เผยเบื้องหลังมติ "ไม่แบน" 3 สารเคมีอันตรายทันที

เผยเบื้องหลังมติ "ไม่แบน" 3 สารเคมีอันตรายทันที

3 คกก.วัตถุอันตรายฟากสุขภาพ ลั่นมติเลื่อนแบนสารเคมีอันตราย ”ไม่เอกฉันท์” ไร้การโหวตรายบุคคล ยันสธ.มีจุดยืนเดิมแบน 3 สารอันตรายทันที ย้ำอันตรายเฉียบพลันทันที ถึงตาย ระยะยาวก่อมะเร็ง ตกเข้าห่วงโซ่อาหาร ส่งต่อจากแม่สู่ลูก กระทบเซลล์สมองทารก ส่งผลต่อพัฒน

       จากกรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 ถึงมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่ามีมติเป็นเอกฉันท์ให้แบนวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอสในวันที่ 1 มิ.ย.2563 ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้นั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการกลับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 ที่ให้แบนทั้ง 3 สารทันทีภายในวันที่ 1 ธ.ค.2562 แต่มติใหม่เลื่อนการแบน 2 พาราควอตออกไปอีก 6 เดือน และไม่แบนไกลโฟเซต
ล่าสุด วันนี้(28 พ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะ 2 ใน 24 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ร่วมแถลงข่าว “ท่าทีและจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขต่อสารเคมีอันตรายทางการเกษตร”
            นพ.สุขุม กล่าวว่า การใช้สารเคมีในการกำจัดสัตรูพืชต่างๆ โดยเฉพาะสารเคมีอันตราย 3 ชนิดคือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จะเห็นว่าข้อมูลผู้ป่วยจะพบผู้ได้รับอันตรายจากสารเคมีเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน เช่น รพ.น่าน ที่ให้ข้อมูลว่าเมื่อก่อนพบผู้ป่วยปีละ 45 รายแต่ปัจจุบันพบเดือนละ25 คน มีอาการแพ้ แผล เนื้อตาย สารบางตัวเช่นพาราควอต แค่สัมผัสไม่ต้องรับประทาน ผู้ป่วยก็ไม่มีทางรักษาและเสียชีวิตซึ่งมีรายงานหลายราย
         “สารเหล่านนี้มีการตกค้างในน้ำ ดิน และการสำรวจนอกตลาดก็จะต้องมีการตรวจตามแหล่งน้ำ หอยและอาหาร สธ.จำเป็นต้องให้ข้อมูลความจริงทั้งปริมาณสารที่ตกค้าง จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ซึ่งแพทย์ที่รักษาบางคนระบุว่าสารเหล่านี้ไม่ให้โอกาสที่2 กับผู้ป่วย กระทบกับสุขภาพ เมื่อสัมผัสจะไตวายใน 3 วัน ต่อมา 1 สัปดาห์ ตับวาย หากยังมีการใช้ต่อไป จะส่งทำให้ประชาชนมีปัญหาสุขภาพมากขึ้น ทั้งโรคมะเร็ง สมองเสื่อม การส่งต่อจากแม่สู่ลูกที่จะกระทบกับเซลล์สมองและพัฒนาการของเด็ก”นพ.สุขุมกล่าว

      นพ.ไพศาล กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 อย.ยืนยันต่อคณะกรรมการฯตามจุดยืนของสธ.คือยืนยันตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิมเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 ที่ให้แบนการใช้ทั้ง 3 สารทันที 


         ในการประชุมดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นมติเอกฉันท์เพราะในส่วนของสธ.ยืนยันมติเดิม และการประชุมไม่ได้มีการลงคะแนนด้วยการให้ยกมือแต่อย่างใด

 
       

         นพ.โอภาส กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 ตัวแทนสธ.ได้ยืนยันตามมติเดิมให้แบนทันที และในที่ประชุมไม่ได้ให้มีการลงคะแนนด้วยการยกมือหรือลงคะแนนรายบุคคลแต่อย่างใด 
          ทั้งนี้ สธ.ได้อภิปรายถึงผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตประชาชนที่จะเกิดขึ้นหากมีการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่อันตรายทั้ง 3 ชนิดต่อไป โดยยืนยันว่า พาราควอตหากมีการสัมผัสโดยร่างกายเกิดพิษเฉียบพลันให้ถึงกับเสียชีวิตได้ ก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่า ระยะยาวตกค้างจากแม่ถึงทารกในครรภ์ มีผลต่อสมองของทารก ส่วนคลอร์ไพรีฟอส ก่อเซลล์มะเร็ง รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ และไกลโฟเซต ก่อมะเร็ง รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ กระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านม ตกค้างในมารดาสู่ทารก
          นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการอ้างว่าไม่มีการปนเปื้อนในผักและผลไม้นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขอยืนยันว่า จากการเฝ้าระวังผักผลไม้ทั่วประเทศพบการปนเปื้อนพาราควอตจริง เช่น ในจ.พิษณุโลกมีการสุ่มตรวจกะหล่ำซึ่งเป็นพืชที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้พาราควอตเมื่อช่วงต้นปี 2562 พบว่า มีพาราควอนปนเปื้อน 0.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมจากค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเกินมาถึง 20 เท่า เป็นการแสดงให้เห็นว่าสารเคมีเหล่านี้มีการตกค้างในห่วงโซ่อาหารและส่งผ่านจากมารดาสู่ทารก อย่างไรก็ตาม กรมฯได้รับกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)ในการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)วิทยาศาสตร์การแพทย์ 80,000 คน เพื่อให้เฝ้าระวังการตกค้างของสารเคมีอันตรายในพืชผักผลไม้ ด้วยการใช้ชุดทดสอบอย่างง่ายที่กรมฯพัฒนาขึ้น เพิ่มการคุ้มครองประชาชน
         

         ผู้สื่อข่าวถามว่า ในแง่ของกฎหมายการลงคะแนนเสียงลักษณะนี้ถือว่ามติดังกล่าวมีผลตามกฎหมายหรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปถามกระทรวงอุตสาหกรรม และขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานผลการประชุมคณะกรรมการฯอย่างเป็นทางการ

           ก่อนหน้านี้ รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ซึ่งเป็น 1 ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่าในลักษณะเดียวกันว่ามติคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่เอกฉันท์ ใจความว่า ขอลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย และขอแย้งการแถลงข่าวของท่านประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย 1.ขอแย้งว่าไม่ได้มีการลงมติอย่างชัดเจน ว่าผู้ใดเห็นด้วยหรือไม่ในแต่ละประเด็น แต่เป็นภาวะจำยอมในการรับมติ จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น มติเอกฉันท์ เพราะหากพิจารณาในการอภิปรายจะพบว่า ดิฉันยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดในการแบนสารทั้งสาม และยืนยันให้คงมติวันที่ 22 ต.ค.2562 และ2.ขอแย้งการแถลงข่าวที่ว่า ไกลโฟเสตไม่เป็นอันตราย เพราะกรรมการรวมทั้งดิฉันได้อภิปรายถึงผลเสียต่อสุขภาพและไม่สามารถจะจัดการความเสี่ยงต่อผู้บริโภค จนพบปนเปื้อนทั้งในสิ่งแวดล้อม ผัก ผลไม้ และน้ำนมแม่