สหกรณ์แท็กซี่หวั่นอนาคตผูกขาด หลัง 'คมนาคม' ดันแกร็บถูก กม.

สหกรณ์แท็กซี่หวั่นอนาคตผูกขาด หลัง 'คมนาคม' ดันแกร็บถูก กม.

เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ แนะเอื้อให้เกิดผู้เล่นหลายราย หวั่นเกิดการผูกขาด ห่วงคิดค่าโดยสารผ่านแอพไม่เป็นธรรม หลัง "คมนาคม" เตรียมเสนอ ครม.เคาะกฎกระทรวง ดัน "แกร็บ" ถูกกฎหมาย นำร่องแท็กซี่ก่อนขยายไปจักรยานยนต์รับจ้าง คาดมีผล มี.ค.63

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ ได้ไปร่วมแสดงความเห็นในการเปิดประชาพิจารณ์ร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ แต่ไม่แน่ใจว่าร่างกฎกระทรวงที่เสนอ ครม.จะมีการปรับแก้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ ไม่คัดค้านการออกกฎกระทรวง แต่ร่างกฎกระทรวงควรกำหนดเงื่อนไขที่เอื้อให้มีผู้ประกอบการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชันเกิดขึ้นหลายราย ไม่ใช้ออกกฎหมายเพื่อรองรับผู้ประกอบการเพียง 1 ราย

สำหรับประเด็นสำคัญที่ให้ความเห็นไป คือ 1.ความกังวลเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงให้อำนาจนายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขการรับจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชัน ซึ่งถ้ากำหนดให้ผู้ยื่นจดทะเบียนต้องมีสมาชิกระดับหนึ่งจึงจะจดทะเบียนได้ จะทำให้ผู้ประกอบการรายปัจจุบันมีความได้เปรียบเพราะมีสมาชิกอยู่แล้ว รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะจดทะเบียนจะทำได้ยากในการหาสมาชิกเริ่มต้น เนื่องจากรายเดิมจะดึงสมาชิกไปหมด จึงเห็นว่าควรมีหลักเกณฑ์ที่เอื้อให้เกิดผู้ประกอบการหลาย 4-5 ราย เพื่อให้เกิดการแข่งขัน

2.การกำหนดคุณลักษณะรถยนต์ ซึ่งต้องการให้รถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชันให้หลักเกณฑ์เดียยกับการควบคุมรถแท็กซี่ป้ายเหลือง โดยอาจจะให้รถแทกซี่ปรับไปใช้หลักเกณฑ์ของ

รถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชัน หรือจะให้รถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชันมาใช้หลักเกณฑ์ของรถแท็กซี่ก็ได้

ทั้งนี้ กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้การขออนุญาตรถแทกซี่ป้ายเหลืองจะต้องเป็นรถที่ใช้งานมาแล้วไม่เกิน 2 ปี หรือ วิ่งมาแล้วไม่เกิน 20,000 กิโลเมตร ในขณะที่รถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชัน กำหนดเงื่อนไขเป็นรถใช้งานมาแล้วไม่เกิน 9 ปี แต่ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขระยะทางวิ่ง

  • หวั่นคำนวณค่าโดยสารผ่านแอพ

3.การกำหนดราคาค่าโดยสาร ซึ่งรถแท็กซี่ป้ายเหลืองจะถูกควบคุมราคาตามมิเตอร์ ในขณะที่รถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชันจะได้รับอนุญาตให้คำนวณราคาเองผ่านแอพพลิเคชันให้ผู้โดยสารตัดสินใจเลือกใช้บริการ

สำหรับรูปแบบการคำนวณอัตราค่าโดยสารผ่านแอพพลิเคชันจะมีราคาขึ้น-ลงตามสถานการณ์ โดยในช่วงที่มีผู้ใช้บริการมากหรือมีจำนวนรถน้อยราคาจะปรับขึ้น เช่น คูณ 1.5-2.0 เท่า ซึ่งแนวทางนี้ผู้โดยสารมีโอกาสทั้งได้ค่าโดยสารลดลงหรือสูงขึ้นเมื่อเทียบกับแท็กซี่ป้ายเหลือง แต่ปัจจุบันมีปัญหารถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชันบางส่วนพร้อมใจกันไม่กดรับบริการ และทำให้จำนวนรถขาดและทำให้ค่าโดยสารปรับสูงขึ้น โดยถ้ามีลักษณะเช่นนี้เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้ผู้โดยสารเสียเปรียบ

157640157834

ในขณะที่รถแท็กซี่ป้ายเหลืองไม่ว่าจะในช่วงเวลาใดหรือในสถานการณ์ใดจะเก็บค่าโดยสารตามมิเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชันเคยเจอปัญหาในช่วงฝนตกที่รถว่างมีน้อยทำให้แอพพลิเคชั่นคำนวณราคาเพิ่มขึ้น 4 เท่า โดยถ้าผู้โดยสารไม่มีทางเลือกก็ต้องเลือกใช้บริการในราคานี้

ขณะนี้จำนวนรถแท็กซี่ป้ายเหลืองมีมากกว่า 1 ล้านคัน ในขณะที่รถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชันออกมาเปิดเผยจำนวนรถ 40,000 คัน แต่ถ้าในอนาคตจำนวนรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชันมีมากขึ้น และมีผู้ประกอบการเพียง 1 ราย ในขณะที่รถแท็กซี่ป้ายเหลืองลดจำนวนลงอาจทำให้ผู้เล่นที่มีเพียง 1 ราย กำหนดตลาดเองได้

  • รัฐบาลดัน "แกร๊บ" ถูกกฎหมาย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้านโยบายเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาหาปากท้อง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยในเร็ววันนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน หรือ "แกร็บ" (Grab) ถูกกฎหมาย 

ทั้งนี้ ต้องออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1.กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่น และ 2.กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และการออกใบอนุญาตสำหรับนิติบุคคลที่ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการรับจ้างบรรทุกผู้โดยสาร

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้บริการรถจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มความสะดวกและเป็นธรรมแก่ประชาชน เพราะในปัจจุบันนั้น มีการนำรถส่วนบุคคลเข้ามาให้บริการรับจ้างผ่านแกร็บ (Grab) ซึ่งผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น รถแท็กซี่ รัฐบาลได้มีมาตรการรับรองไว้อยู่แล้ว โดยการออกกฎหมายกระทรวงเพื่อให้แกร็บ (Grab) ถูกกฎหมาย ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

"สำหรับร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือน มี.ค.2563 โดยเริ่มจากการให้บริการแกร็บแท็กซี่ก่อน ส่วนรถจักรยานยนต์ หรือ แกร็บไบค์ ยังต้องใช้เวลาศึกษาอีกสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การเปิดให้แกร็บถูกกฎหมายนั้น ถือว่าตอบโจทย์ประชาชนในการใช้ชีวิตยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย จึงเชื่อว่านโยบายดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก" น.ส.ไตรศุลี กล่าว