ยกมาทั้งกระทรวง! สธ.ค้านยืดแบน 3 สารเคมี 6 เดือน เสี่ยงกระทบเด็กเกิดใหม่ 3.5แสนคน
สธ.ประกาศไม่เห็นด้วยยืดแบน 3 สารเคมี “อนุทิน”ลั่นสธ.ไม่ได้ดูผลกระทบด้านอื่น รพ.ยกเคสผู้ป่วยยืนยันแค่สัมผัส “พาราควอต”ถึงตายจริง ระบุเวลา 6 เดือนเสี่ยงกระทบเด็กเกิดใหม่ราว 3.5 แสนคน งานวิจัยพบ”คลอร์ไพรีฟอส”ทำเด็กในครอบครัวเกษตรไอคิวลดลง 7 จุด
วันนี้(25พ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าว “ความทุกข์ผู้ป่วย-ความห่วงใยของสธ.กรณีแบน3สารเคมีอันตราย” ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ทั้งปลัดสธ. รองปลัดสธ. อธิบดีทุกกรมและมีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)ทั่วประเทศ และผอ.รพ.ร่วมด้วยนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จุดยืนของสธ.ไม่เอาสุขภาพประชาชนมาเสี่ยงกับข้อสงสัยว่าความเจ็บป่วยหรือโรคมาจาก 3 สารเคมีอันตรายจริงหรือไม่ และก่อนเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มติแบน 3 สารเคมีไปแล้ว และเมื่อเปลี่ยนคณะกรรมการชุดใหม่ตามกฎหมาย ซึ่งจะมีผู้แทนจากสธ.ลดลง แต่จะยังยืนยันเช่นเดิมคือแบน ทั้ง 3 สารและยืนยันตามที่มีมติเดิม และสธ.ไม่เห็นด้วยที่จะให้เลื่อนการแบนออกไปอีก 6 เดือน
“ถือว่ามติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562มีผลตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสธ.ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น เพราะภารกิจสธ.คือสุขภาพของประชาชน เมื่อคนทำงานเห็นคนไข้ติดเชื้อ หรือเป็นโรคอันเป็นผลจากสารพิษก็ต้องออกมาปกป้อง”นายอนุทินกล่าว
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดสธ. กล่าวว่า หากจะมีการยืดเวลาไปอีก 6 เดือนนั้น อยากให้มองว่าในแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตกี่คน ซึ่งจะเห็นว่าเฉพาะจ.น่านจังหวัดก็มีผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงก็ขอให้โรงพยาบาลทั่วประเทศขึ้นป้ายสนับสนุนการแบนสารเคมีไว้คงเดิม เพราะจุดยืนของสธ.คือสุขภาพประชาชน ชีวิตคนไทยเป็นเรื่องที่ต่อรองไม่ได้
ด้าน นพ.ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผอ.รพ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า เมื่อช่วงเดือนก.ค.2562 รพ.ได้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค เพื่อสอบสวนโรคผู้เสียชีวิตที่สงสัยว่าเกิดจากพาราควอต โดยเป็นชาย ชาวเมียนมาร์ เข้ามารับจ้างในไร่ข้าวโพดฝั่งไทย ได้สัมผัสสารจากการที่ถังพ่นมีรอยรั่ว โดนหลังและก้น รับการรักษาแผลจากสถานพยาบาลฝั่งเมียนมารและรพ.สต.ฝั่งไทย ผ่านไป7 วันปวดแผลมากขึ้นจึงมารักษาที่รพ.แม่สอด ทำการเอ็กซเรย์ปอดพบมีฝ้าขาว การทำงานของปอดล้มเหลว ไตและตับวาย ใส่ท่อช่วยหายใจ ก่อนที่จะเสียชีวิตในวันที่ 5 ส.ค.2562 ด้วยภาวะหายใจล้มเหลว เป็นกรณีผู้ป่วยที่แสดงให้เห็นว่าแค่เพียงสัมผัสพาราควอตก็ทำให้เสียชีวิตได้จริง
นพ.สุชาติ พรเจริญพงศ์ ผอ.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ผู้ป่วยเพศชาย อายุ 39 ปี มีประวัติพ่นยาฆ่าหญ้าและน้ำหกใส่กางเกง โดนอวัยวะเพศ ต่อมาพบไตมีปัญหาไม่ทำงาน เอ็กซเรย์ปอดผิดปกติเหมือนการติดเชื้อ ปรึกษาศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ระบุอาการเข้าได้กับการรับสารพาราควอต ที่ยังไม่มียารักษาเฉพาะ และต่อมาผู้ป่วยเสียชีวิต
นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีความเป็นห่วงผลกระทบจากสารเคมีที่มีต่อทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความไวต่อยาและสารเคมี ซึ่งมีการศึกษาว่าสารเคมีทั้ง 3 ตัวมีผลกระทบต่อการสร้างสมองของทารก โดยเฉพาะในครรภ์จะมีความไวเป็นพิเศษ เสี่ยงกระทบต่อระดับสติปัญญาและพัฒนาการ เพราะฉะนั้น ปัจจัยใดก็ตามที่จะปกป้องทารกไม่ให้เสี่ยงพัฒนาการล่าช้า เป็นสิ่งที่เร่งด่วนรอไม่ได้ และไม่ควรยืดระยะเวลาหรือผ่อนผันออกไป ทั้งนี้ กรมอนามัยไม่ได้มีเจตนาจะซ้ำเติมเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ แต่ต้องการเร่งรัดให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เกษตรกรได้รับการดูแลและจัดหาสารทดแทนโดยเร็ว และผู้ประกอบการนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดช่วยเปลี่ยนเร็วที่สุด เพื่อผลในการดูแลเด็ก
ขณะที่ นพ.สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย และกุมารแพทย์ กล่าวว่า งานวิจัยในปี 2552 เกี่ยวกับผลกระทบจากคลอร์ไพรีฟอส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยศึกษาในเด็กอายุ 7-11 ขวบ จำนวน 700 คนที่มีพ่อแม่เป็นเกษตรกร พบว่าระดับสติปัญญาหรือไอคิวเด็กลดลงเฉลี่ย 7 จุด มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ และเสี่ยงต่อภาวะหอบหืด และมีการทำเอ็มอาร์ไอ พบว่าสมองเกี่ยวกับความจำในเด็กผิดปกติ ซึ่งจะกระทบกับไอคิวและสมาธิสั้น รวมถึง มีการศึกษาในเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันแต่ไม่ใช่ครอบครัวเกษตรกร พบว่าไอคิวลดลง 2.7 จุด นอกจากนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับพาราควอตปี 2556 ในสหรัฐอเมริกา พบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคพาร์กินสัน ขณะที่ไกลโฟเซต การศึกษาในประเทศเยอรมันในปี 2556 ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
“หากมีการยืดการแบน 3 สารเคมีนี้ออกไปอีก 6 เดือน นอกจากผลเสียที่จะเกิดกับเกษตรกรผู้ใช้ และผลต่อผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลเสียต่อเด็กที่จะได้รับอันตรายจากสาร ทำให้มีไอคิวต่ำ เพราะในการตั้งครรภ์อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ จะมีการสร้างอวัยวะ และเซลล์ประสาท คือสมองและไขสันหลัง ซึ่งปัจจุบันประเทสไทยมีเด็กเกิดใหม่ราวปีละ 7 แสนคน หากยืดให้มีการใช้ 3 สารนี้ต่อไป 6 เดือน เท่ากับจะมีเด็กประมาณ 3.5 แสนคนที่จะต้องเสี่ยงที่จะมีไอคิวลดลงระหว่าง 2.7-7 จุด ใครจะรับผิดชอบ ขณะที่ธนาคารโลกระบุว่าภาวะสุขภาพที่ดีของเด็ก จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศในอนาคต”นพ.สมพงษ์กล่าว
นพ.สมชาย เชื้อนานนท์ ผอ.รพ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ผู้ป่วยชายไทย อายุ 65 ปี เข้ารับการรักษาที่รพ. ด้วยการมีแผลที่มือด้านขวาบวมแดง มีตุ่มน้ำสีคล้ำ 2 วันก่อนมาโรงพยาบาล จากการโดนใบข้าวบาดที่มือด้านขวา ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเนื้อเน่าตาย ปัจจุบันยังรักษาตัวอยู่ในรพ. เป็นตัวอย่างว่าแค่เพียงใบข้าวบาดก็สามารถเกิดโรคเนื้อเน่าขึ้นได้ ซี่งจ.หนองบัวลำภูมีผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 130 ราย อัตราป่วย 45-50 ต่อประชากรแสนราย
นพ.วสันต์ แก้ววี รองผอ.ฝ่ายการแพทย์ รพ.น่าน กล่าวว่า อัตราป่วยประชาชนในพื้นที่จ.น่านที่ได้รับพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช ประจำปี 2562 รวม 46 คน อัตราป่วย 228.69 ต่อประชากรแสนราย แยกเป็นผู้ป่วยรับพิษจากสารกำจัดวัชพืช 21 รายอัตราป่วย 106.48 ต่อประชากรแสนราย พิษจากสารกำจัดแมลง 18 ราย อัตราป่วย 78.34 ต่อประชากรแสนราย และพิษจากสารกำจัดศัตรูพืชอื่นๆ 7 ราย อัตราป่วย 43.89 ต่อประชากรแสนราย นอกจากนี้ สถานการณ์ผู้ป่วยโรคเนื้อเน่า เดิมจะพบผู้ป่วยเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 45 ราย แต่ในปี 2562 พบว่าจำนวนครั้งที่นอนรักษาตัวในรพ.น่าน มากที่สุดในเดือนก.ค.เพียงเดือนเดียว 25 ราย