ไทยให้วัคซีนหัด หัดเยอรมันและคางทูมเข็มที่ 2ครอบคลุมต่ำกว่าเป้า
องค์การอนามัยโลกเผยไทยให้วัคซีนหัด หัดเยอรมันและคางทูมในเข็มที่ 2 ครอบคลุมต่ำกว่าเป้า กลุ่มเด็ก 3จชต.-คนไร้สัญชาติ-ประชากรต่างด้าวเข้าไม่ถึงวัคซีนพื้นฐาน จี้รัฐเร่งปรับระบบคลังวัคซีน ลดความเสี่ยงโรคระบาดกระทบความมั่นคงสุขภาพ-เศรษฐกิจไทย
วันนี้(11 ธ.ค.) ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ดร.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า วัคซีนคือเครื่องมือทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและคุ้มทุนในการป้องกันโรค หากมีการจัดระบบการให้บริการที่ครอบคลุมให้มากที่สุดหรืออย่างน้อย90- 95% สำหรับประเทศไทยได้จัดบริการให้เด็กไทยทุกคนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 10 ชนิดภายใต้แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน จากการสำรวจความครอบคลุมของวัคซีนพื้นฐานในกลุ่มเด็กไทยล่าสุดในปี พ.ศ. 2561 พบว่า วัคซีนพื้นฐานส่วนใหญ่มีความครอบคลุมมากกว่า 95 %
ยกเว้นความคลอบคลุมวัคซีนหัด หัดเยอรมันและคางทูมในเข็มที่ 2 ที่ควรได้รับเมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง มีความครอบคลุมเพียง 86 % ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้คือ 95 % อีกทั้ง ภายใต้บริบทของประเทศไทย กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเข้าถึงวัคซีนพื้นฐานยาก นอกเหนือจากกลุ่มเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมีกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และประชากรต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังขาดหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุม
องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) จึงร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงานสุขภาพประชากรต่างด้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก สนับสนุนทุนวิจัยในการศึกษาทบทวนระบบบริการการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลจากงานวิจัยเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนานโยบายการจัดการในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประชากรต่างด้าว ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ประเทศไทยมีคลังวัคซีนเดียวจากงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระบุให้ใช้วัคซีนนี้ในเด็กไทยเท่านั้น ส่งผลให้พบปัญหาในการเบิกวัคซีนจนกระทั่งเกิดการระบาดของหัดและคอตีบในพื้นที่ที่มีประชากรต่างด้าวอยู่หนาแน่น
ข้อเสนอทางเลือกในการบรรลุเป้าหมายวัคซีนพื้นฐานเพื่อเด็กทุกคน ได้แก่ การปรับแนวคิดในด้านการป้องกันควบคุมโรคเพื่อให้คลังวัคซีนที่มีอยู่ใช้ในเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยได้ โดยให้กรมควบคุมโรคบริหารจัดการวัคซีนในเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยทั้งหมด พร้อมหาแนวทางปรับแก้โดยให้กองทุนที่มีเงินอยู่แล้ว อาทิ กองทุนประกันสุขภาพของผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ และกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าว สามารถนำมาสมทบเพื่อใช้จัดหาวัคซีนได้ สำหรับวัคซีนในผู้ใหญ่มีเป้าหมายให้เข้าถึงแรงงานต่างด้าวให้มากขึ้นเพื่อการกวาดล้างหัด โดยการฉีดวัคซีนหัดที่บูรณาการกับระบบต่างๆ เช่น ในช่วงตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว กำหนดให้เป็นสิทธิประกันสังคม สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมทั้งการรณรงค์เชิงรุกเพื่อเข้าถึงกลุ่มที่ไม่มีประกันสุขภาพและไม่มีเอกสารประจำตัว
ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า กลุ่มคนต่างด้าวเป็นกลุ่ม นอกจากจะมีคุณประโยชน์ในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว ยังมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจับจ่ายใช้สอยและบริโภคสินค้าในประเทศไทยทุกวัน โดยคาดประมาณว่า หากประชากรต่างด้าว 4 ล้านคน ต่อคนใช้เงิน 50 บาทต่อวัน จะมีเงินเข้าสู่งบประมาณแผ่นดินรวม 5 พันล้านบาทต่อปี อีกทั้ง การสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจของประเทศที่ยังต้องพึ่งพิงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจึงควรครอบคลุมกลุ่มคนต่างด้าวด้วยเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย