เปิดเกณฑ์ 'ลดโทษ-พักโทษ' ต้นเหตุอาชญากรรมเพิ่ม?
กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วเมือง กรณีกรมราชทัณฑ์ “พักโทษ” ผู้ต้องหาฆาตกรรมต่อเนื่อง “สมคิด พุ่มพวง” เจ้าของฉายา “แจ๊ค เดอะริปเปอร์ เมืองไทย”
“สมคิด” โดนโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต และลดโทษลงมาเหลือจำคุกตลอดชีวิต เหตุใดจึงติดคุกจริงแค่ 14 ปี ก็ออกมาก่อคดีใหม่ได้ มิหนำซ้ำยังนับโทษย้อนไปตั้งแต่วันถูกจับเข้าคุกแล้วไม่ได้ประกันด้วย
"สมคิด" ถูกจับเมื่อปี 2548 หลังก่อคดีฆ่าผู้หญิงต่อเนื่องถึง 5 ศพ ในเวลาไล่เลี่ยกัน จากนั้นไม่ได้ประกันตัว และติดคุกระหว่างพิจารณาคดีเรื่อยมา กระทั่งคดีสุดท้ายศาลพิพากษาในปี 2555 “สมคิด” จึงเริ่มติดคุกตามคำพิพากษา แต่จำนวนวันที่ติดคุก นับย้อนไปตั้งแต่ปี 2548 ทำให้ขณะนั้นติดมาแล้ว 7 ปี
ฉะนั้นเมื่อ“สมคิด” ติดคุกจริงแค่ 14 ปี จึงเท่ากับว่า หลังมีคำพิพากษาคดีสุดท้าย ซึ่งยังเป็นข่าวใหญ่ในหน้าสื่อทั่วไป เขาติดคุกต่อมาอีกแค่ 7 ปีเท่านั้น ก็ได้รับการปล่อยตัว
ทำให้สังคมตั้งคำถาม เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การลดโทษ ว่านี่คือลดหรือแจกกันแน่
การพิจารณาลดโทษในกระบวนการยุติธรรมไทย มีอยู่ 2 ส่วน คือ
หนึ่ง “การพิจารณาของศาล” ซึ่งมีช่องทางในการลดโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น จำเลยยอมรับสารภาพโดยไม่จำนนต่อหลักฐาน จำเลยเป็นเยาวชน จำเลยบันดาลโทสะ หรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ซึ่งหากไม่เข้าหลักเกณฑ์เหล่านี้ ศาลก็จะไม่สามารถใชัดุลพินิจลดโทษได้ แบบนี้เรียกว่าลดโทษโดยคำพิพากษาของศาล
ส่วนที่สอง คือ การพิจารณาของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นกระบวนการหลังมีคำพิพากษาของศาลแล้ว จากการตรวจสอบพบว่า หลักเกณฑ์การลดโทษหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุด นอกเหนือจากการอภัยโทษหรือลดโทษในวาระสำคัญ ๆ ของบ้านเมืองแล้ว ยังมีเกณฑ์การลดโทษที่พิจารณาโดยคณะกรรมการของเรือนจำและกรมราชทัณฑ์อีกด้วย ได้แก่
การ “ลดโทษ” ซึ่งหมายถึง “ลดวันต้องโทษ” เป็นสิทธิ์ที่ผู้ต้องขังหรือนักโทษเด็ดขาดได้รับโดยอัตโนมัติตามความประพฤติของผู้ต้องขัง โดยความประพฤติของนักโทษจะกำหนดเป็นชั้น มี 6 ชั้น แต่ชั้นที่จะได้รับการลดโทษมี 3 ชั้น คือ ผู้ต้องขังชั้นเยี่ยม ได้ลดโทษเดือนละ 5 วัน ผู้ต้องขังชั้นดีมากได้ลดโทษเดือนละ 4 วัน ผู้ต้องขังชั้นดี ได้ลดโทษเดือนละ 3 วัน
การลดวันต้องโทษถือเป็นสิทธิ์ เมื่อประพฤติดีก็จะได้รับโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้น การอาสาสมัครออกทำงานสาธารณะ ก็จะได้รับการลดโทษเท่าจำนวนวันที่ออกทำงานด้วย ระยะหลัง ๆ มีข่าวว่า อัตราการลดโทษมีถึงขั้น เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ติด 1 วัน ลด 1 วัน กันเลยทีเดียว
อีกแบบหนึ่งเรียกว่าการ “พักโทษ” หรือ “พักการลงโทษ” จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ไม่ได้เป็นสิทธิ์ที่ได้โดยอัตโนมัติ
หลักเกณฑ์การพักโทษ คือ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด คือคดีถึงที่สุดแล้ว และจำคุกมาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ หากจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ก็จะเข้าเกณฑ์การขอพักโทษ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการพักโทษ เพราะต้องผ่านคณะกรรมการระดับเรือนจำก่อน
ส่วนระยะเวลาของการพักโทษ แบ่งตามชั้นของนักโทษเช่นกัน คือ ชั้นเยี่ยม ได้พักไม่เกิน 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ ชั้นดีมาก ได้พักไม่เกิน 1 ใน 4 ของกำหนดโทษ และชั้นดี ได้พักไม่เกิน 1 ใน 5 ของกำหนดโทษ
แต่การลดโทษในขั้นตอนของราชทัณฑ์ ถูกมองว่าผิดหลักสากล เพราะไม่มีหน่วยงานตัดสินคดีอย่าง “ศาล” ร่วมอยู่ด้วยในกระบวนการตัดสินใจ ผิดกับในต่างประเทศ ที่การลดโทษ หรือพักโทษ ต้องมีผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนั้นๆ ลงนามยินยอมด้วย
แม้ล่าสุดจะมีการปรับปรุงกฎหมายราชทัณฑ์ไทย เปิดให้ “ตัวแทนจากศาลยุติธรรม” เข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณาด้วยก็ตาม แต่ที่ผ่านมาก็ทำกันโดยเสรี จนถูกวิจารณ์ว่าหลายๆ กรณีอาจเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ต้องขังที่มีฐานะร่ำรวยหรือมีอิทธิพล ขณะที่ทางฝั่งศาลเอง ผู้พิพากษาบางรายก็มองว่าการลดโทษลักษณะนี้เท่ากับเป็นการ “เปลี่ยนแปลงคำพิพากษา” หรือไม่
- ผิดซ้ำโทษเพิ่ม 1 ใน 3
การดำเนินคดีทางกฎหมายกับ “สมคิด พุ่มพวง” ผู้ต้องหาฆาตกรรมต่อเนื่อง หลังจากนี้จะมีแนวทางอย่างไรบ้าง หลังจากกลับมาก่อเหตุซ้ำ
ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายถึงแนวทางการดำเนินคดี นายสมคิด พุ่มพวง ผู้ต้องหาฆาตกรรมต่อเนื่อง หลังกลับมาก่อเหตุฆ่านางรัศมี มุลิจันทร์ ภายในบ้านพักในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา ว่า ตั้งแต่ปี 2548 นายสมคิดก่อเหตุฆาตกรรมมา 5 คดี ซึ่งผลของทั้ง 5 คดี ศาลลงโทษประหารชีวิต แต่คำรับสารภาพของนายสมคิด เป็นประโยชน์ ศาลลดโทษให้ทั้ง 5 คดี เหลือลดโทษจำคุกตลอดชีวิต คือ คดีละ 50 ปี และแนวทางของกฎหมาย จะให้จำคุกสูงสุดได้แค่ 50 ปี ไม่ใช่ 250 ปี
ทั้งนี้หากถูกดำเนินคดีใหม่ ในการก่อเหตุครั้งล่าสุด ขั้นตอนของอัยการจะต้องตรวจสำนวนและต้องดูประวัติการกระทำความผิด ตลอดจนพฤติการณ์ทั้งหลายของนายสมคิด ผู้ต้องหาที่เคยก่อเหตุมาครั้งก่อน เพื่อนำมาบรรยายในคำฟ้อง และการนำสืบให้ศาลเห็นถึงพฤติการณ์ของผู้ต้องหา เพื่อให้นำไปสู่การดำเนินคดี และเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชน
ทั้งนี้ดุลยพินิจของการลดโทษถือเป็นอำนาจของศาล ซึ่งตามหลักกฎหมายถ้าคำรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ศาลจะหยิบยกประเด็นนี้มาเป็นประโยชน์ให้กับจำเลยในคดี
แต่อัยการก็จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า การที่รับสารภาพของจำเลยนั้น ไม่ใช่เป็นการสำนึกผิด และไม่ใช่การสำนึกบาป แต่ต้องนำเสนอให้เห็นว่า การรับสารภาพเป็นเพียงการจำนนต่อหลักฐาน ดังนั้นจะต้องนำสืบชี้ให้ศาลเห็นว่า ไม่ควรจะได้ประโยชน์ในการลดโทษ ถ้านำสืบให้ศาลเห็นได้ศาลก็จะไม่ยกประโยชน์ให้จำเลย และจะไม่มีการลดโทษเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ตามหลักของกฎหมาย หากพ้นโทษออกมาแล้วไปกระทำความผิดซ้ำภายในระยะเวลา 5 ปี อัยการสามารถขอให้ศาลเพิ่มโทษในคดีใหม่ได้อีก 1 ใน 3 ซึ่งกรณีโทษจากคดีฆาตกรรมของนายสมคิด ล่าสุดในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น มีโทษสูงสุดคือประหารชีวิตอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าศาลลงโทษประหารชีวิต แล้วทางกฏหมายลดโทษเหลือตลอดชีวิต ก็ไม่มีการเพิ่มโทษ เพราะเป็นอัตราสูงสุด เพิ่มโทษอย่างไรก็ตามก็จะต้องไม่เกิน 50 ปี
ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาลดโทษในระหว่างถูกคุมขัง เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ที่จะพิจารณาว่าบุคคลใดเข้าเงื่อนไขบ้าง ทางสำนักงานอัยการสูงสุด ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงในส่วนนี้ได้
- ยธ.เล็งติด “อีเอ็ม” ตลอดชีวิต
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ระบุว่า กรณีการปล่อยตัวนักโทษคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง จนมาก่อเหตุซ้ำนั้น กลไกการปล่อยตัว ต้องรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทราบทุกเดือน
ส่วนกระบวนการพักโทษ หากดูจากต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ฆาตกรโรคจิต ฆ่าข่มขืน กระทำชำเราเด็ก เป็นกลุ่มคนที่อาจจะต้องถูกคุมขังตลอดชีวิต หรือแม้จะได้รับการพักโทษออกมา ก็ต้องติดกำไลอีเอ็มตลอดชีวิต และหากไปอยู่บริเวณอย่างสถานศึกษา ก็อย่างต้องแจ้งให้รับทราบ จึงอยากนำระบบนี้มาดำเนินการ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย
“คิดว่าจะต้องมีมาตรการจากเดิม ที่กระทรวงยุติธรรม เพียงแต่แจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทราบเท่านั้น แต่ในอนาคตจะต้องมีการติดกำไลอีเอ็มซึ่งจะต้องรีบทำ ไม่ใช่วัวหายล้อมคอก แต่เป็นการคิดเอาไว้อยู่แล้ว”
ขณะที่ พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยข้อมูลนักโทษว่า ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์รับผิดชอบผู้ต้องขังกว่า 370,000 คน ทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนเกินกว่าที่เรือนจำจะรองรับได้ถึง 3 เท่า จึงทำให้เกิดสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปรับปรุง และทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เมื่อพ้นโทษออกมา กรมราชทัณฑ์จะเร่งทบทวนและเพิ่มมาตรการป้องกัน มิให้ผู้กระทำผิดซ้ำในคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
และอยากวิงวอนประชาชนอย่าเหมารวม หรือปิดโอกาสของผู้พ้นโทษในการกลับตัวเป็นคนดีของสังคม