‘อาร์เอส’ เนื้อหอมเข้าตา ‘คิงเพาเวอร์’ ขอคัมแบ็ค ! ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2
ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นและเรียกเสียงฮือฮาไม่น้อยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS
ตัดสินใจขายบิ๊กล็อตหุ้น RS จำนวน 4 รายการ รวมทั้งหมด 96 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 13.70 บาท ให้กับพันธมิตร “คิง เพาเวอร์” ยักษ์ใหญ่ดิวตี้ฟรีเมืองไทย ของตระกูล “ศรีวัฒนประภา”
ดีลนี้ “เฮียฮ้อ” ได้เงินเข้ากระเป๋าไปกว่า 1,315 ล้านบาท ขณะที่ “คิง เพาเวอร์” ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของบริษัท โดยถือหุ้นในสัดส่วน 9.87% ส่วน “เฮียฮ้อ” ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 20.79% แต่ยังคงถือหุ้นใหญ่สุดเหมือนเดิม
ส่วนถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ เบื้องต้นผู้บริหารทั้ง 2 กลุ่ม ยังไม่ได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียด โดย อาร์เอส ระบุเพียงว่า “คิง เพาเวอร์” สนใจเข้ามาลงทุนถือหุ้นในระยะยาวเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้คงไม่กระทบต่อโครงสร้างการบริหารงาน
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “คิง เพาเวอร์” ซื้อหุ้นอาร์เอส ย้อนกลับไปเมื่อ 31 ก.ค. 2558 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ซื้อบิ๊กล็อตหุ้น RS จากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูลเชษฐโชติศักดิ์ ได้แก่ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ จำนวน 79 ล้านหุ้น และ นายเชษฐ เชษฐโชติศักดิ์ อีก 15 ล้านหุ้น รวม 94 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ในครั้งนั้นใช้เงินไปทั้งสิ้น 940 ล้านบาท หรือ ตกแล้วเฉลี่ยหุ้นละ 10 บาท
“คิง เพาเวอร์” ให้เหตุผลว่าต้องการเข้ามาลงทุนเพื่อรอรับผลตอบแทน (Passive Investor) เท่านั้น ไม่ได้จะเข้ามาบริหารงาน ส่วนที่เลือกอาร์เอสเพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพในการต่อยอดความสำเร็จจากธุรกิจสื่อไปสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องในอนาคต และที่ผ่านมากลุ่มคิง เพาเวอร์ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอาร์เอสและกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว
แต่ปรากฏว่าลงทุนได้ไม่นาน เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2558 หรือ เพียงแค่ประมาณ 2 เดือน ก็ตัดสินใจขายหุ้นออกมาเกือบเกลี้ยงพอร์ต จึงเป็นที่จับตาว่าการเข้ามาซื้อหุ้นครั้งนี้ “คิง เพาเวอร์” ต้องการลงทุนถือยาว รอรับปันผล? หรือ มีแผนจับไม้จับมือทำธุรกิจอะไรร่วมกัน? หรือ จะเข้าไวออกไวเหมือนที่เคยเกิดขึ้น?
ลึกๆ แล้ว เราเชื่อว่ารอบนี้ “คิง เพาเวอร์” เอาจริง เพราะสถานการณ์ตอนนี้กับปี 2558 ไม่เหมือนกัน โครงสร้างธุรกิจหลักของอาร์เอสเปลี่ยนไปแล้ว จากธุรกิจสื่อมาเป็นธุรกิจพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสร้างรายได้และผลกำไรให้บริษัทเป็นกอบเป็นกำ
ถือว่ารอบนี้อาร์เอสปรับตัวทัน เดินมาถูกทาง ไม่ได้ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ เพราะธุรกิจสื่อนับวันยิ่งจะถูก “ดิสรัป” เม็ดเงินโฆษณาหดหาย โดยเฉพาะสื่อรูปแบบเดิมๆ ขณะที่อาร์เอสกลับมองเห็นโอกาสจากฐานคนดูที่รับชมช่องทีวีดิจิทัลและสื่ออื่นๆ ที่อยู่ในมือ ต่อยอดนำสินค้าขายตรงพร้อมเสิร์ฟถึงผู้บริโภค โดยแทบไม่มีต้นทุน เพราะนำเสนอผ่านสื่อของตัวเอง จนทุกวันนี้กลายเป็นรายได้หลัก ช่วยผลักดันผลประกอบการทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์และดูมั่นคงขึ้น ดึงดูดให้ “คิง เพาเวอร์” กลับมาลงทุนอีกครั้ง
ต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีทองของอาร์เอส หลังจากมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ และได้ย้ายหุ้นของบริษัทที่แต่เดิมซื้อขายในหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ มาซื้อขายในหมวดพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังเนื้อหอมไปเข้าตาอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เข้าซื้อหุ้นจำนวน 70 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 15 บาท รวมมูลค่าทั้งหมด 1,050 ล้านบาท เมื่อเดือนส.ค.
เท่ากับว่าตอนนี้อาร์เอสมี 2 บิ๊กเนม ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศเข้ามาเป็นพันธมิตร จึงได้แต่หวังว่าหากสามารถประสานความร่วมมือกันได้ทั้งหมด คงช่วยต่อยอดความสำเร็จ และเสริมสร้างความแข็งแกร่ง “วิน-วิน” กันทุกฝ่ายแน่นอน
ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การเข้ามาถือหุ้น RS ของกลุ่มคิง เพาวเวอร์ ถือเป็น Sentiment ที่ดีต่อราคาหุ้น RS เนื่องจากไม่ได้กระทบต่อโครงสร้างการบริหารงานและปัจจัยพื้นฐานของบริษัท รวมทั้งต้องรอติดตามว่าในอนาคต “คิง เพาวเวอร์” จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทด้วยหรือไม่
หากมองในมุมพื้นฐาน พบว่า ราคาหุ้น RS ปีนี้ ยัง Laggard ตลาดอยู่มาก หลังปรับตัวลงมากว่า 7% ขณะที่ SET Index เพิ่มขึ้น 2.8% ส่วนระยะต่อไปยังมีหลายปัจจัยให้น่าลงทุน จากการทรานฟอร์มสู่ Data-Driven Entertainmerce พร้อมเตรียมเปิดตัวพันธมิตรใหม่อีก 2 ช่อง ภายในปีนี้ ทำให้บริษัทมีช่องทางการขายสินค้าผ่านทีวีดิจิทัลรวมทั้งหมด 4-5 ช่อง เข้าถึงฐานผู้ชมราว 40 ล้านคนต่อวัน