ศูนย์หลอดเลือดสมองระดับสูง รพ.พญาไท 1 "วินิจฉัย-รักษา-ฉับไว" หนึ่งเดียวในเอเชีย
สำหรับ "โรคหลอดเลือดสมอง" ในปัจจุบัน แม้จะมีเทคโนโลยีการรักษา และผู้คนตระหนักรู้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด คือ "เวลา" ในการเดินทางมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และการบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน
แม้ปัจจุบันประชาชนจะมีความตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะพื้นฐานของตัวโรคผ่านการประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ อย่างไรก็ตามการเข้าถึงการรักษา และ การทำเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินการโดยเฉพาะเมื่อพบว่า ตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการบ่งชี้ว่ากำลังอยู่ในภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ หรือ แตก ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษา คือ “เวลา” แต่ส่วนใหญ่แม้จะเริ่มมีอาการน่าสงสัย แต่ก็รอให้มันชัดเจน โดยหารู้ไม่ว่าเวลาที่เรารอ สมองเรายิ่งตายลงไปเรื่อยๆ
- 1 นาที เซลล์สมองตาย 2 ล้านตัว
ดร.นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 1 อธิบายว่า ภาวะอัมพาตเฉียบพลัน นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่เลวร้าย ความทุกข์ทรมานของตัวเอง และครอบครัว เพราะฉะนั้นการตระหนักอย่างเดียวไม่พอต้องรู้ด้วยว่าจะมีวิธีดำเนินการอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นต้องตระหนักและรับรู้เสมอว่าเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปสมองขาดเลือดมากขึ้น เซลล์สมองยิ่งตายมากขึ้น 1 นาที ที่สมองขาดเลือดเซลล์สมองตายไป 2 ล้านตัว เพราะฉะนั้น วิธีไหนที่ทำให้เข้าถึงบริการได้เร็วที่สุด นั่นคือทางออกที่ดีที่สุด ยิ่งรักษาเร็ว การฟื้นตัวก็จะยิ่งมากขึ้น ดังนั้น “เวลา” มีส่วนสำคัญต่อสมอง
ดร.นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ
โรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ หลอดเลือดสมองตีบ และ หลอดเลือดสมองแตก ทั้ง 2 แบบไม่สามารถแยกได้โดยการตรวจร่างกายเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น หลักสำคัญคือต้องทำ CT Scan หรือ MRI ขณะที่ หลอดเลือดสมองตีบ ต้องฉีดยาละลายลิ่มเลือด และ หลอดเลือดสมองแตก อาจจะต้องผ่าตัด
“เวลาที่คนไข้มีอาการหลอดเลือดสมองตีบต้องฉีดยาละลายลิ่มเลือดภายในเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมงครึ่ง นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ หากฉีดยาละลายในเวลาที่เกินจากนี้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการมีเลือดออกในสมองจะมีมากขึ้น แต่กว่าคนไข้จะมาถึงโรงพยาบาล หากเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ที่ไม่มีศูนย์หลอดเลือดสมอง จะต้องเสียเวลาในการซักประวัติ รอคิว วินิจฉัย ทำ CT Scan ให้หมออ่านฟิล์มเอกซเรย์ และสั่งให้ฉีดยาละลายลิ่มเลือดซึ่งผ่านไปแล้วกว่า 4 ชั่วโมง ดังนั้น จึงฉีดไม่ได้กลายเป็นปัญหาที่ว่าคนไข้ชาวไทยสามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดได้ทัน ในกรณีเส้นเลือดในสมองตีบเพียง 2% เท่านั้น” ดร.นพ.เกริกยศ กล่าว
อีกหนึ่งสาเหตุ คือ ไม่ตระหนักว่าจะต้องรีบรวมถึงสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ไม่ได้เอื้อให้มาถึงโรงพยาบาลได้เร็ว และระบบของโรงพยาบาลหากไม่ได้วางไว้อย่างเหมาะสม ไม่มีระบบรับมือเมื่อพบเหตุฉุกเฉิน (Stroke Fast Track)ทำให้คนไข้ไม่ได้รับการบริการที่รวดเร็ว สุดท้าย คนไข้หลอดเลือดสมองแทนที่จะหายดี ก็จะพิการและเสียชีวิตจำนวนมาก
- รถ STROKE Ambulance
ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้นำรถ Mobile CT & Stroke Treatment Unit หรือหน่วยรักษาอัมพาตเฉียบพลันเคลื่อนที่มาใช้เพื่อช่วยให้การรักษาภาวะฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ถือเป็นรถ STROKE Ambulance คันแรกของไทยและเอเชีย และเป็น 1 ใน 5 คันของโลก ปัจจุบัน มีอยู่ที่ประเทศเยอรมัน 2 คัน และ สหรัฐอเมริกา 2 คัน
พญ.นภาศรี ชัยสินอนันต์กุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา และโรคหลอดเลือดสมอง ว.ว.ประสาทวิทยา โรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวเสริมว่า ความพิเศษของรถ STROKE Ambulance คือ ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เอกซเรย์สมอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เอกซเรย์ พยาบาล แพทย์ฉุกเฉินเพื่อประเมินดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังสามารถสื่อสารทางไกล (Video Conference) ระหว่างแพทย์ฉุกเฉินและแพทย์ในโรงพยาบาล เพื่อดูอาการของคนไข้สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทันที หรือในกรณีหลอดเลือดแตก สามารถ ฉีดยาเพื่อให้เลือดไม่ออกเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงมีขนาดเล็กสามารถเข้าซอยในกรุงเทพฯ ได้กว่า 80%
พญ.นภาศรี ชัยสินอนันต์กุล
“แทนที่คนไข้จะเสียเวลาขับรถจากบ้านมาโรงพยาบาล ซึ่งมีปัญหาการจราจรที่คับคั่งเป็นอย่างมาก เราสามารถเคลื่อนโรงพยาบาลไปอยู่ที่หน้าบ้านของคนไข้ได้เลยสามารถเอกซเรย์สมองได้ทันที และรู้ได้ว่าคนไข้เป็นหลอดเลือดตีบ หรือ แตก ทั้งนี้จากการใช้รถ Stroke Ambulance ผู้ป่วยจะได้รับยาละลายลิ่มเลือดค่อนข้างเร็ว ภายใน 30 นาที นับตั้งแต่รถพยาบาลไปถึงบ้านผู้ป่วย และจากการติดตามผลการรักษาภายใน 3 เดือน ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับมาใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้นกว่า 50%” พญ.นภาศรี กล่าว
ดร.นพ.เกริกยศ กล่าวเพิ่มเติมว่าหาก ผู้ป่วยเกิดอาการอัมพาตเฉียบพลันครึ่งซีกภายในเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มมีอาการจนมาถึงโรงพยาบาล คนไข้สามารถเบิกสิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) หรือสิทธิฉุกเฉินวิกฤติ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ตามนโยบายของรัฐ เพื่อคุ้มครอง ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติให้สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เมื่อได้รับยาละลายลิ่มเลือดครบแล้ว ถือได้ว่าพ้นภาวะวิกฤติ เมื่อพ้นภาวะวิกฤติ ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาอื่นๆหรือเลือกที่จะเคลื่อนย้ายไปรักษาต่อที่ โรงพยาบาลตามสิทธิต่างๆของผู้ป่วยได้
“รถ STROKE Ambulance มีค่าใช้จ่ายครั้งละ 2 หมื่นบาท เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและพัฒนารถค่าติดตั้งเครื่อง CT Scan และค่าระบบสื่อสาร สำหรับค่าใช้จ่าย ในการวินิจฉัยโรค การตรวจร่างกาย การทำ CT Scan และการให้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ ทางโรงพยาบาลจะดูแลจนได้รับยาละลายลิ่มเลือดจนพ้นภาวะวิกฤติแล้ว โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เราคิดค่าเรียกรถพยาบาลเท่านั้น หลังจากพ้นวิกฤติแล้วคนไข้จะอยู่ที่โรงพยาบาลพญาไท 1 ต่อหรือย้ายไป โรงพยาบาลอื่นได้ ทั้งนี้สามารถเรียกรถSTROKE Ambulance โดยโทร 1772 กด 7”
จากสถิติที่ผ่านมา มีคนไข้เรียกใช้ รถ STROKE Ambulance ราว 100 สายต่อเดือน แต่สามารถออกปฏิบัติงานได้จริงเพียง 3 – 4 สาย เท่านั้น เพราะคนไข้บางคนเรียกรถเมื่อเวลาผ่านไปนานแล้ว หากเกิน 4 ชั่วโมง จะไม่ค่อยได้ ประโยชน์เพราะปล่อยเวลานานเกินไป ดังนั้น การตระหนักรู้ถึงการเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากรู้สึกผิดปกติ ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที
- หุ่นยนต์ฝึกกายภาพบำบัด
ทั้งนี้ ผลการรักษาที่ผ่านมา ในคนไข้ที่มาถึงโรงพยาบาลพญาไท 1 ได้เร็ว ฉีดยาละลาย ลิ่มเลือด หรือ ดึงลิ่มเลือดที่อุดตันสมองได้มากกว่าครึ่งคนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่ ทำงานตามปกติได้ราว 40% ที่เหลือส่วนหนึ่งต้องอาศัยการทำกายภาพบำบัด ฟื้นฟูช่วย คนไข้ก็จะกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
พญ.นภาศรี อธิบายว่า หากคนไข้มีความพิการหลงเหลืออยู่ ที่โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้นำหุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูการทำกายภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฝึกเดินได้คล่องขึ้น ลดการเกร็ง ของกล้ามเนื้อ โดยมีสลิงประคองสะโพก ลดการใช้ทีมกายภาพจากเดิมมากกว่า 2 คนเหลือเพียง 1 คนและช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บ ที่หลังของทีมกายภาพบำบัดเนื่องจากต้องคอยประคองผู้ป่วยได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์ ฝึกการใช้มือ และมีวีดิโอเกมให้คนไข้บังคับควบคุมการใช้มือ เพื่อให้ได้ขยับไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของแพทย์ทางกายภาพบำบัด พบว่า คนไข้ที่ใช้หุ่นยนต์ฝึกมือ สามารถมีกำลังของแขนและมือดีขึ้นสามารถกลับมาเขียนหนังสือ และใช้งานตามปกติได้มากขึ้น
- ศูนย์หลอดเลือดสมองระดับสูง
สำหรับโรงพยาบาลทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยที่ให้การรักษาหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. โรงพยาบาลทั่วไป ไม่มีศูนย์หลอดเลือดสมอง 2. โรงพยาบาลที่มีศูนย์หลอดเลือดสมองในระดับต้น หรือ Primary stroke center และ 3. โรงพยาบาลที่มีศูนย์หลอดเลือดสมองระดับสูง Comprehensive stroke center
ดร.นพ.เกริกยศ อธิบายว่าสำหรับ โรงพยาบาลทั่วไปที่ไม่มีระบบ 24 hours Stroke Fast Track เมื่อคนไข้ถึงโรงพยาบาล หากอาการหนักจะถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินหากอาการไม่หนักจะถูกส่งเข้าห้องตรวจ ซักประวัติ ถามอาการ ให้หมอตรวจ และผ่านขั้นตอนอื่นๆ ตามปกติทำให้ต้องใช้เวลานานเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงฉีดยาละลายลิ่มเลือดได้ทันเพียง 2%
ในส่วนของโรงพยาบาลที่ถูกประเมินคุณภาพว่าอยู่ในระดับ Primary stroke center หรือโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์เลือดหลอดสมองในระดับมาตรฐานขั้นต้น คือ สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงนับตั้งแต่คนไข้เปิดประตูโรงพยาบาลเข้ามาดังนั้นบุคลากรทุกคนที่อยู่ในระบบบริการจะถูกฝึกให้สามารถรับรู้ถึงอาการอัมพาตเฉียบพลันขั้นต้นได้ ทำให้สามารถแจ้งพยาบาล เพื่อเรียกทีมรักษาอัมพาตเฉียบพลัน (Acute Stroke Team) เร่งมาดูแลผู้ป่วย ทุกอย่างจะถูกลัดขั้นตอนทั้งหมด ผู้ป่วยจะถูกวินิจฉัย ส่งไปทำ CT Scan และให้การรักษาได้ทันท่วงที แต่หากต้องทำการลากลิ่มเลือดในสมอง โรงพยาบาลอาจจะไม่สามารถประกันได้ว่าจะตามหมอเข้ามาทำได้หรือไม่ และเมื่อไหร่
โรงพยาบาลพญาไท 1 เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทย และแห่งเดียวในเอเชีย ที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานระหว่างประเทศ ให้เป็นโรงพยาบาลที่มีศูนย์หลอดเลือดสมองระดับสูง Comprehensive stroke center ในระดับมาตรฐานโลก จากสถาบัน DNV GL ซึ่งต้องมีความสมบูรณ์ในหลายส่วน ทั้งในแง่ของการรักษาตั้งแต่ก่อนถึงโรงพยาบาล คือ การใช้รถ STROKE Ambulance ให้การรักษาตั้งแต่หน้าบ้าน
ดร.นพ.เกริกยศ อธิบายว่า สำหรับการเป็น Comprehensive stroke center โรงพยาบาลจะต้องมีระบบ 24 hours Stroke Fast Track โดยการลัดทุกขั้นตอนเพื่อดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองประกันเวลาที่สำคัญกับคนไข้ได้ สามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดได้ภายใน 1 ชั่วโมงตามที่มาตรฐานโลกกำหนด ถ้าหากคนไข้ฉีดแล้วลิ่มเลือดไม่ละลาย หรือมาหลังจาก 4 ชั่วโมงไปแล้วยังสามารถลากก้อนเลือดจากสมองได้ดำเนินการโดยศูนย์ลากลิ่มเลือดในสมอง (Clot Retrieval Center) และก่อนลากลิ่มเลือดมีโปรแกรมที่สามารถบอกได้ว่า ผลจาก MRI เนื้อสมองมีคุณภาพหลงเหลืออยู่แค่ไหน เพื่อประเมินผลลัพธ์ก่อนลากลิ่มเลือดในสมอง (เครื่อง Rapid)
หลังจากพ้นภาวะอัมพาตเฉียบพลันแล้วผู้ป่วยยังต้องได้รับการดูแลต่อใน ICU ที่ Ward อัมพาตโดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่าแผนกผู้ป่วยวิกฤติโรคหลอดเลือดสมอง (Acute Stroke Unit)ICU สำหรับอัมพาตของโรงพยาบาลพญาไท 1 ถือเป็น ICU สำหรับอัมพาตเฉียบพลันแห่งเดียวของโรงพยาบาลเอกชน เพื่อดูแลคนไข้อัมพาตเฉียบพลันโดยเฉพาะ เนื่องจากอาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น การสูดสำลักน้ำลาย อาหาร ทำให้ปอดบวม และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไข้ที่เป็นอัมพาตเฉียบพลัน
ดังนั้น จึงต้องทำงานร่วมกับทีมแพทย์แบบสหวิชาชีพ โดยมีทีมแพทย์หลักที่เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมองจำนวน 4 คน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการลากลิ่มเลือดในสมอง 2 คน และทีมศัลยแพทย์ผ่าตัดสมอง รวมถึงทีมสนับสนุนอื่นๆ คือ แพทย์ด้านหัวใจแพทย์ด้านปอด จิตแพทย์ เพื่อดูแลในเรื่องซึมเศร้า และพยาบาลเฉพาะทาง ทุกอย่างทำงานเป็นทีมทั้งหมด ก่อให้เกิด 24 hours Stroke Fast Track อย่างแท้จริงจึงจำเป็นต้องมีการฝึกฝนทีมอยู่เสมอ
ตลอดเวลากว่า 11 ปี ทุกคนจะรู้หน้าที่ของตัวเอง และจดบันทึก วิเคราะห์ว่าจุดไหนช้า และจะทำอย่างไรให้เร็วขึ้น ทุกอย่างผ่านการปรับกระบวนการ ฝึกฝน ในการพัฒนามาจนถึงจุดนี้ ปัจจุบันสามารถให้การรักษาผู้ป่วยนับตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลจนฉีดยา ละลายลิ่มเลือดได้ โดยใช้เวลาทั้งหมดเพียง 29 นาทีเฉลี่ย ทุกกระบวนการนับตั้งแต่คนไข้มาถึงประตูโรงพยาบาล โดยใช้เวลาน้อยกว่ามาตรฐานโลกซึ่งกำหนดไว้ที่ 1 ชั่วโมง ซึ่งหากต้องทำการลากลิ่มเลือดในสมอง หรือหากต้อง ผ่าตัดสมอง แพทย์จะสามารถมาได้ภายใน 1 ชั่วโมง
“ภายใต้เวลาที่สั้น ผลลัพธ์ย่อมออกมาดี โรงพยาบาลได้ส่งผลลัพธ์ไปเปรียบเทียบกับ Stroke center ทั่วโลกในสถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institutet) โรงเรียนแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดน ซึ่งของเราอยู่ในเกณฑ์ ที่ดีมาก ดีกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ยทั่วโลกแพ้แค่ไม่กี่ประเทศ เช่น ฟินแลนด์ เพราะคนเขาน้อยรถไม่ติด อาหารดี และระบบสาธารณสุขดีคนไม่หนาแน่น ขณะที่ในยุโรป อเมริกา มี โรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่ได้รับมาตรฐานนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนแพทย์”
“สมัยก่อนเราเห็นคนไข้อัมพาตเฉียบพลัน มานอนโรงพยาบาล ระยะยาว เพราะมีโรคแทรกซ้อนเยอะ แต่ตอนนี้ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลสั้นลง บางทีเหลือเพียง3-4 วันก็กลับบ้านได้ ดังนั้น จะเห็นว่าเทคโนโลยี ช่วยให้ผลลัพธ์ทางการรักษาดี ขอให้เราเข้าใจว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความสำคัญ” ดร.นพ.เกริกยศ กล่าว
- หลอดเลือดสมองหายแล้วเป็นซ้ำได้
พญ.นภาศรี ชัยสินอนันต์กุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา และโรคหลอดเลือดสมอง ว.ว.ประสาทวิทยาโรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวถึงหลักของโรคหลอดเลือดสมองว่า วิธีสังเกตง่ายๆ คือ “FAST” ได้แก่ Face ปากเบี้ยว Arms แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก Speech การพูด การใช้ภาษา พูดไม่ออกพูดไม่ชัด คือกลุ่มอาการของหลอดเลือดสมอง และ Time ความรวดเร็วในการมาถึงโรงพยาบาล เพื่อตรวจเพิ่มเติม ยิ่งนานเซลล์สมองก็จะตายมากขึ้น ทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาต แขนขาอ่อนแรงอาจจะเดินไม่ได้ นอนติดเตียง ต้องมีคนคอยช่วยเหลือตลอด ทำอะไรไม่ได้ หรืออาจจะมีความพิการหลงเหลืออยู่
หากคนไข้ เป็นหลอดเลือดสมองตีบสมองขาดเลือด ถ้าคนไข้มาเร็วภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง เราสามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดได้ เพื่อเปิดหลอดเลือดให้ไปเลี้ยงเนื้อสมองได้ปกติ ทำให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติมากยิ่งขึ้น หรือกรณีฉีดยาละลายลิ่มเลือดไปแล้ว จะทำภาพเอกซเรย์ดูหลอดเลือดแดงใหญ่สมองต่อว่ามีการอุดตันหรือไม่ หากมีสามารถทำการรักษาได้โดยการดึงลิ่มเลือดผ่านสายสวนหลอดเลือด เพื่อให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองได้ตามปกติ คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันและเซลล์สมองกลับมาดีได้เพราะฉะนั้น การให้ยาเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น ยาละลายลิ่มเลือดควรให้ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง
พญ.นภาศรี อธิบายต่อไปว่า สำหรับคนที่เคยรักษาไปแล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ดังนั้น ต้องคุมปัจจัยเสี่ยงของคนไข้ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กินยาป้องกันสม่ำเสมอ คอยควบคุมปัจจัยเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ต้องคุมให้อยู่ในระดับที่ดี ไม่เครียด ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้มากเกินไป ดัชนีมวลกายต้องอยู่ในช่วง 24 - 30 เพื่อไม่ให้อ้วน งดบุหรี่ เหล้า
“ถ้าทำครบหมดนี้แล้ว ก็อาจจะป้องกันได้ไม่หมด เพราะยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ อายุ ซึ่งเราไม่สามารถห้ามไม่ให้อายุมากขึ้นได้ แต่ว่าหากเราควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดได้ โอกาสเกิดซ้ำก็จะน้อยลง”
สำหรับคนทั่วไปที่ร่างกายยังปกติ แนะนำให้ควบคุมอาหาร ทานอาหารคลีนได้จะดี งดของทอด ของมัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างที่เคยบอกว่าการออกกำลังกายสามารถรักษาได้ทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ เพราะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง อย่าเครียดเยอะ ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเหล้า ขณะเดียวกัน แม้เทคโนโลยี จะเข้ามามีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“พญ.นภาศรี” กล่าวเพิ่มเติมว่า ญาติมีส่วนในการให้กำลังใจคนไข้ อย่างน้อยคนไข้โรคหลอดเลือดสมองเขาเคยใช้ชีวิตประจำวันได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร พอเขามีอาการอ่อนแรง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขาจะมีภาวะซึมเศร้า และภาวะเครียด ซึ่งญาติผู้ดูแลอาจจะช่วยดูแลซัพพอร์ต เพื่อให้มีกำลังใจในการกายภาพมากขึ้น