‘เลือกตั้งอังกฤษ’ ฝ่ามรสุมเบร็กซิท

‘เลือกตั้งอังกฤษ’ ฝ่ามรสุมเบร็กซิท

ชาวอังกฤษได้ใช้สิทธิเลือกตั้งกันอีกครั้งในวันนี้(12 ธ.ค.) เพื่อหาทางออกให้กับประเทศที่ติดอยู่กับวังวนเรื่องเบร็กซิทมานาน นับตั้งแต่ลงประชามติเมื่อปี 2559

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า วานนี้ (11 ธ.ค.) บรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองอังกฤษเร่งหาเสียงเป็นวันสุดท้าย นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน จากพรรคอนุรักษนิยม และเจเรมี คอร์บิน จากพรรคแรงงาน ฝ่ายค้านใหญ่ ลงพื้นที่สำคัญ

นายกฯจอห์นสัน ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างรวดเร็ว เพื่อผ่าทางตันเบร็กซิทที่สร้างความปวดหัวให้กับอังกฤษ นับตั้งแต่ผลประชามติปี 2559 ออกมาว่าให้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)

รัฐบาลของจอห์นสันเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เขาจึงหวังว่าการเลือกตั้งจะช่วยให้ได้เสียงข้างมาก จนนำพาอังกฤษออกจากอียูได้ในวันที่ 31 ม.ค.

อ่านข่าว-รับแนวโน้มอนุรักษ์นิยมชนะเลือกตั้งอังกฤษ 

157611079415

หากพิจารณาจากผลการสำรวจความคิดเห็น พรรคอนุรักษนิยมแนวกลางขวามีคะแนนนำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลสำรวจสุดท้ายของยูกัฟจากกลุ่มตัวอย่างราว 1 แสนคนในช่วง 7 วันที่ผ่านมา คาดว่า การแข่งขันสูสีมาก พรรคอนุรักษนิยมได้เสียงข้างมากแบบเฉียดฉิว ชนะมาเพียง 28 ที่นั่งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 650 คน ลดลงจากผลยูกัฟโพลเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่คาดว่าพรรคจะได้เสียงข้างมากแบบสบายๆ ชนะ 68 ที่นั่ง

ผลคาดการณ์เป็นรายพรรค อนุรักษนิยมได้ ส.ส. 339 คน (เพิ่มขึ้น 22 คนจากการเลือกตั้งปี 2560) ส่วนแรงงาน พรรคฝ่ายค้านใหญ่ ได้ 231 คน (ลดลง 31 คน) พรรคชาตินิยมสก็อต (เอสเอ็นพี) 41 คน (เพิ่มขึ้น 6 คน) ขณะที่พรรคเสรีประชาธิปไตยได้ ส.ส. 15 คน (เพิ่มขึ้น 3 คน)

ยูกัฟเตือนด้วยว่า จำนวนสุดท้ายของพรรคอนุรักษนิยมอยู่ระหว่าง 311 คน(เกิดสภาแขวน) และ 367 คน

“ชัยชนะเฉียดฉิวมาก เฉือนกันด้วยจำนวนไม่กี่ที่นั่ง ซึ่งอาจเป็นผลจากการโหวตเชิงยุทธศาสตร์ และกระแสของพรรคแรงงานที่ล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าเราไม่อาจตัดโอกาสการเกิดสภาแขวนได้เลย” คริส เคอร์ติส ผู้จัดการวิจัยการเมืองยูกัฟกล่าว

สำหรับบรรยากาศหาเสียงวันสุดท้าย จอห์นสัน วัย 55 ปี เริ่มต้นด้วยการส่งนมที่ยอร์กเชียร์ ทางภาคเหนือของอังกฤษ แล้วปิดท้ายที่เอสเซกส์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน

“ถ้าเราไม่ออกจากทรายดูดในการโต้เถียงกันเรื่องเบร็กซิท อนาคตของเราในฐานะประเทศยังคงไม่แน่นอน เป็นทศวรรษที่สูญหายมีแต่การแตกแยก ล่าช้า และทางตัน มาทำเบร็กซิทให้สมบูรณ์เถอะ เดินหน้าด้วยการขยายโอกาสและความหวังไปทั่วสหราชอาณาจักร มาช่วยกันปลดปล่อยศักยภาพของประเทศนี้” จอห์นสันย้ำจุดยืนเรื่องการผลักดันเบร็กซิทให้สำเร็จและเพื่อให้ภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เขาขับรถขุดดินตกแต่งด้วยธีมธงชาติอังกฤษเขียนข้อความ “ทำเบร็กซิทให้สำเร็จ” พุ่งชนกำแพงโฟมเขียนข้อความ “ทางตัน” เพื่อส่งสารในเชิงสัญลักษณ์

157611081838

ด้านเจเรมี คอร์บิน วัย 70 ปี หาเสียงที่มิดเดิลส์โบร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ เรียกการเลือกตั้งวันนี้ว่าสำคัญที่สุดในชั่วอายุคน

“สิ่งที่ผมอยากบอกกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจทุกคนคือ คุณสามารถโหวตเพื่อความหวัง เราจะเอาเงินใส่กระเป๋าคุณ เพราะคุณสมควรได้รับมัน พวกคนรวยและธุรกิจใหญ่จะเป็นคนจ่ายเงินก้อนนี้”

นักสังคมนิยมรายนี้มีแผนทุ่มงบประมาณทำโครงการบริการสาธารณะขนานใหญ่ และโอนกิจการเอกชน เช่น ไปรษณีย์ พลังงาน รถไฟ มาเป็นของรัฐ จัดลงประชามติเรื่องเบร็กซิทอีกครั้ง ด้วยเนื้อหาที่มีทางเลือกมากกว่า ไม่ต่อต้านการอยู่ในอียูเหมือนของจอห์นสัน

157611084083
- เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานของอังกฤษ -

โจ สวินสัน ผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตยที่มีนโยบายต่อต้านเบร็กซิท ไปหาเสียงแถบตะวันตกเฉียงใต้ชานกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคอนุรักษนิยม รวมถึงเขตเลือกตั้งของโดมินิก ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ยูกัฟโพลพบว่า แข่งขันกันแบบเฉียดฉิว

“ถ้าจะหยุดยั้งเบร็กซิท เราต้องหยุดบอริส จอห์นสัน เรามีเวลาเหลือเพียงวันเดียวที่จะทำเช่นนั้น” หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยกล่าว

นิโคลา สเตอร์เจียน หัวหน้าพรรคเอสเอ็นพี นายกรัฐมนตรีสก็อตแลนด์ ทำจดหมายเปิดผนึกเรียกจอห์นสันว่า “เป็นอันตรายต่อสก็อตแลนด์มากที่สุด ยิ่งกว่านายกฯ พรรคอนุรักษนิยมคนอื่นใดในยุคใหม่”

ตัวเธอนั้นต้องการให้ลงประชามติว่าด้วยเอกราชสก็อตแลนด์อีกครั้งหนึ่ง จึงต้องเลือกสนับสนุนพรรคแรงงานหากเกิดสภาแขวนตั้งรัฐบาลไม่ได้

ที่ไอร์แลนด์เหนือ ที่เลือก ส.ส.ได้ 18 คน 5 พรรคการเมืองใหญ่อภิปรายทางโทรทัศน์เมื่อคืนวันอังคาร (10 ธ.ค.) ปะทะคารมเดือดเรื่องเบร็กซิท โดยประเด็นชายแดนไอร์แลนด์ถือเป็นประเด็นยากที่สุดในการเจรจาข้อตกลงเบร็กซิท การเลือกตั้งครั้งก่อนพรรคสหภาพประชาธิปไตยของไอร์แลนด์เหนือมีบทบาทสำคัญ มาช่วยหนุนพรรคอนุรักษนิยมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้

การหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้นอกจากเน้นเรื่องเบร็กซิทแล้ว ยังทำให้โลกของคนมั่งคั่งสุดๆ ที่เคยปกปิดถูกสังคมจับตามอง เพราะพรรคแรงงานโจมตีการหลบเลี่ยงและหนีภาษีเสมอมา

หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทม์สเคยรายงานในเดือน พ.ค.ว่า อังกฤษมีมหาเศรษฐี 151 คน บุคคลและครอบครัวมั่งคั่งที่สุด 1,000 ราย สินทรัพย์รวมกันมูลค่า 7.7 แสนล้านปอนด์ คนเหล่านี้มาจากทั่วโลก รวมทั้งรัสเซียและเอเชีย พี่น้องตระกูลศรีจันทร์ ฮินดูจา และโกปิจันด์ ซึ่งถือกำเนิดในอินเดียร่ำรวยท่ี่สุด 2.2 หมื่นล้านปอนด์ อลิเชอร์ อุสมานอฟ นักธุรกิจรัสเซียอยู่ในอันดับ 8 ตามด้วยโรมัน อัมบราโมวิช จากรัสเซียเช่นกัน

ที่เป็นเช่นนี้เพราะอังกฤษติดกับดักระบบภาษีของตนเอง โดยเฉพาะสถานะผู้ไม่มีภูมิลำเนาในอังกฤษ (นอน-ดอม) ที่เปิดให้ผู้มีถิ่นพำนักในอังกฤษบางคนเป็นผู้มีภูมิลำเนาในต่างแดน จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากรายได้ที่ได้จากนอกอังกฤษ

ข้อมูลจากสำนักงานสรรพากรและศุลกากรชี้ว่า ระหว่างปี 2560-2561 ผู้มีสถานะนอน-ดอมมีจำนวน 78,300 คน จ่ายภาษีเข้าคลังไม่ถึง 2 พันล้านปอนด์

แม้การลงประชามติเมื่อปี 2559 ได้ผลว่าอังกฤษต้องออกจากอียู แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะออกไปจริงๆ วันใดกันแน่ กระนั้นอังกฤษก็ยังเป็นเป้าหมายปลายทางที่อภิมหาเศรษฐีโปรดปราน