'ไทยไลอ้อนแอร์' ชี้แข่งดุฉุดขาดทุน แก้เกมเพิ่มบิน 'อู่ตะเภา' บูมอีอีซี
“ไทยไลอ้อนแอร์” เผยธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำแข่งเดือด สงครามราคา เศรษฐกิจชะลอ บาทแข็ง ฉุดขาดทุนต่อเนื่องหลังทำธุรกิจในไทย 6 ปี เลื่อนเป้าทำกำไรออกไปอีก 3 ปี เผยแผนปีหน้า ขยายเส้นทางบินอู่ตะเภาเพิ่มฐานลูกค้าจีน –อินเดีย บูมอีอีซี
สถานการณ์ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) นับวันจะยิ่งเหนื่อยจากการเกมการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงจากคู่แข่งจำนวนมาก อีกทั้งจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว กระทบต่อจำนวนผู้ใช้บริการ ในไทยยังเผชิญกับภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าในรอบ 6 ปี ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งเบนเข็มจุดหมายไปยังประเทศอื่นที่ค่าเงินอ่อนค่าไทย
สะท้อนผ่านผลการดำเนินงานของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ อย่างไทยแอร์เอเชีย ไตรมาส 3 ปี 2562 ขาดทุน 416 ล้านบาท ขณะที่นกแอร์ขาดทุนอยู่ที่ 633 ล้านบาท หรือแม้แต่สายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทย ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขาดทุน 4,681ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 3,700 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดการแข่งขันที่รุนแรง
นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ของไทยไลอ้อนแอร์ ไม่ต่างจากภาพรวมธุรกิจสายการบิน โดยหลังจากเริ่มให้บริการในไทย เมื่อปลายปี 2556 หรือ6 ปีแล้ว จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถสร้างผลการดำเนินงานตามตามเป้าหมายที่วางไว้ ว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน5ปีของการดำเนินธุรกิจ แต่ปีที่ผ่านมาก็ยังคงขาดทุน จึงปรับเป้าหมายที่จะถึงจุดคุ้มทุนและมีกำไรในอีก3 ปีจากนี้ หรือในปี 2565
นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้จัดการทั่วไปสายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ย้ำว่า ไทยไลอ้อนแอร์ ไม่ได้เป็นสายการบินเดียวที่ประสบปัญหา ขาดทุน เพราะที่ผ่านมาสายการบินต้นทุนต่ำหลายแห่งประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันสูง โดยบริษัทได้มีมาตรการระยะสั้นออกมารองรับด้วยการปรับความถี่ในการบินให้เหมาะสมมากขึ้น แต่ไม่ได้ลดเที่ยวบิน และลดต้นทุนภายในองค์กร
รุกขยายเส้นทางบิน“อู่ตะเภา”
สำหรับแผนธุรกิจในปี2563 จะให้ความสำคัญกับการขยายเส้นทางบินผ่านสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ของไทย ที่มีพื้นที่ถึง 6,500 ไร่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 3 ล้านคน และตั้งอยู่ที่รอยต่อระหว่างจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง และอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งตอบโจทย์การเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน อินเดีย และรัสเซียที่นิยมเดินมาท่องเที่ยวพัทยา
พร้อมกันนั้นจะขยายเส้นทางบินในประเทศไปยังจังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี และจังหวัดตรัง ส่วนสนามบินดอนเมืองขยายเส้นทางบินไปจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนแผนการเปิดเส้นทางบินข้ามทวีป หรือ โลว์คอสต์ ลองฮอลล์ ที่ใช้เวลาบินเกิน 9-10 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อบินไปโซนยุโรป ตะวันออกกลาง นั้นอยู่ระหว่างการดำเนินการ
“ปีหน้าเราจะเพิ่มเครื่องบินแอร์บัส 330 นีโอจำนวน 4ลำจะเริ่มเข้ามาในไตรมาสแรก 2 ลำและไตรมาสสามอีก2 ลำ เพื่อให้บริการลูกค้าจากปัจจุบันที่มีฝูงบิน 35 ลำ อาทิ แอร์บัสเอ 330 จำนวน 3 ลำ โบอิ้ง 737-900 ER จำนวน 19 ลำ โบอิ้ง 737-800 จำนวน 11 ลำ ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX จำนวน 3 ลำ ที่ถูกห้ามบินไปกว่า 4 เดือน ระหว่างรอนำเครื่องบินรุ่นอื่น คือ โบอิ้ง 737-900 มาให้บริการแทน และใน5ปีต่อจากนี้จะทยอยรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 50 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำมาใช้สำหรับสนามบินอู่ตะเภา ”
ประเมินปีหน้าแอร์ไลน์ยังเหนื่อย
นางนันทพร ยังกล่าวว่า สถานการณ์การแข่งขันในตลาดสายการบินปีหน้ายังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากคู่แข่งที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และปัจจัยเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ที่มีผลต่อจำนวนคนเข้ามาใช้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนจีน ถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่นิยมเข้ามาเที่ยวประเทศไทย “ ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น 12% มีผลต่อการตัดสินใจในการเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ในปีที่ผ่านคนจีนส่วนหนึ่งเริ่มหันไปเที่ยวเวียดนามมากขึ้น แทนที่จะมาเที่ยวประเทศไทย”
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทต้องพยายามขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศทั้งในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย และญี่ปุ่นให้เข้ามาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งลูกค้าคนจีนยังเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักเพราะมีจำนวนมากหากสามารถดึงเข้ามาได้จะทำให้เศรษฐกิจประเทศกลับมาคึกคักมากขึ้นคาดว่าในปีหน้าอัตราบรรทุกผู้โดยสาร(Load Factor)ในประเทศ เฉลี่ยจะอยู่ที่ 85% ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสารต่างประเทศเฉลี่ยจะอยู่ที่ 80% ส่วนในปีนี้คาดว่าตลอดทั้งปีนี้อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยในประเทศจะอยู่ที่ 85% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 84% ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสารต่าง
ประเทศเฉลี่ยจะอยู่ที่75% และคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 12 ล้านคน
“ ต้องยอมรับว่าการทำตลาดปีหน้าเหนื่อยและหนักขึ้นจากเดิมทั้งจากสภาพการแข่งขันตลาดและสถานการณ์ที่เศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูง ต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ทันกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ”
“สงครามราคา”ฉุดฐานะ
นอกเหนือจากเกมการแข่งขันในเรื่องของราคา ซึ่งเป็นจุดขายของสายการบินต้นทุนต่ำแล้วต้องยอมรับว่าปัญหาหนึ่งที่ทุกสายการบินกำลังเผชิญเหมือนกันหมดก็คือ “ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น” จากข้อมูลพบว่าราคาน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 20.25 บาทต่อบาร์เรลจากปี 2560 ราคาขายน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 65.52 บาท/บาร์เรล ในปี 2561 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 85.77 บาท/บาร์เรล
ขณะที่ผู้ใช้บริการลดลงจาก 80-100% ต่อเที่ยวบิน เหลือเพียง 70-89% ต่อเที่ยวบิน และการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลดีจากการซื้อน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการดำเนินธุรกิจการบินในราคาถูกลง แต่ยังมีปัจจัยและต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่สร้างปัญหาต่อการดำเนินงานของสายการบินต้นทุนต่ำ จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยจากภาครัฐ ก่อนที่บางสายการบินจะต้องลดขนาดธุรกิจจนถึงหยุดดำเนินกิจการ เพราะไม่อาจแบกรับภาระต้นทุนดำเนินการได้
โดยล่าสุดตัวแทนผู้กลุ่มประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ จำนวน 5 สายการบิน ประกอบด้วย ไทยแอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์, นกแอร์, เวียตเจ็ต, และบางกอกแอร์เวย์เข้ายื่นหนังสือ เพื่อขอให้กระทรวงการคลังช่วยหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าวที่ขณะนี้ประสบปัญหาด้านผลการดำเนินงาน