ปีหน้าผู้บริโภคอ่วมกินข้าวแพง เซ่นผลผลิตลด

ปีหน้าผู้บริโภคอ่วมกินข้าวแพง เซ่นผลผลิตลด

พาณิชย์ ประเมินผลผลิตข้าววูบเหลือ 27-28 ล้านตัน จากเดิม 32-34 ล้านตัน ผลจากภัยแล้ง-น้ำท่วม คาดดันราคาข้าวสูงต่อเนื่อง

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง โครงการประกันรายได้เกษตรผู้ปลูกข้าวว่า ขณะนี้ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว และข้าวเปลือกเจ้าในฤดูการผลิตนาปี 2562/63 ได้มีการเก็บเกี่ยวแล้วส่วนใหญ่เกือบ 90ที่เหลือคาดว่าจะเก็บเกี่ยวหมดภายใน 7-10 วันจากนี้ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่ผ่านมากระทบผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด

โดยผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังที่ปกติมีผลผลิต 8 ล้านตัน อาจเหลือ 3.5 ล้านตัน หรือหายไป 50% ขณะที่ข้าวเปลือกนาปีคาดว่าจะมีผลผลิตเพียง 24 ล้านตัน จากปกติ 25-27 ล้านตัน ทำให้เหลือผลผลิตข้าวเปลือกในประเทศ เหลือ 27-28 ล้านตัน จากปกติ 32-34 ล้านตัน ก็จะมีผลต่อราคาข้าวเปลือกและข้าวสารจากนี้มีราคาสูงขึ้น เมื่อแปลงเป็นข้าวสารเหลือประมาณ 16-17 ล้านตัน หากส่งออกได้แค่ 8 ล้านตัน บริโภคในประเทศที่ปกติอยู่ที่ 9-10 ล้านตัน อาจมีผลต่อราคาข้าวในประเทศจากนี้ขยับสูงต่อเนื่อง

  157485219574

นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับจ่ายเงินส่วนต่างการประกันรายได้ข้าว ทางคณะอนุกรรมการได้พิจารณาการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง  โดยราคาเกณฑ์กลางข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ 15,286.95 บาทต่อตัน สูงราคาประกันรายได้ที่ 15,000 บาทต่อตัน  ขณะที่ข้าวเปลือกเหนียว ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง 16,186.25 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาประกันรายได้ที่ 12,000 บาท/ตันทำให้ไม่ต้องจ่ายชดเชย  ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้า ราคาเกณฑ์กลางอยู่ที่ 7,446.61 บาทต่อตัน ต่ำกว่าราคาประกันรายได้กำหนดที่ 10,000 บาทต่อตัน จึงจ่ายชดเชย 2,553.39 บาทต่อตัน  ส่วนข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาเกณฑ์กลางอยู่ที่ 9,404.32 บาทต่อตัน ต่ำกว่าราคาประกันกำหนดไว้ 11,000 บาทต่อตัน จึงจ่ายชดเชยที่ 1,595.68 บาทต่อตัน

ส่วนมาตรการเสริมที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการประกันรายได้ คือ ช่วยค่าใช้จ่ายเก็บยุ้งฉาง และชดเชยดอกเบี้ยให้สหกรณ์และโรงสีได้เริ่มดำเนินการแล้ว แต่คาดว่าจำนวนเงินที่ใช้จะน้อยกว่าที่ได้เตรียมไว้ เพราะปริมาณข้าวลดลง ส่วนยอดจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ชาวนานั้นใน3 งวดจ่ายแล้ว 1.35 หมื่นล้านบาท รอบที่4 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 1.6 พันล้านบาท เท่ากับใช้เงินแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท จากที่ได้เตรียมงบประมาณไว้ 2 หมื่นล้านบาท

 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารข้าว (นบข.) ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเป็นการพิจารณาวงเงินชดเชยกรณีเกิดภาวะขาดทุนจากโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกให้กับ ธ.ก.ส. ประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไม่เคยมีการใช้วงเงินเพราะไม่เคยมีการขายข้าวขาดทุน