คิดสร้างสรรค์ ยิ่งฝึกยิ่งเก่ง สูตร 'James Taylor'

คิดสร้างสรรค์ ยิ่งฝึกยิ่งเก่ง  สูตร 'James Taylor'

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ แต่เหมือนกับการเรียนภาษา “ยิ่งฝึก ก็ยิ่งเก่ง”

ไม่ใช่เรื่องของ “พรสวรรค์” ความคิดสร้างสรรค์ต้องฝึกและลงมือทำร่วมกันเป็น “ทีม” จึงนำไปสู่ความสำเร็จ การระดมสมองจะทำให้เห็นปัญหาที่แท้จริง และแก้ไขจนกลายเป็นผลลัพธ์ที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่


ที่แน่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้หมายถึง “คนฉลาด” เพราะมีสถิติที่บ่งชัดว่า “ไอคิว” ของคนในโลกยุคปัจจุบันสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ต่ำลง จนอาจเรียกได้ว่าเข้าขั้น “วิกฤติ” เลยก็ว่าได้


ส่วนระดับองค์กรนั้น “Pixar” ถือเป็นต้นแบบที่ดีในเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างสรรค์ ซึ่งโดดเด่นตรงที่จะไม่ใช้การตำหนิ พูดถึงความผิดพลาด ถ้ายังไม่ถึงเป้าหมายก็จะมองในมุมที่ว่า..ยังมีอะไรที่ขาดหายไป


ทั้งหมดเป็นคีย์เวิร์ด ที่กรุงเทพธุรกิจได้ยินภายในงานเวิร์คชอบระดับโลกที่จัดขึ้นโดย “ M academy” นั่นก็คือ "Unlock Your Creative Potential & Building a More Creative Culture" ซึ่งมี “James Taylor” (เจมส์ เทย์เลอร์) กูรูของศาสตร์ Creativity & Innovation ลัดฟ้ามาช่วยปลดล็อคสร้างทักษะคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้เรียนคนไทย


เช่นเดียวกับผลสำรวจและแนวคิดของกูรูท่านอื่นๆ เจมส์บอกว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่ AI ทดแทนไม่ได้ จึงเป็นทักษะที่จะทำให้มนุษย์เราอยู่รอด และยังทำมาหาเลี้ยงชีพได้ในอนาคต


อย่างไรก็ดี เจมส์ไม่ได้มอง AI หรือเทคโนโลยีต่างๆว่าเป็นมารร้าย แต่มีข้อดีหลายอย่างโดยเฉพาะความสะดวกรวดเร็ว ด้วยต้นทุนที่ถูกขึ้น โลกแห่งอนาคตหากคนกับเทคโนโลยีสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืนก็ยิ่งเกิดผลิตภาพและประสิทธิภาพที่สุดยอดยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างถ้าเป็นอดีตก็คงเป็น “เซนทอร์” (Centaur) ลูกผสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ มีร่างส่วนบนเป็นมนุษย์ผู้ชาย แต่ส่วนลำตัวลงไปเป็นม้าหนุ่มที่มีพลังและสง่างาม


แต่ในโลกยุคนี้ก็ต้องยกให้ “ไอรอนแมน” ( Iron Man) ตัวละครของมาร์เวลคอมิกส์ ยอดมนุษย์ที่ใส่เกราะจนสามารถออกรบ ต่อสู้และเอาชนะศัตรูได้โดยง่าย


เขาเปรียบว่า AI ในเวลานี้เป็นเหมือนกระแสน้ำป่าไหลเชี่ยวกรากและกวาดทุกอย่างที่อยู่ในพื้นที่ลุ่ม มีผลสำรวจมากมายที่ชี้ว่าเทคโนโลยีที่แอดวานซ์ขึ้นทุกวันกำลังเข้ามามีบทบาทและทำงานแทนคน โดยเฉพาะงานเอกสาร งานประมวลผล เช่น งานบัญชี ที่จะถูกแทนที่ถึง 80-90% ทั้งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) จะมีคนตกงานทั่วโลกถึง 800 ล้านตำแหน่งเลยทีเดียว


ดังนั้นหากอยากรอดก็ต้องรีบปีนขึ้นเขา ขึ้นไปอยู่บนที่สูง ซึ่งแน่นอนกว่าจะถึงเป้าหมายย่อมต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ แต่มีเครื่องมือหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยที่ดีก็คือความคิดสร้างสรรค์ คำถามก็คือ เราจะพัฒนาอย่างไร? เจมส์บอกว่ามี 5 เทคนิคที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ดังนี้


1. PNC (Positive-คิดบวก Nagative-คิดลบ Curious-ไม่แน่ใจ อาจเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ) เป็นเทคนิคที่เหมาะจะนำมาใช้ประเมินในภาพกว้างๆ เช่น เมื่อบริษัทมีความคิดจะลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อมาช่วยลดต้นทุน เพื่อเช็คว่าจะมีข้อดี ข้อเสีย หรือเรื่องอื่น ๆอะไรที่ต้องคิด แต่มีอีกเทคนิคหนึ่งที่เจมส์บอกว่าทุกคนทำได้ง่าย ๆเช่นกันคือ ก็คือ “5-Whys”ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยผู้ก่อตั้งโตโยต้า (Sakichi Toyoda)


“เทคนิคที่กล่าวมานี้เป็นการคิดกว้างๆ เพื่อมาดูว่าอะไรคือปัญหาที่ใช่ บางครั้งปัญหาที่เราคิดอาจไม่ใช่ มันอาจมีเบื้องหลังที่เป็นปัญหาตัวจริง จะทำให้เราพัฒนาความคิดในเชิงกลยุทธ์มากยิ่งขึ้น”


2.VOD (Variations-ความหลากหลาย Options-ตัวเลือก Decisions-ตัดสินใจ) เป็นเทคนิคที่นำมาช่วยสร้างไอเดียใหม่ๆ เนื่องจากสมองของคนเราใช้พลังงานสูงกว่าอวัยวะส่วนอื่น ๆคือใช้มากถึง 1,500 แคลลอรี่ต่อวัน มันจึงหาทางลดและประหยัดการใช้พลังงานโดยอัตโนมัติ นำไปสู่การคิดอะไรแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องคิดแบบนอกกรอบไปจากเดิม ด้วยการพยายามมองหาแนวทาง วิธีการที่หลากหลาย เป็นทางเลือกใหม่ๆแล้วค่อยเลือกสิ่งที่ดีที่ใช่ที่สุด


3.OUT (แนวคิดหรือไอเดียที่หลุดโลก บ้าบิ่น แหวกแนว) เป็นเทคนิคที่ทรงพลังถึงขึ้นปฏิวัติธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเลยทีเดียว ซึ่งมาจากแนวคิดที่แปลกล้ำไปจากเรื่องที่เคยมี เช่นฟาร์มที่ไม่ต้องมีเกษตรกร,บริษัทที่ไม่มีพนักงาน,ทำสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าจ่ายในราคาที่เขาอยากจ่าย ฯลฯ


เจมส์ยกตัวอย่างหนังสือ The Idea Book ของ Fredrik Haren ที่สร้างปรากฏการณ์ให้วงการหนังสือที่ไม่ได้แค่มีเนื้อหาเรื่องของแนวคิดดีๆ ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ แต่ยังมีหน้ากระดาษว่างเปล่ากว่า 150 หน้าให้ผู้ซื้อได้บันทึกความคิดต่างๆ ของตัวเองไปพร้อมๆ กันอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือเล่มนี้มียอดขายถล่มทลายและเป็นที่กล่าวถึงของคนทั่วโลก


4.เทคนิคการสุ่มเลือกคำ (Random Words) เพื่อหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ โดยสุ่มคำขึ้นมาแล้วให้นำไปเชื่อมโยงว่าจะใช้หรือแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้อย่างไร (เขาแนะนำเว็บไซต์ที่ชื่อ randomwordgenerator.comให้ทุกคนได้ลองไปสุ่มคำและฝึกฝน)


5.เทคนิคการวาดภาพอนาคต ( Future Pacing) เป็นการคาดการณ์ว่าในอนาคต ในทุกๆไตรมาส หรือใน 5ปี 10ปี 15ปี 30ปี ข้างหน้าธุรกิจของเราจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับลูกค้า รวมถึงความท้าทาย ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น


กระบวนการคิดสร้างสรรค์จะสำเร็จหรือไม่ สูตรของเจมส์มีขั้นตอนดังต่อไปนี้ หนึ่ง เตรียมข้อมูล (Preparation) ยิ่งมีข้อมูลและประสบการณ์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี หากเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการก็ต้องมีชั่วโมงบินในการทำธุรกิจ หรือทำการศึกษาโมเดลธุรกิจของคนทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ เป็นต้น


สอง บ่มเพาะ (Incubation) ต้องทิ้งระยะเพื่อให้แน่ใจ ทิ้งข้อมูลและประสบการณ์แนวคิดที่มีสักช่วงเวลา เพื่อค้นหาความคิดใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้นได้อีก จากนั้นก็ค่อยกลับมาลุยทำต่อ


สาม เข้าใจอย่างถ่องแท้ (Insight) เจมส์บอกว่ามีหลายองค์ประกอบที่ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น เวลา สถานที่ สี ฯลฯ แต่มีหลายคนมักเกิดความคิดสร้างสรรค์ในช่วงที่เพิ่งตื่นนอนตอนเช้าหรือเวลาอาบน้ำ


สี่ ประเมินผล (Evaluation) ตรวจสอบให้ดีว่าแนวคิดหรือสิ่งที่อยากทำจะเป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างคุณค่าจริงๆหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็อย่าฝีน


ห้า ลงมือทำ (Elaboration) คิดแต่ไม่ลงมือทำ..ก็แค่นั้น คงไม่มีอะไรเกิดขึ้น เจมส์ยกตัวอย่างคำคมของ “โทมัส เอดิสัน” ผู้คิดค้นหลอดไฟได้เป็นคนแรกของโลกที่ได้กล่าวว่า "อัจฉริยะเกิดจาก 1% แรงบันดาลใจ และ 99% การลงมือทำ ไม่ยอมแพ้"