พาณิชย์ ปลึ้ม ‘เอฟทีเอ’ ดันไทยส่งออกผลไม้อันดับ 6 โลก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย ผลไม้ไทยเนื้อหอม ทำยอด10 เดือนแรกปี 62 พุ่งแตะหลัก 3,000 ล้านดอลลาร์ ผลจากเอฟทีเอ ดันไทย ขึ้นแท่นผู้ส่งออกผลไม้เบอร์ 6 โลก พร้อมแนะผู้ประกอบการเกาะกระแสรักสุขภาพ ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และรักษามาตรฐานสินค้า
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ติดตามผลการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังตลาดโลก พบว่าท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวซึ่งส่งผลให้การส่งออกสินค้าในภาพรวมของทั่วโลกล้วนหดตัวนั้น สินค้าผลไม้ของไทยยังคงครองความนิยม มียอดการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับผลไม้ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอที่ช่วยลดและยกเลิกภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า ทำให้ผลไม้ไทยได้แต้มต่อและมีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น
สำหรับเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบันนั้น มีผลให้ 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและผลไม้แห้งของไทยทุกรายการแล้ว ส่วนคู่เอฟทีเอที่เหลือ อาทิ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และมาเลเซีย ต่างทยอยลดเลิกภาษีนำเข้าผลไม้ส่วนใหญ่แล้วเช่นกัน คงเหลือการเก็บภาษีเพียงบางรายการเท่านั้น
“ 10 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-ตุลาคม) ส่งผลให้ไทยขยับอันดับจากประเทศผู้ส่งออกผลไม้จากอันดับที่ 10 ของโลกในปี 2561 เป็นผู้ส่งออกผลไม้อันดับที่ 6 ของโลก รองจากสเปน เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และชิลี มีมูลค่าการส่งออกผลไม้สู่ตลาดโลกพุ่งสูงถึง 3,213 ล้านดอลลาร์ เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึง 41% มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน และจีน รวมมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยไปอาเซียนและจีนมีมูลค่าสูงถึง 2,690 ล้านดอลลาร์ หรือ 84 % ของการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดโลก ผลไม้ไทยที่กำลังเนื้อหอมคือกลุ่มผลไม้เมืองร้อน เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ซึ่งไทยครองความเป็นผู้นำการส่งออกอันดับหนึ่งของโลกอีกด้วย”นางอรมน กล่าว
นางอรมน กล่าวว่า กระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่นับวันยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นนั้น เป็นโอกาสทองที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะขยายการส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผลไม้ไทยครองใจผู้บริโภคได้ เกษตรกรควรรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พัฒนาคุณภาพการผลิตตามความต้องการของตลาดที่ปัจจุบันนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างเอกลักษณ์ พัฒนาสร้างตราสินค้า หรือแบรนด์ของผลไม้เป็นของตนเองเพื่อสร้างความแตกต่างจากผลไม้ของประเทศอื่น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค อันจะนำไปสู่การครอบครองตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นให้สินค้าผลไม้ไทยได้