'ชวน' เตือนทำผิดต้องรับผิดชอบ สั่ง 'ขรก.สภาฯ' ดูกฎหมายขยายเวลาก่อสร้างรัฐสภา
“ประธานสภาฯ” สั่งข้าราชการสภาดูข้อกฎหมาย บ.ชิโน-ไทย ขอขยายเวลาก่อสร้างรัฐสภา เตือนคนดูแลต้องระมัดระวัง หากผิดต้องรับผิดชอบ ยันใช้ห้องประชุมจันทราอ้างเหตุล่าช้าไม่ได้ “วิลาศ” จี้สอบเลขาสภาฯเหตุอ้างเอกสารเท็จ จ่อร้องปปช.-สตง.ถ้าต่อสัญญารอบ 4 แนะค่าปรับ
จากกรณีที่บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ขอขยายเวลาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาเป็นครั้งที่ 4 อีก 382 วัน หลังจะครบการขอขยายเวลาครั้งที่ 3 ในวันที่ 15 ธ.ค.2562
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าต้องไปดูรายละเอียด และต้องไปสอบถามฝ่ายประจำ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้านั้น ได้แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบแล้ว หลังจากที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามา โดยมีการร้องหลายประเด็น ซึ่งการตรวจสอบก็ไม่ได้มีความล่าช้า เนื่องจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ถูกสอบคดีเดียว แต่มีหลายเรื่อง ขณะเดียวกันมีการยื่นคัดค้านตัวกรรมการสอบสวนด้วย ยิ่งทำให้เรื่องยืดเยื้อ
ส่วนกรณีเรียกร้องให้เก็บค่าปรับผู้รับเหมาหลังครบกำหนดการต่อสัญญารอบที่ 3 นั้น ต้องไปถามผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง ส่วนการขอขยายเวลาการก่อสร้างตนไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายประจำ ขณะที่ประธานรัฐสภาไม่ใช่คู่สัญญา เป็นผู้ติดตามความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งได้ศึกษาจากกรณีการใช้งานอาคารสมาชิกวุฒิสภา เพื่อจะได้เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรต้องการอะไรที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหา หรือเกิดปัญหาให้น้อยที่สุด
“ผมคิดว่าเป็นธรรมดาที่ต้องมีปัญหาบ้างเมื่อใช้ของใหม่ แต่ในเรื่องสัญญาการก่อสร้างใครจะถูกหรือผิดอย่างไร ก็ขอให้ไปถามฝ่ายประจำ เราไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะรายละเอียดเป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายสภา”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายผู้รับเหมาอ้างว่ามีการใช้งานห้องประชุมจันทราก่อน ทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง จึงต้องการขอขยายเวลาของสัญญานายชวน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะการใช้ห้องนี้ มีการพูดคุยตกลงกันก่อนแล้ว และตนยังไม่เคยได้ยินข้ออ้างดังกล่าว จึงขอให้ถามฝ่ายกฎหมายของคู่สัญญาว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร
“การก่อสร้างอาคารรัฐสภาก็มีอุปสรรคมาตั้งแต่ต้นอย่างที่เรารู้กันอยู่ ทั้งเริ่มทำสัญญา ขั้นตอนการก่อสร้าง มีความไม่พร้อมหลายอย่าง เรื่องการย้ายโรงเรียน ส่วนการขอขยายเวลาเพิ่มอีก ขอให้ดูข้อเท็จจริง อย่าไปวิจารณ์อะไรโดยใช้กระแสหรือความรู้สึกส่วนตัว ฝ่ายที่ดูแลอยู่ก็ต้องระมัดระวังว่าถ้าไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เขาต้องรับผิดชอบ เรื่องพวกนี้ตรวจสอบกันได้ ผมติดตามตรวจเยี่ยมการก่อสร้างตลอด แต่เรื่องข้อตกลงในสัญญานั้น ฝ่ายกฎหมายดูอยู่ เราไม่มีเวลาไปดูว่าใครผิดถูกตรงไหน ส่วนฝ่ายประจำมีหน้าที่ดูแลการก่อสร้าง” นายชวน กล่าว
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้ต่อสัญญามาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 3 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ธ.ค.2562 และแน่นอนว่าจะต้องมีการต่อสัญญาอีกเป็นครั้งที่ 4 เพราะการก่อสร้างทั้งหมดมีความคืบหน้าไม่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์
โดยตนได้รับข้อมูลจากข้าราชการว่าบริษัทที่ปรึกษาโครงการดังกล่าวจะขอต่อสัญญาขยายเวลาไปอีก 502 วัน แต่ทางรัฐสภาจะให้ต่อเวลาได้แค่ 382 วัน โดยให้สิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.2563 ทั้งนี้บริษัทที่ปรึกษาอ้างว่าระหว่างการก่อสร้าง บริษัทผู้ว่าจ้างใช้สิทธิ์เข้าไปใช้งานในสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จอดรถ ห้องประชุมจันทรา และห้องประชุมกรรมาธิการของวุฒิสภา รวมถึงยังมีปัญหาการส่งมอบพื้นที่บางส่วนที่ยังล่าช้า
“ผมเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะในสัญญาข้อที่ 34 ระบุว่าการเข้าใช้พื้นที่ก่อนไม่ถือว่าเป็นการรับมอบงานตามสัญญา จึงจะนำไปเป็นเหตุในการขอขยายสัญญาไม่ได้ หรือถ้ามีอุปสรรคในการทำงาน ผู้รับเหมาต้องแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบภายใน 15 วัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้แจ้งใดๆต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ” นายวิลาศ กล่าว
นายวิลาศ กล่าวอีกว่า หากสำนักงานเลขาธิการสภาฯจะขยายสัญญาการก่อสร้างต่ออีกเป็นครั้งที่ 4 ตนจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะการขยายเวลาหลายครั้งที่ผ่านมานั้นเป็นไปโดยมิชอบ การอ้างเหตุดังกล่าวถือว่าฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อมีการส่งมอบพื้นที่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วการก่อสร้างควรจะแล้วเสร็จใน 900 วัน ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข และอดีตกรรมการผู้จัดบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เคยยืนยัน
ทั้งนี้ความพยายามจะขยายสัญญาทุกครั้งที่ผ่านมาทำเป็นขบวนการ มีการหารือกันระหว่างผู้ใหญ่ของคู่สัญญา โดยจะมีคนในคณะกรรมการตรวจสอบการจ้างงานของสภาฯ เป็นผู้ประสานงาน กับผู้คุมนโยบายของบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้าง ได้รับผลตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยมีหลักฐานที่เป็นเอกสารราชการทั้งหมด
“ผมเห็นว่าไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ถึงเวลาแล้วที่ควรเริ่มปรับค่าเสียหายแก่บริษัทผู้รับเหมาวันละ 12.28 ล้านบาทได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2562 ไปจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ และสภาฯควรตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ อีกคดี กรณีทำสัญญาขยายสัญญาก่อสร้างโดยอ้างหลักฐานเท็จ และที่ทำมาทั้งหมดไปเอื้อประโยชน์อะไรหรือไม่ และเห็นว่าเป็นโครงการที่เละเทะที่สุด เพราะมีคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างและคณะที่ปรึกษา ควบคุมงานก่อสร้างหลายชุด ทั้งบุคคลภายนอก และข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ และยังได้รับประโยชน์ทางราชการตอบแทน ทั้งเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม และตำแหน่ง” นายวิลาศ กล่าว