'สศก.' เมินแล้ง หวัง 'จีดีพีเกษตร' ปี 63 โต 2-3%
แม้แนวโน้มสภาพภูมิอากาศของไทยในปี 2563 คาดกันว่าจะมีปริมาณฝนตกจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่น้ำในเขื่อนมีน้อย ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก รวมถึงแนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่าและปัญหาสงครามทางการค้า แต่มีการประเมินว่าภาคเกษตรไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัว
ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 63 ยังจะขยายตัว 2.7-3.7% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 จะอยู่ที่ 3.4% ดังนั้น สศก. จึงหวังว่าภาวะเศรษฐกิจ (จีดีพี) การเกษตรในปี 2563จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2– 3%
สาขาพืช คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.1–3.1% มีปัจจัยบวกจากนโยบายที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่น การบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำ การพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร แผนการผลิตการตลาดข้าว ครบวงจร การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ระบบส่งเสริม เกษตรแบบแปลงใหญ่ การส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ การพัฒนาอาชีพชาวสวนยาง การปลูกพืชแซม ประกอบกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวและมันสำปะหลัง
ทั้งนี้พืชที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ แต่ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน จะมีผลผลิตลดลง ซึ่งการเพาะปลูกพืชในปี 63 ยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการระบาดของศัตรูโรคพืช ด้วย
ด้านราคาพืชสำคัญที่เกษตรกรขายได้ในปี 2563 จะอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย ทุเรียน มังคุดและเงาะ เนื่องจากความต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ ที่รับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP และ GMP ส่วนพืชที่คาดว่าราคาจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ข้าว มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา น้ำมันปาล์ม เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้า สำหรับพืชที่คาดว่าราคาจะปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน เนื่องจากคาดว่าผลผลิตจะลดลง
ด้านการส่งออกที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ มังคุด เงาะและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสินค้ามีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาด
สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.3-3.3% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายการเลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ โคเนื้อ น้ำนมดิบ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตาม สถานการณ์ด้านสภาพอากาศที่อาจมีความแปรปรวน การเกิดโรคระบาดในสัตว์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในประเทศ เพื่อนบ้าน ราคาน้ํามันและวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ยังคงมีความผันผวน และอาจส่งผลต่อการผลิต
ด้านราคาที่เกษตรกรขายไดเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 โดยราคาไก่เนื้อและน้ำนมดิบคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีการวางแผนการผลิต ไก่เนื้อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ด้านการการส่งออก คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดรับกับความต้องการบริโภคของตลาด โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ที่จะมีการจัดโอลิมปิก
สาขาประมง คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.5-2.5% โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง คาว่าผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2562 เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีขึ้น ด้านราคากุ้งขาวแวนนาไม ที่เกษตรกรขายได้ คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
ในขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวตามความต้องการของประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่นสหรัฐ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม สินค้าประมง อาจต้องประสบกับปัญหาเช่น มาตรการการกีดกันทางการค้า เงินบาทแข็งค่า
สาขาบริการทางการเกษตรคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5–3.5% เนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มความต้องการใช้บริการเครื่องจักรกล เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นจากที่ภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกร รวมกลุ่มเพื่อใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม สนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาเครื่องจักรทดแทนแรงงาน
ส่วนสาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัว 1.2-2.2 เนื่องจากความต้องการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ที่มีอย่างต่อเนื่อง และความต้องการรังนกนางแอ่นของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากตลาดสิงคโปร์และจีน