เปิดโผ 'ทุนยักษ์' จ้องฮุบ 'เทสโก้'
ส่องดีลยักษ์เฉียด 3 แสนล้าน ซื้อเทสโก้โลตัส 2 พันสาขาในไทย วงในเผย 3 บิ๊กคอร์ป “บีเจซี -เซ็นทรัล-ซีพี” สนซื้อ ระบุบีเจซีของเจ้าสัวเจริญ ตั้งที่ปรึกษาการเงินดูดีล ด้านเจ้าสัวซีพีเคยเอ่ยปากสนใจ นักวิเคราะห์ค้าปลีกชี้เซ็นทรัลมาแรง
จากแถลงการณ์กลุ่มเทสโก้ (Tesco PLC) ระบุว่า ตามที่มีผู้สนใจในธุรกิจของ เทสโก้ในเอเชีย กลุ่มเทสโก้ จึงได้เริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ของกลยุทธ์รูปแบบต่างๆ สําหรับธุรกิจในประเทศไทยและมาเลเซีย (โดยธุรกิจในไทยที่มีศักยภาพตลาดใหญ่ที่สุดนอกอังกฤษ) รวมถึงการพิจารณาความเป็นไปได้ในการขายธุรกิจทั้ง 2 แห่งนี้
อย่างไรก็ตาม การศึกษาความเป็นไปได้ของกลยุทธ์รูปแบบต่างๆ ยังอยู่ในระยะเบื้องต้น และยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ สําหรับอนาคตของธุรกิจของเทสโก้ในประเทศไทยและมาเลเซีย รวมทั้งไม่มีการยืนยันว่าจะมีการซื้อขายเกิดขึ้นในที่สุด ทั้งนี้จะมีการประกาศข้อมูลเพิ่มเติมให้ทราบเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
ทั้งนี้หากมีการทำข้อตกลงซื้อขายกิจการจริง ถือเป็นการถอนตัวออกจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้าย นอกเหนือจากภูมิภาคยุโรปของเทสโก้ หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ขายกิจการทั้งในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกี และสหรัฐ ไปแล้ว
สำหรับกิจการเทสโก้ โลตัส ในไทย บริหารงานโดยบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด โดยมีเทสโก้ อังกฤษ ถือหุ้นใหญ่ เทสโก้ฯ ในไทยยังถือว่ามีศักยภาพการตลาดใหญ่ที่สุดนอกประเทศอังกฤษ จากจำนวนสาขาทั้งหมด 2,100 สาขา (มากที่สุดเมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทเดียวกันในไทย) แม้สัดส่วนรายได้และกำไรสุทธิในไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจะชะลอตัวลง
โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ในปี 2562 เทสโก้ฯในไทยมีรายได้รวม 1.89 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,800 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีรายได้อยู่ที่ 1.98 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิ 9,600 ล้านบาท
จากศักยภาพตลาดในไทย ทำให้มีการประเมินกันว่า "ทุนใหญ่" รายใด คือหนึ่งในผู้ขอซื้อกิจการเทสโก้ฯในไทยตามแถลงการณ์ดังกล่าว หรืออภิมหาเศรษฐีไทยรายใด ที่มีศักยภาพที่จะซื้อกิจการนี้ไปครอง เป็นธุรกิจปลายน้ำ (ร้านค้าปลีก) ที่จะมา "ต่อยอด" อาณาจักรธุรกิจหลายแสนล้าน ทั้งนี้แหล่งข่าววงในยังประเมินมูลค่าของการซื้อขายครั้งนี้ว่า หากเกิดขึ้นจริงน่าจะสูงกว่า 5,000 ล้านปอนด์ (มากกว่า 2 แสนล้านบาท) ขณะที่ดาวโจนส์ รายงานว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 6,900 ล้านปอนด์ (2.76 แสนล้านบาท) หรือราว 9,000 ล้านดอลลาร์ (2.7 แสนล้านบาท)
- "3 บิ๊กคอร์ปไทย" จ่อชิงดำ
แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ กล่าวว่า กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่มีศักยภาพในการปิดดีลมูลค่าระดับแสนล้านบาท อาจมีจำนวนมาก ทั้งกลุ่มซีพี (เครือเจริญโภคภัณฑ์) ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ทีซีซีกรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของบิ๊กซี ภายใต้กลุ่มธุรกิจบีเจซี (บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์) กลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ รวมทั้งทุนค้าปลีกต่างชาติ ที่สนใจขยายการลงทุนในไทยและภูมิภาคอาเซียน
โดยในส่วนของซีพี. อาณาจักรธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ชื่อติดโผมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปี 2557 มีกระแสข่าวว่าเทสโก้จะขายกิจการในไทย ในครั้งนั้น นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการในขณะนั้น ได้เปิดแถลงข่าว โดยระบุว่ายังไม่เคยพูดคุยเจรจาเรื่องการซื้อขาย แต่ยอมรับว่า "สนใจ" เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ขัดกัน อยู่ในวงการค้าปลีกเช่นกัน
"ถ้าเขาจะขายผมก็สนใจจะซื้อ ถ้าไม่ขัดกัน ถ้าขัดกันผมจะซื้อทำไม เพราะเราอยู่ในวงการค้าปลีก ถ้าเอื้อประโยชน์กัน ทำให้ของมันถูกลง ถ้าผมซื้อของถูกลง ลูกค้าผมก็ได้ประโชยน์" นายธนินท์ กล่าวในขณะนั้น
ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกของซีพี. ในขณะนี้ ประกอบด้วย ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุดในไทยกว่าหมื่นสาขา และยังมีร้านค้าส่ง "แม็คโคร" หากได้เทสโก้ฯมาอยู่ในมือก็จะเติมเต็มธุรกิจให้ครบวงจรมากขึ้นในการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภค แต่อาจกลายเป็นประเด็นทางสังคม เรื่องการ "ผูกขาดตลาดค้าปลีก" อีกทั้งในขณะนี้ซีพี เพิ่งคว้าการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า 2 แสนล้านบาท จึงต้องคิดหนักหากจะซื้อเทสโก้ฯในไทยที่ประเมินว่าจะมีมูลค่าดีลสูงกว่า 2 แสนล้านบาท
- "บีเจซี" ตั้งที่ปรึกษาการเงินดูดีล
แหล่งข่าวรายเดิมยังวิเคราะห์ว่า ขณะที่ยักษ์ทุนไทยอีกรายที่แสดงความสนใจดีลนี้ คือ เจ้าของ "บิ๊กซี" ในไทย (ถือหุ้น 97%) คู่แข่งของเทสโก้ฯในไทย จากจำนวนสาขาเป็นอันดับ 2 (สิ้นปีนี้บิ๊กซีคาดว่าจะมีสาขารวม 1,379 สาขา) ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ร่มเงาธุรกิจของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในนามของบริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี
โดยความสนใจซื้อเทสโก้ฯในไทย ถึงขั้นมีการจัดตั้งที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อพิจารณาดีลนี้โดยเฉพาะ แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว จึงถือเป็นอีกหนึ่งยักษ์ธุรกิจที่น่าจับตาการเดินเกมซื้อเทสโก้ฯในไทย อย่างไรก็ตามบีเจซีอาจมีข้อจำกัดทางการเงินจากการแบกหนี้กว่า 2 แสนล้านบาท จากการเข้าซื้อกิจการบิ๊กซี เมื่อปี 2559
- นักวิเคราะห์ค้าปลีกชี้เซ็นทรัลแรง
ด้านนักวิเคราะห์ในธุรกิจค้าปลีก ระบุว่า หากพิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์การลงทุนจากสินทรัพย์ดังกล่าว กลุ่มเซ็นทรัลน่าจะมีความพร้อมมากที่สุดทั้งด้านทุน โนว์ฮาว และโมเดลธุรกิจที่สามารถเลือกใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เหล่านี้ได้อย่างมีศักยภาพ
"อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้เซ็นทรัล โดยซีพีเอ็น หรือบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเครือข่ายศูนย์การค้าเซ็นทรัล มีการผนึกความร่วมมืออย่างหลวมๆ กับเทสโก้ฯจัดตั้งบริษัทร่วมทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนแนวทางและโอกาสในการขยายธุรกิจผ่านเทสโก้ โลตัส ได้เป็นอย่างดี"
- จับตา "ซินเนอร์จิสติกพร็อพเพอร์ตี้ฯ"
ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 จากการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนในชื่อ บริษัท ซินเนอร์จิสติก พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ถือหุ้นสัดส่วนเท่ากันที่ 50% โดยมีทุนจดทะเบียน 1 แสนบาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญ 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท
โดย ซีพีเอ็น ระบุว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะนำจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัทมาผนึกกำลังสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อพัฒนาธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างดีที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนารูปแบบธุรกิจ
สำหรับ ซีพีเอ็น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล ปัจจุบันมีเครือข่ายธุรกิจศูนย์การค้า 34 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้ 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์ ที่เป็นแฟลกชิพสโตร์และแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ เซ็นทรัล เฟสติวัล วางยุทธศาสตร์เปิดบริการในทำเลเมืองท่องเที่ยว และ เซ็นทรัล พลาซา ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใจกลางเมือง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาและลงทุนธุรกิจอาคารสำนักงาน และคอนโดนิเนียม
- "ซีพี-บีเจซี" แบกหนี้แม็คโคร-บิ๊กซี
นักวิเคราะห์ค้าปลีกยังระบุว่า แม้ดีลใหญ่นี้จะพุ่งเป้านักลงทุนที่สนใจไปที่กลุ่มซีพี เจ้าของกิจการ "โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ไ แต่เดิมก่อนเติมชื่อ เทสโก้ นำหน้า ซึ่งจำเป็นต้องขายหุ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยเจ้าสัวธนินท์ เคยระบุว่า พร้อมจะซื้อคืนเทสโก้ฯหากขายกิจการ เช่นเดียวกับศูนย์ค้าส่งแม็คโครที่กลับสู่อ้อมอกซีพี ซึ่งใช้เม็ดเงินลงทุนสูงระดับแสนล้านบาทเช่นเดียวกันและยังเป็นภาระหนี้อยู่ในขณะนี้
ไม่ต่างจาก "บีเจซี" ที่มีนโยบายและพร้อมซื้อกิจการที่มีศักยภาพ หากต้องการเพิ่ม Economies of Scale ให้กับ "บิ๊กซีไ โดยเทสโก้ โลตัส อาจเป็นคำตอบ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบิ๊กซี ประกาศด้วยว่า สนใจจะลงทุนธุรกิจศูนย์การค้า หรือช้อปปิงมอลล์ ที่จะมีความชัดเจนในปีหน้า ในขณะที่ทำเลและพื้นที่หายาก นักวิเคราะห์มองว่า ดีลเทสโก้ฯเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
- "ซีอีโอ ปตท."ลั่นไม่สนซื้อเทสโก้
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ไม่สนร่วมประมูลซื้อกิจการ "เทสโกฯ" เพราะเป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ และ ปตท.ไม่ถนัดที่จะไปบริหารจัดการ ซึ่งก่อนหน้านี้ ปตท.เคยสนใจเข้าซื้อห้างค้าปลีก "คาร์ฟูร์" เมื่อปี 2553 นั้น สถานการณ์ธุรกิจขณะนั้นแตกต่างจากปัจจุบัน
ดังนั้น ขณะนี้ ปตท.ขอโฟกัสขยายการลงทุนในธุริกจที่มีอยู่และบริหารจัดการให้ดีที่สุดก่อน รวมถึงจะเน้นการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจเพื่อนำบริษัท น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ เป็นบริษัทเรือธงของกลุ่ม ปตท. ด้านการดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกในประเทศและต่างประเทศ ให้ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ตามแผน โดยคาดว่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ช่วงครึ่งแรกของปี 2563