เปิดกองทุน'ผลตอบแทนเด่น' โค้งสุดท้ายลงทุน'แอลทีเอฟ'
ปีนี้เป็น “ปีสุดท้าย” ของการได้รับสิทธิประโยชน์หักลดหย่อนภาษี สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ แอลทีเอฟ (LTF) ขณะที่ในปี2563 รัฐบาลได้ออก กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว หรือ เอสเอสเอฟ (SSF) มาแทนที่
จึงเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน สำหรับการตัดสินใจลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
จากข้อมูลบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) พบว่า ปริมาณเงินไหลเข้ากองทุนแอลทีเอฟในช่วงปลายปีนี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน “อยู่ในระดับปกติ” เฉพาะ 10 วันแรกของเดือนธ.ค.ไหลเข้าสุทธิเกือบ 8พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน 6พันล้านบาท แต่หากดูภาพรวม 11 เดือนของปีนี้ เงินไหลออกสุทธิ 3.4 พันล้านบาท ดังนั้นภาพรวมทั้งปี2562 ค่อนข้างเป็นไปได้ว่า"เงินไหลเข้าสุทธิน้อยกว่าปีก่อน"
อย่างไรก็ตาม หากไล่ดูรายเดือน พบว่า เงินที่ไหลออกสุทธิจากกองทุนแอลทีเอฟ ไหลออกในช่วงเดือนมิ.ย.และ ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงเป็นไปได้ว่า เงินลงทุนที่ครบกำหนดแล้ว อาศัยจังหวะที่ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้น แล้วขายกองทุนออกมา
ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี เนื่องจากนักลงทุนยัง "สับสน" ว่า ปีนี้ยังซื้อกองทุนแอลทีเอฟได้ปกติหรือ ทำให้บรรยากาศการลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟปีนี้ไม่ค่อยคึกคัก อีกทั้งพฤติกรรมนักลงทุนคล้ายๆเดิมคือ รอซื้อในช่วงสัปดาห์สุดท้าย หรือ วันสุดท้ายที่ปิดตลาด
ดังนั้น ในช่วงโค้งสุดท้ายของการซื้อกองทุนแอลทีเอฟ ก่อนที่จะหมดสิทธิในการนำไปหักลดหย่อนภาษีในปี 2563 หากใครยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อกองทุนแอลทีเอฟ คงต้องรีบตัดสินใจ ก่อนจะตกขบวน ส่วนใครที่ยังไม่รู้ว่าจะลงทุนกองทุนไหนดี อาจใช้ข้อมูลผลตอบแทนการลงทุน ของกองทุนแอลทีเอฟต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ประกอบการตัดสินใจได้
จากข้อมูลรายงานการจัดอันดับผลตอบแทนกองทุนแอลทีเอฟ ประจำเดือน พ.ย. 2562 ของ “มอร์นิ่งสตาร์” พบว่า กองทุนที่ผลตอบแทนกลับมาเป็นบวก เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีนี้ ที่ผลตอบแทนติดลบ และมีผลตอบแทนสูงสุดในช่วง 1ปี 3 ปี 5 ปี และ 7 ปี ดังนี้
ผลตอบแทนกองทุนแอลทีเอฟ "ย้อนหลัง 1ปี" ให้ผลตอบแทนที่ 3.69-7.07%ต่อปี โดย "กองทุนเปิดแอสเซทพลั สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ หุ้นระยะยาว ( ASP-SMELTF)" ทำผลตอบแทนสูงสุดที่7.07% ณ วันที่ 17 ธ.ค. 2562 มีมูลค่าต่อหน่วยลงทุนอยู่ที่ 8.82 บาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) 102.80 ล้านบาท
พอร์ตการลงทุนของ ASP-SMELTF พบว่า 5 อันดับแรกของสินทรัพย์ลงทุน เป็นการลงทุนหุ้น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK )18.48%,บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส(JMT) 7.28%, บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป(TISCO) 5.63%, บมจ.เน็ตเบย์ (NETBAY) 4.63%และ บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) 4.54%โดยปรับลดน้ำหนักหุ้น JMT เพียงตัวเดียว และเพิ่มน้ำหนักหุ้นที่เหลือทั้งหมด(ข้อมูล ณ เดือนต.ค.2562)
ผลตอบแทนกองทุนแอลทีเอฟ "ย้อนหลัง 3ปี"ให้ผลตอบแทนที่ 5.36-7.05% ต่อปี โดย “กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว พลัส (SCBLT2)” ทำผลตอบแทนย้อนหลัง3ปี สูงสุดที่ 7.05%ต่อปี ณ วันที่ 17 ธ.ค. 2562 มีมูลค่าต่อหน่วยลงทุนที่ 27.63บาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 7.57 พันล้านบาท
พอร์ตการลงทุนของ SCBLT2 พบว่า 5 อันดับแรกของสินทรัพย์ลงทุนเป็นการลงทุนหุ้น บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) 8.46% , SAWAD 7.37%, บมจ.ปตท.(PTT) 6.28%, บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC )5.43% และธนาคารทหารไทย ( TMB) 4.79% โดยปรับลดน้ำหนักหุ้นPTTเพียงตัวเดียวและปรับเพิ่มน้ำหนัก AOT กับ SAWAD ส่วนที่เหลือคงสัดส่วนเดิม (ข้อมูล ณเดือนต.ค. 2562)
ขณะที่กองทุนแอลทีเอฟผลตอบแทน "ย้อนหลัง 5ปี" ให้ผลตอบแทนที่ 2.88-4.40%ต่อปี โดย "กองทุนเปิด เค 20ซีเล็คท์ หุ้นระยะยาวปันผล (K20SLTF)" ทำผลตอบแทนสูงสุดที่ 4.40%ต่อปี ณ วันที่ 17 ธ.ค. 2562 มีมูลค่าต่อหน่วยลงทุนที่ 16.37 บาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.65 หมื่นล้านบาท
พอร์ตการลงทุนของ K20SLTF พบว่า 5 อันดับแรกของสินทรัพย์ลงทุน เป็นการลงทุนหุ้น TMB1 11.41% , AOT 9.91%, PTT 8.96% ,TMB 8.81%และ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) 6.94% โดยปรับลดน้ำหนักหุ้น PTT กับ TMB ปรับเพิ่มน้ำหนัก TMBกับAOT และขยับสัดส่วน CPALLแทน KBANK ตกอันดับไป(ข้อมูล ณเดือน ต.ค.2562)
สำหรับผลตอบแทนกองทุนแอลทีเอฟ "ย้อนหลัง7ปี" ให้ผลตอบแทนที่ 5.01-7.22%ต่อปี และกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด คือ "กองทุนเปิดบรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาวยูโอบี (CG LTF)"ทำผลตอบแทนสูงสุดที่ 7.22 % ณ วันที่17 ธ.ค. 2562 มีมูลค่าต่อหน่วยลงทุน 55.60 บาทต่อหน่วย มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.25 หมื่นล้านบาท
พอร์ตการลงทุนของ CG LTF พบว่า 5 อันดับแรกของสินทรัพย์ลงทุน เป็นการลงทุนหุ้น UOBT 12.94 %, CPALL 8.23%,PTT 7.60 %, AOT 6.74% ,และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) 6.72% โดยปรับลดน้ำหนัก PTTเพียงตีวเดียวที่เหลือปรับเพิ่มน้ำหนักทั้งหมด (ข้อมูล ณ เดือน ต.ค 2562)