“อรรถพล-วิรัตน์” ชิงซีอีโอ ปตท.
คณะกรรมการสรรหาฯ ชงบอร์ด ปตท.19 ธ.ค.นี้ เลือก“ซีอีโอ” ปตท.คนใหม่ หลังโชว์วิสัยทัศน์ ชี้ขาดนำองค์กรดิสรัป คาด “อรรถพล-วิรัตน์” มีลุ้น คุณสมบัติครบ “สนธิรัตน์”ยืนยันไม่แทรกแซงสรรหา
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะครบวาระการทำงานในวันที่ 12 พ.ค.2563 และเปิดให้มีการสรรหาซีอีโอคนใหม่ ซึ่งคณะกรรมการสรรหากำหนดให้ผู้สมัคร 6 คน แสดงวิสัยทัศน์ วานนี้ (13 ธ.ค.) เพื่อหาผู้มาเป็นซีอีโอ ปตท.คนที่ 10
แหล่งข่าวบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คณะกรรมการ ปตท.ที่มีนายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นประธาน ได้กำชับคณะกรรมการสรรหาซีอีโอ ปตท.ให้เร่งคัดเลือกผู้สมัครชิงซีอีโอให้เสร็จโดยเร็ว และเสนอรายชื่อผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุดให้คณะกรรมการ ปตท.พิจารณาในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ซึ่งต้องการให้เกิดความชัดเจนสำหรับตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นซีอีโอต่อจากนายชาญศิลป์ เนื่องจากต้องการให้มีเวลาเรียนรู้งานและสานต่องานบริหารได้โดยไม่สะดุด
ดังนั้น วานนี้ (13 ธ.ค.) คณะกรรมการสรรหาซีอีโอ ที่มีนายดอน วสันตพฤกษ์ เป็นประธาน ได้เชิญผู้สมัครทั้ง 6 คน มาแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อเริ่มทำการคัดเลือกและลงคะแนนให้ผู้สมัคร เพื่อให้ทันการเสนอคณะกรรมการ ปตท.วันที่ 19 ธ.ค.นี้
แหล่งข่าว กล่าวว่า การแสดงวิสัยทัศน์ได้ให้ผู้สมัครแต่ละคนนำเสนอแผนงานที่จะขับเคลื่อน ปตท. ซึ่งกรรมการสรรหาได้ซักถามหลังแสดงวิสัยทัศน์เป็นรายบุคคล โดยผู้สมัครแต่ละคนเป็นผู้บริหารในกลุ่ม ปตท.และเคยมาชี้แจงการทำงานต่อคณะกรรมการ ปตท.จึงเตรียมข้อมูลมาค่อนข้างดี
ในขณะที่การให้คะแนนของคณะกรรมการสรรหาให้น้ำหนักกับการการขับเคลื่อนองค์กร ปตท.ในอนาคตที่เผชิญต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Disruptive technology) ที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจน้ำมัน โรงกลั่น และปิโตรเคมี ที่เป็นฐานธุรกิจสำคัญต่อการเติบโตของ ปตท.ในอดีต
รวมถึงซีอีโอจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ สามารถประสานงานเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนได้ เช่น ภาคการเมือง และต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งนับเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของผู้นำ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ นำพาองค์กรไปสู่ความก้าวหน้า และต้องดูแลผลประโยชน์ของประเทศ ตลอดจนผู้ถือหุ้น ปตท.ด้วย
ทั้งนี้ สำหรับผู้สมัครทั้ง 6 คน หากจะวัดกำลังความรู้ความสามารถไม่ทิ้งห่างกันมากนัก เพราะเป็นผู้บริหารในเครือ ปตท.ที่มีผลงานอยู่แล้ว และที่สำคัญพนักงาน ปตท.ให้การยอมรับ โดยเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วมีผู้สมัครที่มีผลงานเด่น 3 คน คือ
เปิดโปรไฟล์ “วิรัตน์”
1.นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่มีฝีมือการบริหารในกลุ่ม ปตท.มากว่า 14 ปีแล้ว ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ เคยผ่านตำแหน่งที่สำคัญตั้งแต่ซีเอฟโอไทยออยล์ แล้วขยับไปเป็นซีอีโอโรงกลั่นน้ำมันระยอง ก่อนมาเป็นซีเอฟโอไออาร์พีซี และ ปตท.
ทั้งนี้ ถือว่ามีความสามารถในการบริหารและเป็นจุดแข็ง แต่เคยมีประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตเมื่อครั้งที่นายวิรัตน์ ลงสมัครชิงเก้าอี้ซีอีโอ ปตท.แข่งกับนายชาญศิลป์ ถูกปล่อยข่าวเชิงถึงสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
“อรรถพล”คุมธุรกิจเรือธง ปตท.
2.นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.ซึ่งถือเป็นลูกหม้อ ปตท.มานาน 30 ปี และคุ้นเคยกับการบริหารงานธุรกิจน้ำมัน โดยผ่านงานมามากก่า 17 ตำแหน่ง เป็นกรรมการบริษัท 16 บริษัท โดยเป็นประธานกรรมการ 8 บริษัท และเป็นกรรมการบริษัท Flagship ของ กลุ่ม ปตท. ทั้ง IRPC, GC, THAIOIL และ PTTOR ที่ควบตำแหน่งประธานด้วย ถือว่ามีประสบการณ์ครอบคลุมงานหลายมิติ
รวมทั้งได้แสดงบทบาทนอกองค์กรในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจ เช่น นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย คณะกรรมการะบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
และยังมีแรงสนับสนุนขึ้นสู่ซีอีโอ ปตท. โดยเฉพาะเมื่อภาคการเมืองยังต้องการใช้ ปตท.เป็นกลไกสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ก็จำเป็นต้องได้ผู้บริหารที่ทำงานเข้าขากัน
ที่ผ่านมาจะเห็นนายอรรถพล ถูกส่งไปประสานงานกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเช่น การช่วยผลักดันโครงการ “ไทยเด็ด” ที่เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้
“นพดล”ผ่านงานธุรกิจหลัก
3.นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) มีประสบการณ์ผ่านธุรกิจหลักใน ปตท.มาครบวงจรเช่นกัน ตั้งแต่ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นบุคลากรที่นายชาญศิลป์ ผลักดันมาตลอด
รวมทั้งหลังการโยกนายนพดล ไปเป็นซีอีโอไออาร์พีซี ดูเหมือนเป็นการเตรียมตัวขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอ ปตท. ซึ่งภายใต้คุณสมบัติข้อหนึ่งนั้น กำหนดว่าควรจะต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการบริหารงานบริษัทลูกในเครือ ปตท.มาก่อน ซึ่งนอกจากจะมีการหนุนหลังที่ดีจากนายชาญศิลป์แล้ว ในด้านสายสัมพันธ์ทางการเมืองก็มีความใกล้ชิดกับบุคคลระดับสูงในรัฐบาล
วัดใจบอร์ด ปตท.เลือกซีอีโอ
ขณะที่ผู้สมัครอีก 3 คน มีกระแสการผลักดันไม่เท่ากับผู้สมัครที่กล่าวมาแต่ประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ โดยเมื่อครั้ง ปตท.ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ แยกหน่วยธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก ออกไปอยู่ภายใต้การบริหารงานของโออาร์ ที่เป็นบริษัทเรือธงใหม่ นางสาวจิราพร ก็คว้าเก้าอี้ซีอีโอมาได้
ส่วนฝีมือการทำงานโดดเด่นขึ้นและการประสานงานกับภาคการเมือง โดยเฉพาะภายในกระทรวงพลังงานที่ใกล้ชิดระดับเดียวกับนายอรรถพล แต่ในยุคที่ ปตท.จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนนั้น ก็ต้องวัดใจคณะกรรมการสรรหา และคณะกรรมการ ปตท.ว่าจะกล้าดันหญิงแกร่งขึ้นสู่ซีอีโอ ปตท.หรือไม่
ในขณะที่ผู้สมัครอีก 2 คน คือ นางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย ปตท.และนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ต้องถือว่าผ่านการบริหารงานในกลุ่ม ปตท.ไม่ครอบคลุมเท่ากับผู้สมัครรายอื่น
“สนธิรัตน์”ยันไม่แทรกแซง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงาน จะไม่เข้าไปแทรกแซงการพิจารณาคัดเลือก CEO ปตท.คนใหม่ โดยจะปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหาฯ ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเต็มที่
รายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมการสรรหาทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายดอน วสันตพฤกษ์, นายวิชัย อัศรัศกร,นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์, พล.อ.ธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ และนายสุพจน์ เตชวรสินสกุล ถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ ยึดคุณธรรมความโปร่งใสเป็นที่ตั้ง ฉะนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักหากฝ่ายการเมืองจะมาแทรกแซงการสรรหาครั้งนี้ แต่ใครจะเหมาะสมเป็นซีอีโอ ปตท.คนใหม่ต้องไปวัดกำลังเสียงโหวตชี้ขาดของคณะกรรมการ ปตท.ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้