เรียนยืดหยุ่น-เพื่อนดูแลเพื่อน ดึงเด็กนอกระบบสู่ห้องเรียน
ทุกคนต่างรับรู้ว่า “การศึกษา” ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสทางการศึกษา
ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เด็กนอกระบบจำนวนมาก โดยข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)ระบุว่า ประเทศไทยมีกลุ่มเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษา ราว 670,000 คน
คำตอบที่จะทำให้เด็กนอกระบบเหล่านี้กลับมาสู่ระบบการศึกษาได้อีกครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีระบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น มามะซูฟี อารง ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 กล่าวว่าโรงเรียนให้บริการเด็กในทุกอำเภอของจังหวัด และเป็นโรงเรียนประจำที่จัดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีนักเรียนทั้งหมด 614 คน ประมาณ 95% จะเป็นนักเรียนนับถือศาสนาอิสลาม ในแต่ละปีจะมีเด็กที่เข้าเรียนกลางเทอมเป็นประจำ
ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากเรียนหนังสือ แต่มีเหตุจำเป็นที่ทำให้พวกเขาต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เช่น บางคนต้องย้ายตามผู้ปกครองไปทำมาหากินในที่ต่างๆ หรือบางคนต้องออกไปทำงานช่วยเหลือครอบครัว ไปดูแลพี่น้อง คนในครอบครัว หรือบางคนครอบครัวมีฐานะยากจน พ่อแม่ไม่สามารถส่งลูกมาเรียนได้ เป็นต้น
“โรงเรียนเปิดรับเด็กทุกคน เมื่อเด็กออกไปแล้วกลับเข้ามาเรียนใหม่ พวกเขาจะเกิดปัญหาทั้งในเรื่องการเรียน และการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น โดยเฉพาะช่วงแรก เด็กกลุ่มนี้จะมีความเครียดกังวล สับสน วางตัวไม่ถูก จึงแสดงออกด้วยความขัดเขิน แยกตัวจากเพื่อน และไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ทำให้เมื่อมาเรียนช่วงหนึ่งหลายคนก็อาจจะอยากออกจากโรงเรียนอีก"ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 กล่าว
ทางโรงเรียนเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดกระบวนการการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นให้พวกเขาได้เรียนรู้อย่างสนุกและเข้าใจ ขณะเดียวกันจะมีกระบวนการช่วยปรับตัวให้เด็ก โดยจัดครูที่ปรึกษาไว้คอยดูแลเด็ก หนึ่งต่อหนึ่ง รวมถึงให้เพื่อนช่วยเพื่อน ให้เด็กที่มีทักษะสังคมที่ดีอยู่แล้ว คอยดูแลใกล้ชิด และชักชวนให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการเรียน การไปกินข้าว การเล่น หรือเข้านอน
กระบวนการที่จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้กลับมาสู่ห้องเรียนได้นั้น ส่วนหนึ่งต้องมีระบบการค้นหาเด็กกลุ่มนี้ให้เจอเพราะที่ผ่านมาโรงเรียนได้พยายามค้นหาเด็กกลุ่มนี้ แต่ได้มาเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น มามะซูฟี กล่าวต่อว่าจังหวัดยะลา มีเด็กและเยาวชนนอกระบบประมาณ 30,000 กว่าคน ซึ่งในส่วนของโรงเรียนนั้นได้พยายามค้นหาเด็กกลุ่มนี้ แต่ได้เพียง 10 กว่าคนเท่านั้น เพราะไม่ได้มีบุคลากร อีกทั้งส่วนใหญ่จะเด็กจะอยู่ในท้องถิ่น ชุมชน
ดังนั้น การที่กสศ.ช่วยค้นหาเด็กนอกระบบและนำมาสู่ในระบบ ถือเป็นเรื่องที่ดีในการจะช่วยให้เด็กคนหนึ่งได้มีโอกาสกลับมาเรียนหนังสือ และโรงเรียนเองก็มีกระบวนการในการจะประคับประคองให้เด็กกลับมาเรียนได้ ไม่หลุดออกจากระบบไปอีก ต้องอาศัยความร่วมมือ ความเข้าใจ ทั้งครู เพื่อนนักเรียน และครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องทำให้เข้าใจว่าการศึกษาสำคัญต่อลูกเขาอย่างไร และจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวได้อย่างไรบ้าง
ฮูดอยบี เหล่าเขตกิจ อายุ 17 ปี เป็นเด็กนอกระบบที่ได้กลับไปเรียนหนังสืออีกครั้งในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 กล่าวว่า เปิดเทอมวันแรกรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่ได้เรียนหนังสือมานานแล้ว เรียนจบไปเพียงม.2 ก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะตอนนั้นบ้านไม่มีเงิน ความรู้สึกตอนนั้นคือเศร้า เมื่อออกมาแล้วก็ต้องไปทำงานในสวนในไร่ เก็บน้ำยาง ขึ้นต้นลองกอง ที่ไหนมีงานต้องทำหมด เคยไปไกลสุดถึงนครศรีธรรมราช จริงๆแล้วอยากไปโรงเรียนแต่ตอนนั้นไปไม่ได้
แล้ววันนี้พอกสศ.ได้มาจัดโครงการ ได้กลับเข้ามาเรียนหนังสือ ได้มาเรียนโรงเรียนใหม่ที่ใหญ่ มีนักเรียนเยอะ และเป็นโรงเรียนประจำ แม้ว่าจะได้กลับบ้านเดือนละครั้ง แลกกับการได้เรียนหนังสือก็จะตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ เพื่อจะได้มีอาชีพ มีงานทำที่ดีในการเลี้ยงครอบครัวต่อไป
ชำนาญ เหล่าเขตกิจ บิดาของฮูดอยบี เล่าว่าทำงานกรีดยางและงานก่อสร้าง มีรายได้ไม่แน่นอน ช่วงที่ลูกออกจากโรงเรียนคือช่วงที่ว่างงานและไม่มีเงินจ่ายค่ารถรับจ้างไปโรงเรียนให้ ฮูดอยบี จึงตัดสินใจเลิกไปโรงเรียน ซึ่งความจริงอยากให้ลูกได้เรียนเพื่อจะได้มีอนาคตที่ดีกว่าออกไปทำงานด้วยวุฒิแค่ ป.6
ดังนั้น วันที่มีเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้านเพื่อพาเขากลับไปเรียน ดีใจมากที่ลูกได้กลับไปเรียน ตอนนั้นคิดว่าถ้าได้เรียนกศน. ก็ดีมากแล้ว แต่นี่เขากำลังจะให้ลูกได้เรียนในรูปแบบโรงเรียนปกติ ได้ไปอยู่หอพักที่โรงเรียนรู้สึกดีใจมาก เพราะถ้าได้กลับไปเรียนแล้วยังอยู่บ้าน สักวันก็จะมีปัญหาไม่มีค่ารถไปโรงเรียนเหมือนเดิมอีก การที่ได้อยู่ที่โรงเรียนคิดว่ามันดีกว่า เพราะจะได้ฝึกตัวเองให้มีกฎระเบียบ มีเพื่อน และน่าจะทำให้ตั้งใจกับบทเรียนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ กสศ. ได้ดำเนินการโครงการตัวแบบการดูแลเด็กเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอายุระหว่าง 3-21 ปี ใน 20 จังหวัด 115 อำเภอ โดยมีเป้าหมายในการสำรวจค้นหาทั้งหมด 218,895 คน ล่าสุดสำรวจพบเจอตัวเด็กและเก็บข้อมูลสภาพปัญหาแล้ว 60,941 คน เบื้องต้นด้วยงบประมาณจำกัดในปี 2562 กสศ.จะช่วยเหลือได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือประมาณ 2.28% จาก 218,895 คน โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีในพื้นที่ในการนำเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือการพัฒนาทักษะอาชีพ
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.กล่าวว่าการดำเนินงานของกสศ.และ 20 จังหวัด มุ่งเน้นวางแผนการช่วยเหลือรายกรณี เด็กแต่ละคนมีปัญหาต่างกัน ควรแก้ไขด้วยวิธีการอย่างไร รวมถึงการทำงานร่วมกับโรงเรียนที่มีความพร้อมในการปรับวิธีการเรียนการสอน
เวลาการเรียนให้มีความยืดหยุ่นเหมาะกับสภาพปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ และโรงเรียนนำร่องที่มีระบบการเรียนการสอนยืดหยุ่นพร้อมช่วยเหลือให้เด็กกลุ่มนี้ไม่หลุดออกนอกระบบซ้ำอีก ส่วนเด็กนอกระบบบางกลุ่มอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา อาจต้องมีทางเลือกอื่น