เปิดใจบิ๊กหัวเว่ย 'เหริน เจิ้งเฟย' เมินสหรัฐสกัดทางโต
บิ๊กหัวเว่ย “เหริน เจิ้งเฟย” ประกาศกร้าวว่า เลิกสนใจการโจมตีของรัฐบาลสหรัฐของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ไปนานแล้ว
หัวเว่ย เทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่และผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับสองของโลก ประกาศกร้าวว่า บริษัทเลิกสนใจการโจมตีอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐไปนานแล้ว
โดย "เหริน เจิ้งเฟย" ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “หัวเว่ย” ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล โดยย้ำชัดว่าไม่ได้สนใจว่าสหรัฐจะถอนชื่อหัวเว่ยออกจากบัญชีดำหรือไม่ เพราะรายได้ 9 เดือนแรกของหัวเว่ยยังเติบโตสูงขึ้นถึง 24%
“เราไม่คาดหวังว่าสหรัฐจะถอนชื่อหัวเว่ยออกจากบัญชีดำ ให้อเมริกาใส่ชื่อหัวเว่ยในบัญชีดำตลอดไปก็ได้ เพราะเราอยู่ได้สบายๆ อยู่แล้ว” เหริน กล่าวด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน
- รายได้ 9 เดือนแรกยังแข็งแกร่ง
เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หัวเว่ยถูกรวมเข้าไปอยู่ในบัญชี Entity List ของสหรัฐ มีผลบังคับไม่ให้หัวเว่ยทำธุรกิจใดๆ กับบริษัทสัญชาติอเมริกัน นับเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หัวเว่ยมองว่า มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยกับธุรกิจของบริษัท ภายหลังจากการขึ้นบัญชีดำ เหรินเองได้คาดการณ์ไว้ว่าหัวเว่ยอาจต้องสูญเสียรายได้ราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์
แต่การประเมินของเขากลับไม่ถูกต้อง เพราะบริษัทประกาศว่ารายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีเติบโตสูงขึ้นถึง 24% ในเดือน ก.ย.
แอนดี้ เพอร์ดี้ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยของหัวเว่ย เทคโนโลยี สหรัฐเปิดเผยว่า บริษัทซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทอเมริกันไปเป็นมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2561 ซึ่งหากขาดรายได้จากการสั่งซื้อของหัวเว่ย บริษัทสหรัฐจะต้องขาดทุนมหาศาล
แม้ว่าจะโดนแบน แต่ "เหริน" กล่าวย้ำว่า เขาไม่เคยเกลียดสหรัฐ และหัวเว่ยก็จะไม่ปิดประตูใส่ประเทศใดๆ เพื่อประโยชน์ด้านความก้าวหน้าและการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็วของโลก
ซีอีโอของหัวเว่ยกล่าวย้ำมาโดยตลอดว่าตัวเขายึดถือหลัก "ความร่วมมือที่เปิดกว้าง เพื่อความสำเร็จร่วมกัน" และต้องการที่จะทำงานกับทุกประเทศทั่วโลก หวังขับเคลื่อนการพัฒนาโลกยุคดิจิทัล
เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เหรินได้ประกาศขายเทคโนโลยี 5จี ของหัวเว่ย รวมถึงองค์ความรู้และลิขสิทธิ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้แก่บริษัทสหรัฐ ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้เขาย้ำว่าข้อเสนอของเขานั้นเป็นเรื่องจริง และยังเปิดรับอยู่ แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่มีบริษัทใดติดต่อเข้ามา
เมื่อนักข่าวถามเรื่องข้อกล่าวหาที่ปราศจากหลักฐานของสหรัฐ ที่ว่า หัวเว่ยอาจต้องปฏิบัติตามกฎหมายในการส่งข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าให้แก่รัฐบาลจีน หากมีการร้องขอ เหรินกำชับว่า เขาและพนักงานเกือบ 2 แสนคนทั่วโลกจะปฏิเสธคำร้องขอนั้น พร้อมยืนยันว่า บริษัทมีมาตรการที่เข้มงวดต่อการทำผิดกฎระเบียบของพนักงาน และบุคคลใดก็ตามที่ทำความผิด จะได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง
- ย้ำผู้นำนวัตกรรมโลก
เหริน รวมถึงผู้บริหารระดับสูงทุกคนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาลสหรัฐ เรื่องการสอดแนมมาหลายต่อหลายครั้งว่ามันไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงการโจมตีโดยมีเหตุจูงใจทางการเมืองของสหรัฐ ซึ่งหวังทำลายการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5จีของหัวเว่ย
ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัทก็ยังนำโด่งในฐานะผู้ให้บริการโซลูชั่น 5จีที่ครบวงจรและทันสมัยที่สุด และได้คว้าสัญญา 5จีเชิงพาณิชย์ไปแล้วกว่า 50 ฉบับทั่วโลก
หัวเว่ยจะไม่มีวันหยุดพัฒนานวัตกรรมด้าน 5จี เอไอ และโมบายเทคโนโลยี โดยถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) มากที่สุดในโลก ในอีก 5 ปีข้างหน้าหัวเว่ยมีแผนที่จะทุ่มงบถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมและอาร์แอนด์ดีทั่วโลก
- ย้ายศูนย์วิจัยจากสหรัฐไปแคนาดา
สัปดาห์ก่อน เหรินเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะโกลบ และเดอะเมล ที่สำนักงานใหญ่ในเมืองเสิ่นเจิ้นว่า บริษัทมีแผนย้ายศูนย์วิจัยโทรคมนาคมจากสหรัฐไปที่แคนาดา และสร้างโรงงานใหม่หลายแห่งในยุโรป เพื่อผลิตอุปกรณ์ 5จี
การย้ายฐานของหัวเว่ยเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลวอชิงตันกดดันพันธมิตรของตนอย่างหนักเพื่อกีดกันหัวเว่ยไม่ให้ทำเครือข่าย 5จี โดยเตือนว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจใช้ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมรายนี้สอดแนมหรือแฮกข้อมูล ขณะที่แคนาดากำลังทบทวนเรื่องเทคโนโลยี 5จี แต่ยังไม่ประกาศผลการตัดสินใจ
กรณีนี้เหรินกล่าวว่า ปีนี้หัวเว่ยว่าจ้างพนักงานในแคนาดาเพิ่มอีก 300 คน รวมแล้วมีพนักงาน 1,200 คน
"ผู้อำนวยการดูแลแผนธุรกิจในสหรัฐ จริงๆ แล้วทำงานที่ออตตาวา" ซีอีโอหัวเว่ย กล่าว
ส่วน "ฟิวเจอร์เว่ย" บริษัทวิจัยของหัวเว่ยในสหรัฐต้องลดคนงานไปแล้ว 600 คน เหลือราว 250 คน เนื่องจากกฎระเบียบของสหรัฐขัดขวางการทำงานร่วมกับบริษัทแม่
"แม้แต่จะโทรศัพท์หรือส่งอีเมลหากันก็ทำไม่ได้ เราเลยต้องหันไปมุ่งเน้นพัฒนาในแคนาดามากขึ้น"
หัวเว่ยเลิกใช้เทคโนโลยีสหรัฐในอุปกรณ์ 5จีที่วางขายทั่วโลก ซึ่งเหรินหวังว่าภายในสิ้นปี 2563 สินค้าเพื่อผู้อุปโภคทั้งหมดของบริษัทจะไม่ใช้ชิ้นส่วนของสหรัฐ
ส่วนในยุโรป เหรินเผยว่า หัวเว่ยมีแผนตั้งโรงงานหลายแห่งที่นั่น แม้การผลิตอุปกรณ์ 5จีนอกประเทศจีน "อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเล็กน้อย แต่เราอาจได้ความไว้เนื้อเชื่อใจในยุโรปมากขึ้น"
อย่างไรก็ตาม แผนสร้างโรงงานในสหภาพยุโรปยังต้องศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป
จะว่าไปแล้วหัวเว่ยตกอยู่ใจกลางความร้าวฉานระหว่างแคนาดากับจีนนับตั้งแต่ เมิ่ง หว่านโจว ประธานคณะเจ้าหน้าที่การเงิน (ซีเอฟโอ) ธิดาของเหริน ถูกจับกุมขณะแวะที่เมืองแวนคูเวอร์ ตามหมายจับของสหรัฐที่กล่าวหาว่าเธอละเมิดมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่ออิหร่าน
รัฐบาลปักกิ่งจึงตอบโต้ด้วยการจับกุมชาวแคนาดา 2 คน ด้วยข้อกล่าวหาสายลับ และสกัดการส่งสินค้าเกษตรแคนาดามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
แต่ผู้บริหารหัวเว่ยแตกต่างกับปักกิ่งตรงที่เขากล่าวโทษสหรัฐ มองว่าเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นการแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจรายนี้
“ผมคิดว่าแคนาดาควรขอให้ประธานาธิบดีทรัมป์ชดใช้ความเสียหาย” เขากล่าว