ปปง. อายัดทรัพย์ '5 แชร์ลูกโซ่' วงเงิน 580 ล้าน
เลขาธิการ ปปง. เผยอายัดทรัพย์ 5 แชร์ลูกโซ่ "แม่มณี-ฟอร์เร็กซ์-รับจ้างกดไลค์กดแชร์-น้าหลุยส์ร่างทรง-แชร์รถยนต์" วงเงินกว่า 580 ล้าน
พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 122562 วันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการธุรกรรมมีมติอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคดีแชร์ลูกโซ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จำนวน 5 คดี ดังนี้
1. คดีแชร์แม่มณี น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์หลอกลวงชักชวนประชาชนโดยทั่วไปผ่านทางเฟซบุ๊กให้ร่วมออมเงิน มีผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ลงทุนสูง ร้อยละ 1,116 – 3,040.45 ต่อปี สุดท้ายไม่สามารถคืนทั้งต้นเงินลงทุนและผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนได้ จนเป็นเหตุให้ผู้ลงทุนได้รับความเสียหายจำนวนมาก ปปง.มีมติอายัดทรัพย์สิน 15 รายการ เป็นที่ดินและบัญชีเงินฝาก 56,690,803.51 บาท ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน
2. คดีแชร์ Forex 3D นายอภิรักษ์ โกฎธิ กับพวก ซึ่งใช้เว็บไซต์ www.Forex-3D.com เป็นช่องทางในการหลอกลวงโฆษณาชักชวนประชาชนทั่วไปให้นำเงินไปลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (FOREX) โดยเสนอผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 60 – 80 ของเงินผลกำไรที่ได้จากการเทรดฟอเร็กซ์ และประกันเงินต้นที่ร่วมลงทุนร้อยละ 100 อีกทั้งยังมีการชักชวนผ่านระบบแนะนำสมาชิกอีกร้อยละ 1-5 จากผลตอบแทนของสมาชิกรายใหม่ ต่อมานายอภิรักษ์ไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนและไม่คืนเงินทุนตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้มีผู้เสียหายจากการร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก ปปง.มีมติอายัดทรัพย์ 9 รายการ เป็นที่ดินและบัญชีเงินฝาก มูลค่า 90,964,778.24 บาท
3. คดีแชร์ NICE REVIEW บริษัท เอนเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์เปิดรับสมัครคนกดไลค์กดแชร์ โดยเรียกเก็บเงินค่าประกันการทำงานก่อนการทำสัญญาจ้างงาน โดยมีการโฆษณาเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทว่าจะให้ค่าจ้างในอัตราที่เพิ่มขึ้น หากผู้สมัครจ่ายค่าประกันการทำงานในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อเข้ามาสมัครและยอมจ่ายเงินค่าประกันการทำงานในอัตราที่สูง ต่อมาผู้ต้องหาได้มีการจ่ายเงิน ค่าทำงานให้แก่ผู้สมัครล่าช้าจนมีการขอยกเลิกสัญญาจ้างงานและขอคืนเงินประกันการทำงาน แต่ผู้ต้องหาไม่ยอมคืนเงินประกันการทำงานให้แก่ผู้สมัครและได้ปิดบริษัทหลบหนีไป โดยในคดีดังกล่าว มีผู้เสียหายจำนวนหลายหมื่นคน ปปง.มีมติอายัดทรัพย์ 35 รายการ ประกอบด้วย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ นาฬิกาและกระเป๋าแบนด์เนม เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร เงินในบัญชีกองทุนเปิด และเงินในบัญชีกองทุนรวม มูลค่า 174,362,095.45 บาทและเงินสกุลต่างประเทศ ธนบัตรดอลลาร์สิงคโปร์ จำนวน 9,000 ดอลล่าร์สิงคโปร์ และธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐ จำนวน 18,800 ดอลล่าร์สหรัฐรวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งสิ้นประมาณ 175,130,375.45 บาท
4. คดีแชร์ น้าหลุยส์ร่างทรง โดยนางพันธุ์ทิพา นัยยทิพย์ กับพวก ได้ชักชวนผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุนเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาผู้มีรายได้น้อย กองทุนเกตุกัญญาฟาร์ม และกองทุนน้าหลุยส์ โดยจัดให้มีการประชุมและพูดชักจูงใจผู้เข้าร่วมประชุมให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยบอกว่าจะนำเงินไปลงทุนสร้างสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศซื้อเครื่องจักรเพื่อการเกษตร และช่วยเหลือผู้ที่ไร้โอกาสทางสังคมโดยอ้างว่าสมาชิกฯ จะได้รับผลตอบแทนในอัตราสูงรวมทั้งมีการนำภาพหญิงชราแต่งกายคล้ายนักบวชมากล่าวอ้างว่าเป็นน้าหลุยส์ หรือหม่อมหลุยส์หรือพันโทพันธุ์ทิพา นัยยทิพย์ซึ่งทำงานในวัง และจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนจนและยังกล่าวอ้างว่าเงินที่นำไปลงทุน จะเอาไปเสียภาษีเพื่อนำเงินในวังออกมาแจกจ่ายให้กับสมาชิกกองทุนน้าหลุยส์ นอกจากนี้เงินที่ได้รับจากสมาชิกทางสมาคมจะนำไปช่วยในงานพระราชพิธีของในหลวง ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก ปปง.มีมติอายัดทรัพย์ 9 รายการ เป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร 788,017.10 บาท
5. แชร์รถยนต์ กรณีน.ส.วาณี วีรศักดิ์ธารา แอบอ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทใหญ่ของต่างประเทศ ชักชวนให้ผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจซื้อขายรถยนต์ ซึ่งอ้างว่ามีโควต้ารถยนต์จากสำนักงานใหญ่ เป็นล็อตจำนวนหลายคัน ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ร้อยละ 10 สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อให้ได้กำไรและแบ่งประโยชน์ให้กับผู้ร่วมลงทุนได้ เมื่อผู้ลงทุนหลงเชื่อและโอนเงินให้ กลับไม่ได้รับรถยนต์ตามที่ตกลงและไม่ได้รับเงินคืน เป็นการหลอกลวงให้ลงทุนในธุรกิจซื้อขายรถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง แล้วนำเงินไปใช้ในการลงทุนธุรกิจค้าขายอะไหล่ ปปง.มีมติอายัดทรัพย์86 รายการ เป็นกรรมสิทธิ์ห้องชุดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 260,295,019.26 บาท