กฟผ.หนุนปรับแผนพีดีพี ชงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ
กฟผ.เล็งเสนอผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเข้าพีดีพี 2018 อีกครั้ง ระบุโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์-ลมไม่เสถียร ต้องสร้างระบบสำรองผลิตไฟ สร้างความมั่นคงการผลิตไฟฟ้า จ่อเดินเครื่องลำตะคองเพิ่ม 500 เมกะวัตต์ ธ.ค.นี้
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.มีแผนที่จะผลักดันโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบจัดการพลังงาน ซึ่งใช้ผลิตไฟฟ้าตอบสนองความต้องการไฟฟ้าได้รวดเร็ว เพราะโรงไฟฟ้าพลังน้ำปล่อยน้ำและผลิตไฟฟ้าได้ทันที
ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (พีดีพี 2018) ได้นำแผนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับออกเนื่องจากมีต้นทุนสูง แต่ในการทบทวนแผนพีดีพี 2018 ที่จะมีขึ้น กฟผ.จะมีการเสนอให้มีการบรรจุการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเข้ามาอยู่ในพีดีพีอีกครั้ง เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงระบบสายส่งให้พร้อมรองรับพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization)
นายเทพรัตน์ กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมีความจำเป็น เนื่องจากมีแนวโน้มการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นยิ่งจำเป็นจะต้องวางระบบสำรองการผลิตไฟฟ้า เพราะการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ดังนั้นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับช่วยรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และจะเป็นตัวเลือกสำคัญในการช่วยบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ กฟผ.ได้ศึกษาศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 2 แห่ง คือ 1.เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ 2.เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ส่วนที่ดำเนินการแล้วมี 3 แห่ง คือ 1.เขื่อนภูมิพล กำลังการผลิต 171 เมกะวัตต์ 2.เขื่อนศรีนครินทร์ กำลังการผลิต 360 เมกะวัตต์ 3.โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา 500 เมกะวัตต์ และจะมีการเริ่มเดินเครื่องเข้าระบบเพิ่มเติมอีก 500 เมกะวัตต์ ในเดือน ธ.ค.นี้ รวมกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์
รวมทั้ง กฟผ.ได้ศึกษาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับประเภทปรับเปลี่ยนความเร็วในการทำงานได้ โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ Frades II ของบริษัท EDP ประเทศโปรตุเกส กำลังผลิตติดตั้ง 780 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับประเภทปรับเปลี่ยนความเร็วในการทำงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป เมื่อเทียบต่อ 1 ยูนิต โดยแต่ละเครื่องของโรงไฟฟ้าปรับลดกำลังการผลิตได้ระหว่าง 300-390 เมกะวัตต์ ความเร็วในการปรับอยู่ที่ 30 เมกะวัตต์/วินาที
ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับในประเทศไทยเป็นประเภทความเร็วคงที่ และที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนความเร็วในการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้
นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ราคาอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับประเภทปรับเปลี่ยนความเร็วในการทำงานจะแพงกว่าอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังแบบสูบกลับประเภทความเร็วคงที่ประมาณ 2-3 เท่า ซึ่ง กฟผ.จะต้องพิจารณาว่าเหมาะสมในการลงทุนหรือไม่ และต้องดูสภาพภูมิประเทศประกอบด้วย แต่มีข้อดีที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับประเภทปรับเปลี่ยนความเร็วในการทำงานได้จะสูบน้ำกลับขึ้นมาเก็บและผลิตไฟฟ้าได้รวดเร็วกว่าประเภทความเร็วคงที่
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจะเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะได้ทั้งปล่อยน้ำผลิตไฟฟ้าและสูบน้ำขึ้นไปเก็บไว้ รวมทั้งถือเป็นแหล่งสำรองไฟ้ฟ้าขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง
นอกจากนี้ การวางระบบโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับที่สมบูรณ์เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน อาจต้องพิจารณาพิจารณาแบตเตอรี่ด้วยเพราะมีความสำคัญในการจ่ายไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจะสามารถผลิตไฟฟ้าไฟฟ้าได้รวดเร็ว ซึ่งกรณีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับของบริษัท EDP สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ภายในเวลา 1 นาที แต่ช่วงเวลาที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หายไปจากระบบกระทันหัน แบตเตอรี่จะเข้ามาแทนในระบบได้ทันทีใน 1 นาที ก่อนที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจะผลิตไฟฟ้าได้