ผู้เชี่ยวชาญการจัดการลุ่มน้ำติง อุโมงค์ผันน้ำเขื่อนภูมิพลจะสร้างภาระให้ชาวบ้าน

ผู้เชี่ยวชาญการจัดการลุ่มน้ำติง อุโมงค์ผันน้ำเขื่อนภูมิพลจะสร้างภาระให้ชาวบ้าน

แนะ กรมชลฯ พิจารณาบริหารจัดการลุ่มน้ำปิงทั้งระบบก่อน

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ กล่าวถึงโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพลของกรมชลประทานที่จะมีมูลค่านับแสนล้านบาทว่า การสูบโดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผ่านมา พบว่า มักมีต้นทุนสูงและมีค่าใช้จ่ายตลอดเวลา ซึ่งสุดท้าย มักผลักภาระให้ผู้ใช้น้ำ เช่น โครงการเขื่อนราษีไศลที่ใช้ไฟฟ้าสูบน้ำกว่า 20 สถานี ทุกวันนี้เป็นภาระของชาวบ้านที่ต้องจ่ายค่าไฟจาก 300 บาทเป็น 600 บาทต่อไร่ โดยไม่เคยบอกชาวบ้านมาก่อนเลย หรือโครงการลักษณะเดียวกับที่เขื่อนปากมูลกว่า 30 สถานี ที่ผลักภาระให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางแห่ง จนบางสถานนีต้องหยุดใช้เพราะไม่มีสามารถจ่ายค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำได้

นอกจากนี้ยังมีโครงการน้ำร่องในจังหวัดต่างๆ อีกนับสิบโครงการ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน โดยใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่และใช้พลังงานไฟฟ้า จนสุดท้ายชาวบ้านไม่มีปัญญาจ่ายเช่นกัน, นายหาญณรงค์กล่าว

นายหาญณรงค์กล่าวว่า กรณีผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล ถือว่าเป็นโครงการแรกที่มีขนาดใหญ่งบประมาณรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านและมีลักษณะก่อสร้างที่เป็นอุโมงค์ตั้งแต่ต้นจนปลายทาง หากจะดำเนินโครงการผันน้ำยวมจริง เบื้องต้น ควรการทบทวนให้ชัดเจนก่อนว่า เขื่อนแห่งนี้ขาดแคลนน้ำทุกปีหรือบางปี 

ในเชิงเทคนิค ผมยืนยันว่าถ้าสูบน้ำขึ้นไปที่สูงแล้วปล่อยลงมา ยังไม่เห็นโครงการใดที่ใดคุ้มเลย แม้แต่โครงการสูบกลับที่ลำตะคอง เพราะอัตราค่าไฟฟ้าแพง ทำให้มูลค่าน้ำต้นทุนสูงขึ้น สุดท้ายปลายทางใครจะเป็นผู้จ่ายต้องพูดกันให้ชัดตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่พูดหลังจากเสร็จแล้ว” นายหาญณรงค์กล่าว

นายหาญณรงค์ตั้งคำถามกับกรมชลฯ ถึงประสบการณ์ในการผันน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งต้องทบทวนให้ดี เพราะขนาดโครงการขนาดเล็ก พอทำจริง กลับเจอปัญหาต่างๆ มากมาย ซึ่งมักไม่ได้รวมอยู่ในต้นทุน

ที่ต้องเสี่ยงมากกว่านั้นคือเมื่อเป็นอุโมงค์ จะควบคุมการพังทลายของอุโมงค์ได้แค่ไหน ทำไมไม่ไปดูเรื่องการจัดการน้ำปิงทั้งระบบก่อน”นายหาญณรงค์กล่าว


ส่วนเรื่องการมีส่วนร่วมของชาวบ้านนั้น นายหาญณรงค์กล่าวว่า บริเวณดังกล่าวเป็นเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ซึ่งชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า พวกเขาแทบไม่มีส่วนร่วมที่แท้จริง และไม่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็น

ก่อนหน้านี้ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จังหวัดตากนั้น เป็นการผันน้ำจากแม่น้ำยวมซึ่งเป็นแม่น้ำภายในประเทศ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยน้ำที่ผันจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 1,795 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จากที่มีทั้งหมดประมาณ 2,858 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี โดยกำหนดให้ผันน้ำเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายนถึงมกราคมเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำยวมมีปริมาณมากเกินกว่าความต้องการใช้น้ำในพื้นที่

ทั้งนี้ เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ

การผันน้ำจะไม่เกินระดับการเก็บกักของเขื่อนภูมิพลที่ 260 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (.รทก.) รองอธิบดีกรมชลฯ ให้ความมั่นใจว่า จะไม่มีผลกระทบต่อบ้านเรือนและที่ทำกินที่อยู่สูงกว่า +260 .รทก.ตามข้อกังวลของชาวบ้านแต่อย่างใด ส่วนด้านพื้นที่บริเวณทางออกอุโมงค์ จะได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ด้วยเช่นกัน


นายเฉลิมเกียรติกล่าวอีกว่า กรมชลฯ ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และมีล่ามช่วยแปลภาษากะเหรี่ยงระหว่างการประชุมทุกครั้ง และ จะทำการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและส่งกลับไปยังผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อนำไปชี้แจงต่อประชาชนในพื้นที่ของตนเอง

จากการลงสำรวจพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชน พบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและต้องชดเชยทรัพย์สินรวม 24 แปลง กรมชลฯ จะทำการชดเชยทรัพย์สินให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่อยู่ในพื้นที่ที่ทำการสำรวจ ตามข้อกำหนดอย่างเป็นธรรมที่สุด, นายเฉลิมเกียรติกล่าว

การก่อสร้างอุโมงค์เพื่อผันน้ำ จะเป็นการก่อสร้างอุโมงค์อัดน้ำใต้ผิวดินยาวประมาณเกือบ 2 กิโลเมตร ลอดใต้พื้นที่ที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแม่เงา และอุโมงค์ส่งน้ำความยาว 61.52 กิโลเมตร ลอดใต้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ โซน C ของป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง โดยนายเฉลิมเกียรติยืนยันว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่า สัตว์ป่า พื้นที่อาศัย และพื้นที่ทำกินของประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งนายหาญณรงค์และชาวบ้านไม่เชื่อว่างานก่อสร้างที่ใหญ่โตนี้จะไม่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างที่กล่าวอ้าง

..มึดา นาวานาถ ชาวบ้านท่าเรือ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และสมาชิกเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่าตนเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็น 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 มีชาวบ้านเข้าร่วมราว 40-50 คน พบว่า ชาวบ้านไม่ค่อยได้ทราบข้อมูล เมื่อตนถามเป็นภาษาปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ก็ได้รับคำตอบว่าฟังไม่รู้เรื่อง เพราะวิทยากรพูดเป็นภาษาไทย ที่สำคัญคือไม่มีล่าม

ภาพ/ Transborder News