ยุติปมสัมปทานทางด่วน กระทบ BEM จำกัด  

 ยุติปมสัมปทานทางด่วน กระทบ BEM จำกัด  

ยืดเยื้อกันมานานว่าสัมปทานทางด่วนที่กรมการทางพิเศษ (กทพ.)ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM  ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) หรือ CK จะกลายเป็นค่าโง่ทางด่วน

             หลังจากเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาศาลอนุญาโตตุลาการ ได้มีมติเอกฉันท์ชี้ขาดในคดี ปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช เมื่อปี 2551  ให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหายรวมดอกเบี้ยให้ BEM มูลค่า 9,091 ล้านบาท 

            ขณะที่ก่อนหน้านี้มีคดีบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือ NECL เป็นบริษัทย่อย BEM ยื่นฟ้อง กทพ. ปี 2542 กรณี กรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ รังสิต ทั้งที่บริษัทได้ก่อสร้างทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินไปเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมาให้ กทพ. จ่ายเงินชดเชยดังกล่าวมูลค่ารวม 1,790 ล้านบาท

            นอกจาก 2 คดีดังกล่าวแล้วยังมีอีกหลายคดีที่สองฝ่ายฟ้องร้องกันไปมาจนคดียาวเป็นหางว่าว  17 คดี มูลค่ารวม แสนล้าบาท  ดังนั้นทางบอร์ดกทพ. จึงพยายามไกล่เกลี่ยเงินก้อนโตที่ต้องชำระ ด้วยการ ยื่นขอเสนอขยายสัมปทานทางพิเศษ (ทางด่วน) อุดรรัถยา และทางด่วนศรีรัช โครงข่ายนอกเมือง (ทางด่วนขั้นที่ 2) ให้กับ BEM ซึ่งหมดอายุสัมปทาน (27 ก.พ. 2563) ออกไป 37 ปี

           รวมทั้งปรับสูตรการขึ้นค่าผ่านทางใหม่ โดยให้ปรับขึ้นทุกๆ 10 ปี ในอัตรา 10 บาท และแบ่งรายได้ค่าผ่านทางให้กทพ. 60% ตลอดอายุสัมปทาน เสนอการก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น ช่วงประชาชื่น-อโศก วงเงินลงทุนกว่า 30,000-40,000ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรเพื่อทดแทนการจ่ายค่าเสียหาย ตามคำสั่งศาล

      

  ทางBEM พร้อมที่จะยอมรับข้อเสนอ แต่ด้วยการเอื้อประโยชน์ให้ BEM แลกกับการยุติคดีที่เกี่ยวพันทั้งหมดหลายฝ่ายมองว่าจะเป็นการจ่ายเกินจริงแล้ว สุดท้ายกลายเป็นวลีเด็ด ค่าโง่ทางด่วนที่รัฐต้องนำภาษีประชาชนไปจ่ายจึงทำให้ต้องมีการทบทวนกันใหม่

           สุดท้าย ครม.มีมติเห็นชอบปรับชดเชยความเสียหาย 58,873 ล้านบาท  ด้วยการขยายสัมปทานทางด่วนเส้นหลัก คือ ทางด่วนขั้นที่ 2 ให้อีก 15 ปี 8 เดือน ขณะที่ ทางด่วนส่วน D และ NECL จะถูกรวมเข้าไปในการชดเชยด้วยการยืดสัมปทานอีก 8 ปี และ 9 ปี ตามลำดับ ทำให้ทั้ง 3 เส้นทาง จะไปสิ้นสุดสัมปทานพร้อมๆกันในเดือน ต.ค. 2578

           ขณะเดียวกัน BEM จะได้สิทธิขึ้นค่าทางด่วน 1 ครั้ง (10 บาท) ในปี 2573 แต่ต้องเสนอต่อ ครม.เพื่ออนุมัติ จากนั้นจะเข้าสู่การด้านข้อกฏหมาย ก่อนจะกลับมาให้ ครม.พิจารณาลงนามในเดือน ม.ค. 2563 ทันก่อนทางด่วนขั้นที่ 2 จะหมดสัญญาในเดือน ก.พ. 2563

            ประเด็นข้อสรุปดังกล่าวสร้างความผิดหวังและพอรับได้สำหรับ BEM  ซึ่งความผิดหวังมาจากจำนวนขยายสัญญาสัมปทานที่ลดลงจาก 37 ปี เหลือ 15 ปี 8 เดือน เนื่องจากสัมปทานที่ได้ต่ออายุคิดเป็น 50-60% ของรายได้ทั้งหมดบริษัท  ส่งผลต่อความมั่นคงด้านรายได้จะมีมากขึ้นไปด้วย 

           

ขณะที่ข้อเสนอการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางถือว่าชัดเจนเพราะที่ผ่านมาการปรับขึ้นต้องอิงกับอัตราเงินเฟ้อในช่วงนั้นๆ หากมีแนวโน้มอยู่ในอัตราต่ำทำให้ปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางทำได้ไม่ง่ายที่สำคัญไม่ต้องใช้เงินลงทุนใหม่จำนวนมาก

             นอกจากนี้ยังได้ผลดีจากงบการเงินเพราะการตัดค่าเสื่อมทางบัญชีจะลดลง และสะท้อนไปยังกำไรสุทธิปี 2562 มีโอกาสจะเติบโตสูงขึ้น   ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังพลักดันทำให้ราคาหุ้น BEMทำสถิติสูงสุดแตะที่ 12 บาท ในช่วงเดือนมิ.ย. จากการปรับประมาณการกรอบราคาใหม่ของหลาย  โบรกเกอร์

            ส่วนที่พอรับได้คือเงื่อนไขที่ไม่ต้องรับงานก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น ช่วงประชาชื่น-อโศก วงเงินลงทุนกว่า 30,000-40,000ล้านบาท  จะทำให้ไม่เป็นภาระให้กับ BEMในอนาคตที่ต้องมาลงทุนเพื่อขยายทางด่วนขั้นที่ 2 ที่ไม่ชัดเจนว่าจะช่วยเพิ่มเติมจำนวนการจราจรให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยหรือไม่

           อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวถือว่า BEM ยังได้ประโยชน์อยู่มากพอสมควร และเป็นประโยชน์ต่อแนวโน้มรายได้ในอนาคต ซึ่งต้องไม่ลืมว่ายังมีการให้บริการเดินรถไฟฟ้าที่ให้บริการครบในสายสีน้ำเงินและยังเชื่อมสายสีม่วงเพิ่มเติมอีก ซึ่งบริษัทคาดจำนวนผู้โดยสารโตสูงกว่า 20 % จาก 3.5-3.7 แสนคนต่อวัน มาอยู่ที่ 4.7-4.8 แสนคนต่อวัน

157720717492