'การหยุดกิจการชั่วคราว' ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในอุตสากรรมต่างๆ บางรายอาจต้องปิดกิจการชั่วคราว เพราะออร์เดอร์ที่ลดลงอย่างมาก ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการที่นายจ้างทำแบบนี้ ผิดกฎหมายหรือไม่
สถานการณ์ "การจ้างแรงงาน" เป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน ดังที่เห็นในช่วงกลางปี 2562
ในช่วงกลางปี 2562 ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยและของโลกเกิดการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีแนวโน้มลุกลาม รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้ภาคแรงงานได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีการเลิกจ้างงาน ปิดกิจการ โดยอัตราการว่างงานช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี สูงขึ้นถึง 1.04% และมีจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนเลือกแก้ปัญหาดังกล่าวโดยใช้วิธีหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อแก้ไขวิกฤตและกลับมาประกอบกิจการตามปกติอีกครั้งในอนาคต
จากสถิติปี 2561 พบว่ามีสถานประกอบธุรกิจหยุดกิจการชั่วคราวจำนวน 114 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างชั่วคราว 67,000 คน ขณะที่ในปี 2562 มีการหยุดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นเป็น 260 แห่ง และลูกจ้างถูกเลิกจ้างชั่วคราว 150,000 คน จะเห็นได้ว่าอัตราการหยุดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วิธีหยุดกิจการชั่วคราวมี 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐ ที่ทำให้จีนส่งสินค้าออกน้อยลง ส่งผลให้มีการสั่งวัตถุดิบจากไทยลดลง
อ่านข่าว "หยุดกิจการชั่วคราว" ที่เกี่ยวข้องได้ที่ จับตา 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ใช้มาตรา 75 มากสุดปี 62
การหยุดกิจการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 บัญญัติว่า
"ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน"
จากมาตรา 75 พอสรุปสาระได้ดังนี้ คือในกรณีที่นายจ้างประสบวิกฤตในการดำเนินกิจการ และมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว นายจ้างยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจ่ายค่าจ้างในอัตรา 75% ของค่าจ้างปกติให้แก่ลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยทำให้จำเป็นต้องหยุดกิจการ นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างแต่อย่างใด
นอกจากนี้มาตรา 75 วรรคสอง ยังบัญญัติเพิ่มเติมว่า ก่อนมีการหยุดกิจการชั่วคราวไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ นายจ้างต้องแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือ เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริง และควบคุมนายจ้างให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามมาตรา 75
สำหรับการหยุดกิจการชั่วคราวนี้ มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา 2 ประการ ประการแรก คือการที่นายจ้างจะใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวได้นั้น ต้องปรากฎข้อเท็จจริงว่านายจ้างมีความจำเป็นอย่างสำคัญที่มีผลต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมากจนต้องหยุดกิจการชั่วคราว ดังนั้นหากเป็นความจำเป็นเล็กๆ น้อยๆ นายจ้างไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้
เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมาพบว่า "เหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญ" ตามมาตรา 75 ที่เกี่ยวข้องกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ได้แก่ กรณีนายจ้างได้รับคำสั่งซื้อลดลงมาก จนกระทั่งมีงานไม่เพียงพอให้ลูกจ้างทำ ประกอบกับประสบภาวะขาดทุน หากยังคงปริมาณการผลิตเท่าเดิมต่อไปจะส่งผลให้ขาดทุนมากยิ่งขึ้น นายจ้างสามารถประกาศให้ลูกจ้างสลับกันหยุดครั้งละ 1-5 วัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 5266/2548)
กรณีนายจ้างสามารถหยุดกิจการชั่วคราวได้ เนื่องจากยอดการสั่งซื้อลดลงมาก โดยนายจ้างแบ่งลูกจ้างออกเป็น 3 กลุ่ม ให้ลูกจ้างแต่ละกลุ่มหมุนเวียนกันหยุดกลุ่มละ 6 วัน โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ (คำพิพากษาฎีกาที่ 8678/2548)
กรณีนายจ้างสามารถหยุดกิจการชั่วคราวได้เนื่องจากลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อจำนวนมาก ถ้านายจ้างยังคงผลิตสินค้าต่อไปก็ยังไม่แน่นอนว่าจะขายสินค้าได้หรือไม่ ประกอบกับกิจการอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและเสี่ยงต่อการขาดทุน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1966-2406/2546)
ในทางตรงข้าม หากเหตุของการหยุดกิจการชั่วคราวเป็นผลมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของนายจ้าง หรือขาดการวางแผนงานที่ดีของนายจ้าง จะไม่ถือเป็น "เหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญ" ที่นายจ้างจะใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวได้ตามมาตรา 75 เช่น กรณีนายจ้างอ้างว่าประสบปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบและมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศล่าช้า ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการบริหารจัดการธุรกิจของนายจ้างเอง หากนายจ้างบริหารจัดการได้ดีแล้ว นายจ้างไม่จำเป็นต้องหยุดกิจการ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1901/2556)
กรณีนายจ้างต้องการหยุดกิจการชั่วคราว ด้วยเหตุที่นายจ้างคาดหมายจะประสบปัญหาปริมาณการสั่งซื้อจากลูกค้ามีความไม่แน่นอน บางครั้งนายจ้างขาดวัตถุดิบในการผลิตเนื่องจากไม่ได้กักตุนเอาไว้ เห็นได้ว่าความจำเป็นในการหยุดงานชั่วคราวมีสาเหตุมาจากการบริหารงานของนายจ้างเองที่ขาดการวางแผนจัดการที่ดี ดังนี้จึงไม่ถือว่าเป็นเหตุสำคัญในการหยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 (คำพิพากษาฎีกาที่ 6960/2548)
ข้อพิจารณาประการที่ 2 ของมาตรา 75 คือ นายจ้างต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างระหว่างปิดกิจการชั่วคราว ไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างปกติให้แก่ลูกจ้าง โดยเงินที่จ่ายไม่ถือเป็นค่าจ้างตามคำนิยาม แต่เป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในช่วงที่หยุดกิจการชั่วคราว และในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราว ลูกจ้างมีสิทธิไปทำงานกับบุคคลอื่น โดยไม่ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่หรือเอาเปรียบนายจ้างแต่อย่างใด
การหยุดกิจการชั่วคราวเป็นอีกหนึ่งทางออกของผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่ต้องการเลิกกิจการ โดยสามารถหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาให้หมดไปหรือบรรเทาลง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างหลักประกันการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกด้วย ไม่ให้ลูกจ้างขาดรายได้เพื่อใช้ในการดำรงชีพในระหว่างช่วงหยุดงาน อย่างไรก็ตาม กฎหมายควรมีการกำหนดระยะเวลาที่นายจ้างสามารถใชสิทธิหยุดกิจการชั่วคราวได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือนร้อนต่อลูกจ้างจนเกินสมควร