'สมาคมประกันชีวิต' ตั้งรับ '5 โจทย์ใหญ่' ท้าทายธุรกิจปี 63
ธุรกิจประกันชีวิตเผชิญภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษในปีที่ผ่านมา แม้สถานการณ์ปี2562 จะดีขึ้น แต่เบี้ยประกันรับรวมแทบไม่เติบโต
ขณะที่แนวโน้มปี2563 ธุรกิจยังคงต้องเผชิญความเสี่ยง และปัจจัยท้าทาย "หนักหน่วง" กว่าเดิม ทั้งจากสถานการณ์การเงินการลงทุน และกฎเกณฑ์ใหม่ๆที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีหน้า
"นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์" นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในปี2563 ธุรกิจประกันชีวิตต้องปรับตัวพร้อมรับ “ 5 โจทย์ความท้าทาย" ได้แก่ 1. มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 17 2. การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล 3. พ.ร.บ.ประกันชีวิตฉบับใหม่ 4. ภาวะดอกเบี้ยต่ำ และ5. สังคมสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
โดยหนึ่งในปัจจัยทีมีความท้าทายที่สุด หรือ "One of the biggest challenge "คือ มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 17 ซึ่งจะส่งผลกระทบมากสุด ด้วยความยากของมาตรฐาน เช่น การบันทึกรายได้ซึ่งเคยรับรู้ทั้งหมดในปีเดียว จะต้องมีการกระจายออกไปตามจำนวนปีที่สัญญารับประกันมีผลคุ้มครอง หากเป็นกำไรต้องกระจาย แต่ถ้าขาดทุนต้องใส่ทั้งก้อน จะเห็นได้ว่ายอดกำไรในงบการเงินจะดูลดลงเป็นต้น อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการทำระบบตั้งแต่400ล้านบาทขึ้นไป ขณะที่จำนวนที่ปรึกษาหรือบุคคลกรในองค์กรที่เข้าใจเรื่องนี้ มีเพียงพอรองรับหรือไม่
อย่างไรก็ตาม IFRS17 เลื่อนใช้อีก3ปีหรือใช้ในปี 2567 เพื่อให้ธุรกิจมีเวลาเตรียมความพร้อม ด้วยเป็นมาตรฐานบัญชีใหม่ที่มาจากต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการแปลโดยสภาวิชาชีพบัญชี คาดว่าภายในสิ้นปี2562 น่าจะแปลออกมาเป็นเวอร์ชั่นไทย “TFRS 17” ได้แล้วเสร็จ รวมถึงรอดูโมเดลต่างประเทศที่สำเร็จก่อนแล้วทำตาม เพราะในปี2562 บริษัทไหนที่ลองทำแล้วจะพบว่า มีรายละเอียดมากที่มีคำถาม ไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไร
ส่วนเรื่อง "การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล" เป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายตามมาติดๆ เพราะจะเริ่มมีผลบังคับใช้พ.ค.ปี2563 ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าวันหนึ่งลูกค้ารายนั้น เลิกเป็นลูกค้ากับบริษัท และไม่ให้บริษัทเก็บข้อมูลจะต้องทำอย่างไร ต้องมีระบบป้องกันข้อมูลรั่วไหลที่ดี รวมถึงผู้บริโภคต้องตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง
ในเรื่องนี้ทางสมาคมฯกำลังเร่งหาที่ปรึกษา เข้ามาทำการศึกษาทั้งทางด้านกฎหมาย การบริหารความเสี่ยง การเก็บและดูแลข้อมูลในแต่ละกระบวนการทางธุรกิจ ต้องทำอะไร อะไรคือสิ่งที่ต้องขอหรือไม่ต้องขอคำยินยอมจากลูกค้า ในยุคที่ทุกคนพยายามทำ “data analytics” สมาคมฯ จะเป็นคนทำระบบตรงกลางที่เป็นไปตามเงื่อนไขการเปิดเผยข้อมูลตามพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล แต่ขณะนี้มีหลายบริษัทที่มีความพร้อม ทำระบบของตัวเองไปก่อนแล้ว
สำหรับ"พ.ร.บ.ประกันชีวิตฉบับใหม่" ความคืบหน้าเรื่องนี้ ร่างกฎหมายก็อกแรกผ่านไปแล้ว รอก๊อก2 และก็อก 3 โดยทางสมาคมฯก็รอส่งเสียงตอบรับทางคณะกรรมการกฎหมาย โดยยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา คือ “ ประกาศกฎเกณฑ์การลงทุน” ด้วยภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำแบบนี้ ทางสมาคมฯ เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดโอกาสการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับบริษัทประกันชีวิต ให้ลงทุนเปิดกว้างขึ้น และยืดหยุ่นมากขึ้น การลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการยอมรับความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงที่แตกต่างกันของแต่ละบริษัท มองว่าหากคปภ.กังวล อาจใช้วิธีกำหนดเป็นวงเงินลงทุนรวม แล้วค่อยๆเปิดให้บริษัทประกันมาขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไปก็ได้
แน่นอนว่า หากโจทย์ดังกล่าวได้ถูกปลกล็อก จะช่วงแก้โจทย์เรื้อรังในปีหน้าอย่าง "ภาวะดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก" ที่กดดันธุรกิจประกันชีวิตมาตั้งแต่บอนด์ยิลด์ปรับตัวต่ำสุดเมื่อปี2559 จนกระทบกับการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตให้เริ่มชะลอตัวลง จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วง2-3ปีที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเพื่อความอยู่รอด ธุรกิจประกันชีวิตยังต้องมีการปรับพอร์ตสินค้า มาเน้นประเภทความคุ้มครองมากขึ้น และปรับพอร์ตการลงทุนแสวงหาการลงทุนให้สอดคล้องกับผลตอบแทนที่สัญญาไว้กับผู้เอาประกัน
ขณะที่ "เมกะเทรนด์" ที่ยังคงเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญให้ธุรกิจประกันชีวิตในปีหน้าอย่าง"สังคมสูงวัย" เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และ"การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว"เข้ามาดัสรัปหลายอุตสาหกรรมทำให้ธุรกิจประกันชีวิตต้องปรับตัวให้ทัน เช่นกัน
“นุสรา” มองว่า โจทย์สุดท้ายนี้ เป็นพลังบวกสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมประกันชีวิตในอนาคต แม้คนแก่จะมากขึ้น แต่คนก็เริ่มตระหนักถึงการดูแลสุขภาพและเริ่มเห็นประโยชน์ของการทำประกันสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันชีวิต ต้องทำความเข้าใจความต้องการลูกค้าคืออะไร เช่น คนกลุ่มนี้จะมีความต้องการใช้เงินหลังวัยเกษียณ การดูแลสุขภาพ การรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งบ้านพักคนชรา ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตสามารถเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าได้ แต่ละบริษัทต้องถามตัวเองว่า เตรียมตัวพร้อมรับความต้องการเหล่านี้แล้วหรือยัง
อีกสิ่งที่ธุรกิจประกันชีวิต ต้องทำคือ การนำดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งดิจิทัลช่วยปรับปรุงคุณภาพในการให้บริการดีขึ้นกว่าเดิม ทั้ง ความรวดเร็ว การเชื่อมโยงถึงกัน ความง่ายในการใช้บริการต่างๆ อีกทั้ง ช่วยประหยัดต้นทุนค่า ปลอดภัยมากขึ้น และช่วยลดเคลมฉ้อฉลได้ด้วย
“ตอนนี้ จะเห็นธุรกิจประกันชีวิตเข้ามาขยายช่องทางขายประกันออนไลน์ ทั้งผ่านไลน์ ผ่านมือถือ การชำระเบี้ยหรือจ่ายเคลมสินไหมผ่านคิวอาร์โค้ดหรือพร้อมเพย์ ซึ่งคนใช้บริการเยอะขึ้น แต่ในส่วนธุรกิจประกันชีวิต ยังขึ้นกับว่าลูกค้าจะปรับตัวรับได้มากน้อยแค่ไหน คงไม่เร็วเท่าแบงก์ ต้องใช้เวลาให้คนคุ้นเคยกับการใช้ ”