สภาฯ เสียงเอกฉันท์ 445 ตั้งกมธ.ศึกษาแก้รธน.
สภาฯ เสียงเอกฉันท์445 ตั้งกมธ.ศึกษาแก้รธน. ใช้เวลา 120 วัน นัดประชุมครั้งแรก 24 ธ.ค.พบ “เพื่อไทย” ส่งมือกฎหมายสุดเขี้ยวร่วมวง “สมชัย” โผล่ในโควต้าพรรคเสรีรวมไทย พปชร.เสนอชื่อ “สนธิญาณ” ร่วมวง ก่อนลงมติ "บัญญัติ”
ขณะที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายปิดส่วนของญัตติพรรคร่วมรัฐบาล ว่า ปัญหา 3 ประเด็น คือ 1.ความล้มเหลวของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม 2.พรรคการเมืองอ่อนแอ และ 3.ขาดเนื้อหาพัฒนาประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งปัญหาของรัฐธรรมนูญทำให้เกิดความล่าช้าของการประกาศผลเลือกตั้ง , ปัญหาการคำนวณส.ส.พึงมี,สมาชิกภาพของส.ส.ที่ไม่แน่นอน ในระยะเวลา 1 นับหากมีการเลือกตั้งใหม่, มีพรรคการเมืองจำนวนมาก ทั้งในรัฐสภาและในรัฐบาล, จัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ส่งผลต่อการทำงานตามนโยบาย, ร่างกฎหมายงบประมาณ รวมถึงเกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำมากที่สุด ซึ่งทำให้เกิดความล้มเหลว 3 ประการ คือ 1.ระบบเลือกตั้งที่ยุ่งเหยิง, 2.ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เสื่อมศรัทธนา และทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ และ 3.ทำลายความศรัทธาของพรรคการเมืองเพราะให้ความสำคัญกับผู้สมัคร ส.ส.มากเกินไปซึ่งตนมองว่าเป็นลางร้ายของประชาธิปไตยไทย “เงื่อนไขของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ขัดหลักการการแก้ไขโดยใช้เสียงข้างมาก เพราะต้องใช้เสียงสนับุสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน ถึงร้อยละ 20 และ ใช้เสียของส.ว.จำนวน 84 เสียงจากเดิมที่เนื้อหาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับจะใช้หลักการเสียงข้างมากเกินครึ่ง, 2 ใน3 หรือ 3 ใน4 ของสมาชิกสภาฯ เท่านั้น
ส่วนนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายด้วยว่าตนยินดี หากนายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานกมธ.ฯ เพราะจากการทำงานร่วมกันในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาฯ นั้นเป็นไปด้วยดี และเชื่อว่าจะทำให้การศึกษาแก้รัฐธรรมนูญเดินหน้า ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาที่ต้องใช้เสียง ส.ว. 84 เสียง ดังนั้นขอให้สภาฯ เร่งกดดันให้ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสร้างกระแสสนับสนุนจากประชาชน เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญ ที่ตนมองว่าเป็นระเบิดเวลา มีปัญหาจนนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหารหรือลุกฮือของประชาชน