คมนาคมจ่อชง ครม.พรุ่งนี้ ขยายสัมปทานด่วน "บีอีเอ็ม"
คมนาคมเคาะขยายสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือน แลกหนี้ “บีอีเอ็ม” เตรียมเสนอ ครม.พรุ่งนี้ พร้อมระบุยื่นข้อเสนอเพิ่ม ยกเลิกค่าผ่านทางวันหยุดราชการ เริ่มปี 63
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางการยุติข้อพิพาททางด่วน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) โดยระบุว่า ภายหลังจากการเจรจาแนวทางยุติข้อพิพาทร่วมกันอย่างเป็นทางการมามากกว่า 8 ครั้ง ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่า กทพ.จะมีการขยายอายุสัมปทานทางด่วน 3 สัญญา เพื่อยุติข้อพิพาทที่มีร่วมกันทั้งหมดรวม 17 คดี มูลค่าข้อพิพาทกว่า 58,873 ล้านบาท
โดยรายละเอียดของการขยายอายุสัมปทานทางด่วน จะมีการขยายระยะเวลาสูงสุดอยู่ที่ 15 ปี 8 เดือน แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ประกอบไปด้วย 1. ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน จากเดิมจะหมดอายุสัญญาในวันที่ 29 ก.พ.2563 ขยายออกไปหมดอายุสัญญาในวันที่ 31 ต.ค.2578 2.ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D เป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญา 22 เม.ย.2570 ขยายออกไปเป็น 31 ต.ค.2578 และ 3.ต่อสัญญาทางด่วนอุดรรัถยา ช่วงบางปะอิน – ปากเกร็ด หรือส่วน C+ เป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญา 27 ก.ย. 2569 ขยายเป็น 31 ต.ค.2578
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังยื่นข้อเสนอให้บีอีเอ็ม ยกเว้นค่าผ่านทางทางด่วนทุกสัญญา ในวันหยุดตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำให้การขยายสัมปทานครั้งนี้ เกิดประโยชน์กับภาครัฐ และประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยการยกเว้นค่าผ่านทางดังกล่าว จะเริ่มมีผลในปี 2563 ภายใต้สัญญาสัมปทานใหม่ และจะมีผลบังคับใช้ตลอดอายุสัญญา ทั้งนี้เฉลี่ยวันหยุดต่อปีที่จะเกิดขึ้น คาดว่าจะอยู่ที่ปีละ 19 วัน
สำหรับขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ กระทรวงฯ เตรียมเสนอที่ประชุม ครม.ให้พิจารณาแนวทางยุติข้อพิพาทในวันที่ 24 ธ.ค.2562 หาก ครม.อนุมัติ กทพ.จะเร่งเจรจาแนวทางร่วมกับบีอีเอ็ม ตามที่ตกลงไว้ หลังจากนั้นจะนำผลการเจรจาดังกล่าวรายงานคณะกรรมการกำกับตาม ม.43 ก่อนส่งร่างสัญญาไปยังอัยการตรวจสอบ และส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบร่างสัญญาอีกครั้ง คาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.2563 เพื่อให้ทันต่ออายุสัมปทานสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C ที่จะหมดอายุในวันที่ 29 ก.พ.2563
แต่อย่างไรก็ดี สัญญาสัมปทานฉบับใหม่นี้ มีข้อกำหนดด้วยว่า สัญญาจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายถอนฟ้องทุกข้อพิพาทแล้วเสร็จ ดังนั้นภายหลังกระบวนการเจรจาต่างๆ แล้วเสร็จ จนมีการลงนามสัญญาร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายจะต้องเร่งถอนฟ้องทุกคดีข้อพิพาทที่มีอยู่ 17 คดี แบ่งออกเป็นข้อพิพาทที่บีอีเอ็มฟ้อง กทพ. 15 คดี และข้อพิพาทที่ กทพ.ฟ้องบีอีเอ็ม อีก 2 คดี จะต้องถอนฟ้องแล้วเสร็จก่อน 29 ก.พ.2563 เพื่อให้สัญญาใหม่มีผลบังคับใช้
สำหรับเงื่อนไขที่ก่อนหน้านี้ บอร์ด กทพ.เคยเสนอให้พิจารณาโครงการปรับปรุงทางด่วน ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ภายใต้สัญญาสัมปทานฉบับใหม่นี้ เพื่อให้บีอีเอ็มเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหาร กระทรวงฯ พิจารณาทั้งหมดแล้วเล็งเห็นว่าสิ่งจำเป็นคือการยุติข้อพิพาทให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งโครงการก่อสร้าง Double Deck ก็มีความจำเป็นจะต้องพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ดังนั้นจึงไม่พิจารณาก่อสร้างโครงการดังกล่าวรวมในสัญญานี้ ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสม