ไฟป่าปลุกสำนึกรักษ์โลก
ผู้ประท้วงในซิดนีย์เมืองที่กำลังอบอวลด้วยควันไฟป่า ร่วมวงต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก นักเคลื่อนไหวและเด็กนักเรียนรวมตัวกันที่สำนักงานใหญ่พรรครัฐบาลออสเตรเลีย เรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้ปัญหาให้จริงจังกว่านี้
วานนี้ (29 พ.ย.) ผู้ประท้วงในหลายเมืองทั่วเอเชียแปซิฟิก รวมตัวกันรณรงค์ต้านโลกร้อน จุดกระแสโดยเกรตา ธุนเบิร์ก วัยรุ่นสวีเดน แต่ที่ออสเตรเลียถือว่า สถานการณ์เร่งด่วนมาก เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ถูกไฟป่าเผาผลาญหลายร้อยจุดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงหลายร้อยคนจึงรวมตัวประท้วงที่สำนักงานใหญ่พรรคเสรีนิยมในนครซิดนีย์ ชูป้าย “คุณกำลังเผาอนาคตของเรา” “อากาศเปลี่ยนแปลงแล้วทำไมเราไม่เปลี่ยนตาม” บ้างก็ร้องตะโกน “เราจะลุกขึ้นสู้”
การประท้วงรอบนี้ถือว่าบรรยากาศเป็นใจ เนื่องจากซิดนีย์ถูกหมอกควันไฟป่าปกคลุมอีกรอบเมื่อเดือนที่ผ่านมา
“บ้านเกิดผมเป็นแนวหน้าเลย ผมตกใจมากที่รู้ว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นด้วย ถึงเวลาแล้วที่ผมต้องทำอะไรสักอย่าง” แซม กัลวิน นักเรียนที่ร่วมประท้วงในเมืองเมลเบิร์นกล่าว
วิกฤติไฟป่าออสเตรเลียเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน บ้านเรือนเสียหายกว่า 500 หลัง เปลวเพลิงเผาไหม้พื้นที่เกษตรและผืนป่า 6.3 ล้านไร่ นักวิทยาศาสตร์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อุณหภูมิสูงทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง อากาศร้อนมาก่อนฤดู ความแห้งแล้ง อากาศแห้งและลมแรงซ้ำเติมให้เปลวไฟรุนแรงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน
แม้อากาศเย็นอาจบรรเทาอันตรายจากไฟป่าลงได้บ้าง แต่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียเตือนเมื่อวันพฤหัสบดี (28 พ.ย.) ว่า หลายพื้นที่ยังคงเจออากาศร้อนและแห้งแล้งในฤดูร้อนต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสการเกิดไฟป่าได้อีก
การประท้วงที่ออสเตรเลียจึงพุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสัน ผู้กราดเกรี้ยวปฏิเสธว่าไฟป่ากับโลกร้อนไม่เกี่ยวข้องกัน ที่ต้องพูดแบบนี้เพราะเขาสนับสนุนการใช้พลังงานฟอสซิล
ขณะที่เชน บรอเดอริก แกนนำรักเรียนโต้ว่า การที่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลยกับวิกฤติภูมิอากาศยิ่งทำให้ไฟป่ามีพลังรุนแรง
“ประชาชนเดือดร้อน ชาวบ้านอย่างเราๆ เสียหาย ทั้งๆ ที่ยังไม่เริ่มฤดูร้อนด้วยซ้ำ” แกนนำนักเรียนกล่าว
ออสเตรเลีย ที่มีประชากร 25 ล้านคน เป็นประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ เมื่อเทียบกับนักสร้างมลพิษรายใหญ่สุดประเทศอื่นๆ ของโลก แต่ออสเตรเลียเป็นประเทศส่งออกถ่านหินมากที่สุดรายหนึ่งของโลก
รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 26% ของปี 2548 ภายในปี 2573 แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า ออสเตรเลียยังปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณเท่าเดิม
หลายวันก่อนมอร์ริสันอ้างว่า บทสรุปที่ว่าออสเตรเลียปล่อยก๊าซคาร์บอน 1.3% ของโลก การกระทำของออสเตรเลียล้วนส่งผลโดยตรงต่อการเกิดไฟป่า เป็นข้อกล่าวหาที่ปราศจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
นอกจากที่ซิดนีย์และเมลเบิร์นแล้ว ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ประชาชนหลายร้อยคนออกมาเดินขบวนในย่านชินจูกุ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ฉันรู้สึกได้ถึงวิกฤติ เพราะในญี่ปุ่นแทบไม่มีใครสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย ฉันได้แรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวของเกรตา ก็คิดได้ว่า ถ้าไม่ทำซะแต่ตอนนี้อาจจะสายเกินไป ฉันอยากทำอะไรที่พอทำได้” มิโอะ อิชิดะ นักเรียนวัย 19 ปีให้ความเห็น
เดือนก่อน ประชาชนหลายล้านคนลงถนนประท้วงต้านโลกร้อนในเมืองใหญ่แทบทุกเมืองทั่วโลก
ส่วนการเดินขบวนวานนี้ถือเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่ตัวแทน 200 ชาติจะมาร่วมประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงมาดริดของสเปน เป็นเวลา 12 วัน เริ่มต้นวันจันทร์ (1 ธ.ค.)
การประชุมส่วนใหญ่เน้นหาข้อสรุป “มาตรฐานการปฎิบัติ” สำหรับข้อตกลงปารีสว่าด้วยโลกร้อน ปี 2558 ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2564
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เคยเตือนว่า ความพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสไม่ได้ผล ถ้าจะให้ได้ตามเป้าจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นทุกขณะลงปีละ 7.6%
ยูเอ็นก็เคยรายงานว่า ระดับของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลก ตัวการสำคัญทำให้โลกร้อน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2561 ถ้ายังเป็นเช่นนี้ภายในสิ้นศตวรรษ อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเกือบ 4 องศาเซลเซียส บางพื้นที่มนุษย์อาจอาศัยอยู่ไม่ได้