สมาคมรับสร้างบ้าน ชี้ แรงหนุนอีอีซี-กฎหมายภาษีที่ดิน ดันบ้าน 10 ล้านบูม
แรงหนุนจากโครงการอีอีซี-กฎหมายภาษีที่ดิน ดันบ้านราคา 10 ล้าน มาแรง คาดสิ้นปีหน้าตลาดรับสร้างบ้านมุลค่าแตะ 1.3 หมื่นล้าน
นางศิริพร สิงหรัญ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ตลาดรับสร้างบ้านปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 12,500 ล้าบาท เติบโตจาก 12,000 ล้านบาท ในปี 2561 ส่วนในปี 2563 คาดว่า ตลาดรวมเติบโตประมาณ 5% คิดเป็นมูลค่า 13,000 ล้านบาท ถือว่าเติบโตในอัตราไม่สูงนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีทิศทางที่เติบโตขึ้นจากโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่ขยายตัวในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการทำโฮมออฟฟิศ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจจากเมกะโปรเจคของภาครัฐ รวมถึงการขยายตัวของเมืองจากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนของกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2563 จะเป็นผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจรับสร้างบ้าน ทำให้เจ้าของที่ดินตัดสินใจสร้างบ้านหลังที่ 2 เร็วขึ้นจากเดิมชะลอตัวให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ อาทิ เขาใหญ่ ชะอำ หัวหิน ราชบุรี เริ่มมีโครงการก่อสร้างบ้านหลังที่ 2 เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดในกรุงเทพฯ คาดว่ากว่า 50% จะเป็นการสร้างบ้านใหม่เพื่อทดแทนบ้านเก่า
ทั้งนี้ แนวโน้มราคาสร้างบ้านที่ได้รับความนิยมในปีหน้าเหมือนกับปีนี้ คือ ระดับราคาบ้านตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจ คนที่มีกำลังซื้อ ส่วนที่เป็นโฮมออฟฟิศตั้งแต่ 8 ล้านบาทขึ้นไป
“ส่วนระดับราคาที่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ส่วนหนึ่งติดปัญหาเรื่องการขออนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ทำให้คนที่อยากสร้างบ้านกู้ยากขึ้น”
นางศิริพร กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนรับสร้างบ้านเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3-5% แต่ยังไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ เพราะเกรงมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลูกค้า ทำให้กำไรต่อหน่วยลดลง แต่ฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และระดับราคาสร้างบ้านมูลค่าสูง ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป จึงไม่กระทบมากนัก
อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการตัดสินใจสร้างบ้านของคนไทยใช้เวลาในการพิจารณานานขึ้นจากเดิมใช้เวลา 3-6 เดือนขยับขึ้นมาเป็น 1 ปี ทั้งนี้เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว บรรยากาศใช้จ่ายซบเซา รวมทั้งมาตรการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวดขึ้นทำให้ตลาดชะลอตัวลง รวมถึงบรรยากาศทางการเมืองที่มีผลกระทบเชิงจิตวิทยาค่อนข้างมาก
“สถานการณ์ทางการเมืองถือเป็นปัจจัยลบที่สำคัญมีผลต่อการตัดสินใจสร้างบ้านของลูกค้า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หากมีปัจจัยการเมืองเข้ามาทุกคนชะลอการใช้จ่ายในทุกอย่างรวมถึงการสร้างบ้านด้วย”
นอกจากนี้ ปัจจัยจากการมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคารมีผลต่อการขยายตัวของธุรกิจรับสร้างบ้านด้วยเช่กนัน จึงต้องการให้ธนาคารมีมาตรการที่ผ่อนปรนมากกว่านี้สำหรับกลุ่มที่ต้องการสร้างบ้าน เนื่องจากกลุ่มนี้มีที่ดินเป็นของตนเอง ต่างจากกลุ่มที่ซื้อคอนโดมิเนียม จึงควรใช้เกณฑ์หรือเงื่อนไขในการอนุมัติสินเชื่อที่แตกต่างกัน เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้มีบ้านเป็นของตนเองมากขึ้น