AE การเข้าร่วมกิจกรรม Playfessional ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น ทำให้รู้ทิศทางการตลาดของเกมในปัจจุบัน สามารถมองเห็นภาพหลังเรียนจบในอนาคตได้กว้างขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาตนเองหรือปรับตัวให้ทันก่อนปฏิบัติงานจริง
ปัจจุบันกลุ่มผู้เล่นเกมขยายจากกลุ่มวัยรุ่นไปสู่วัยอื่นๆ ทำให้วงการนี้เริ่มขยายตลาดมากขึ้นรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุด้วย แม้ปัจจุบันผู้ปกครองบางท่านยังมองการเล่นเกมเป็นเรื่องไร้สาระไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ จึงอยากสื่อสารให้เข้าใจว่า เกมถ้าเล่นเป็นสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบรัวได้ ดังนั้นน้องๆที่ชอบเล่นเกมต้องแบ่งเวลาให้เป็น ต้องเรียนรู้ระบบเกม และเรียนรู้ภาษาเพิ่ม เพราะสิ่งเหล่านี้นำมาต่อยอดให้ก้าวไปเป็นนักพัฒนาเกม หรืออาชีพอื่นที่อยู่ในสายเกม ขอเพียงมีแรงผลักดันจากผู้ปกครองที่พร้อมสนับสนุน จะทำให้เด็กมีอนาคตไกลและไปต่อได้
“อาชีพในสายเกมแตกแขนงได้หลายทาง อยู่ที่บ้านก็สามารถทำงานได้ บางคนอาจจะกลัวการหาคำตอบหรือเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ถ้าลองเปิดใจและไขว่คว้าหาโอกาสสิ่งที่อยู่รอบตัวหรือสิ่งที่ชอบ เราจะรู้ว่ายังมีหลายสิ่งอีกมายที่ยังไม่ทันได้เห็นที่ได้ลองลงมือทำ"น.ส.ธีราภรณ์กล่าว