เช็คไมล์โกอินเตอร์ ฝันใหญ่ที่เป็นไปได้ของ ‘อิ๊กดราซิล’

เช็คไมล์โกอินเตอร์ ฝันใหญ่ที่เป็นไปได้ของ ‘อิ๊กดราซิล’

เพราะมีความฝันตั้งแต่แรกว่าต้องพาธุรกิจไปให้ไกลถึง “ตลาดโลก”  และตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาก็ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ในเวลานี้ “อิ๊กดราซิล กรุ๊ป” พร้อมแล้วที่จะบุกอย่างจริงจัง

“ธนัช จุวิวัฒน์” ซีอีโอ/ไดเร็คเตอร์ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นิยามว่าธุรกิจที่เขาทำอยู่ก็คือ “ครีเอทีฟ ดิจิทัล คอนเทนท์” ด้วยความที่ทำและอยู่กับธุรกิจนี้มายาวนาน จึงรู้ดีว่าธุรกิจนี้เติบโตได้ดี ที่สำคัญประเทศไทยมีคนเก่งจำนวนไม่น้อย ดังนั้นความคิดที่จะไปปักธงที่ตลาดโลกจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หมายเหตุว่าเวลานี้รายได้ของบริษัทเวลานี้ถึง 70% มาจากตลาดต่างประเทศ หลักๆคือจีนและญี่ปุ่น

ทว่าความท้าทายบนเส้นทางไปสู่โกลบอลเป็นเรื่องของทุน อย่างไรก็ดีถ้าเทียบกับรายอื่นๆในตลาดโลกแล้วอิ๊กดราซิล กรุ๊ปถือว่ายังเล็ก ดังนั้นต้นทุนก็ยังต่ำอยู่ ยังไปแข่งได้สบายอยู่

ธนัชบอกว่า “พอเห็นข้อได้เปรียบตรงนี้ ถามว่าแล้วไม่คิดจะทำหรือ” ยอมรับว่าก็อยากเป็นตัวแทนของประเทศ จึงนำไปสู่การเตรียมพาบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ช่วงปลายปีนี้

"การเข้าตลาดฯเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้ทุน ทั้งการตัดสินใจต่างๆก็จะมีกรรมการคอยดูแล ความเสี่ยงถูกจำกัดลง ตัวผมเองไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจทั้งหมดก็เป็นส่วนดี ข้อดีนอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของแบรนด์อิมเมจ ทำให้ลูกค้าต่างประเทศกล้าจ้าง เพราะบริษัทเราอยู่ในตลาดฯมีความน่าเชื่อถือ เวลาไปคุยธุรกิจมันก็ง่ายขึ้น"

เขามองว่าการเป็นบริษัทในตลาดฯ และการขยายธุรกิจไปในตลาดโลกยังส่งผลทำให้พนักงานของบริษัทมีความ “มั่นใจ” มากขึ้น ในเวลาเดียวกันก็ “ดึงดูด” คนใหม่ ๆ ทั้งคนไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างดี

"การขยายธุรกิจไปต่างประเทศเป็นการสร้างแบรนด์ เพราะเวลาหัวทองคุยกับหัวทองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หัวทองคุยกับหัวดำก็อีกเรื่องหนึ่ง ผมมองเรื่องนี้เป็นเรื่องของแบรนด์ ความน่าเชื่อถือ เรื่องของคุณภาพ บริษัทเราเองก็อยากได้คนเก่งหรือทาเลนท์ที่เป็นคนต่างประเทศมาร่วมงานเหมือนกัน หรือหากพนักงานคนไทยอยากเก่งขึ้นเขาก็ไปเรียนรู้ในประเทศที่เราขยายธุรกิจไปก็ได้ เมื่อบริษัทเราอินเตอร์มากขึ้น แคเรียพาร์ทก็จะกว้างขึ้น ทำให้คนอยากมาทำงานกับเรามากขึ้น บริษัทก็มีทาเลนท์ใหม่ๆมากขึ้น ความเสี่ยงด้านบุคลากรก็จะหายไป"

157744877429


สเต็ปของอิ๊กดราซิล กรุ๊ป
ในวันนี้เป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่? คำตอบก็คือ ทุกอย่างเป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้ อย่างไรก็ดีทางข้างหน้าค่อนข้างใหญ่และยาวไกลมาก ซึ่งเขาใช้วิธีค่อย ๆซอยระยะการเดินทางออกเป็นช่วง ๆ เมื่อเดินมาถึงจุดนี้แล้วก็ค่อยๆขยับเป้าออกไปเรื่อยๆ

" ในการวางแผนเราจะคิดทั้งแง่บวก แง่ลบ เหมือนต้องคิดให้รอบคอบเสร็จสรรพว่าเราป้องกันความเสี่ยงได้ดีหรือไม่ ความเสี่ยงมันมีอะไรบ้าง แต่อย่างที่บอกพอเป็นบริษัทในตลาดฯ เราก็จะมีคณะกรรมการจะมาช่วยวางแผน มันก็จะไม่เสี่ยงมาก"

ภารกิจที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษในฐานะซีอีโอคือ? เขาบอกว่าเวลานี้เขาจำกัดตัวเองว่าเป็น “พ่อบ้าน” ดูภาพรวมทุกอย่าง เพราะที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตแบบเอสเอ็มอี ดูแลกันเหมือนคนในครอบครัวขณะที่ในวันนี้ครอบครัวมีขนาดใหญ่ขึ้น จะใช้วิธีการดูแลแบบเดิมคงไม่ได้

"เวลานี้งานแต่ละหน่วยจะมีคนที่รับผิดชอบดูแลแทนแล้ว หน้าที่ของผมในวันนี้ก็คือการต้องกำหนดไดเร็คชั่น ทิศทางธุรกิจว่าจะต้องเดินไปทางไหน ซึ่งไลฟ์สไตล์ของผมชอบหาความรู้ในสื่อต่างๆที่ว่าด้วยเทคโนโลยีและคอนเทนท์ต่างๆ เพื่อให้รู้ว่ามีอะไรที่เราทำและไม่ได้ทำ มองหาเทรนด์ใหม่ ๆ เช่น 5 จี ดูว่ามันจะทำให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

“ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” อาจเป็นกระแสที่เพิ่งฮอตในเมืองไทยไม่กี่ปี แต่ธนัชบอกว่าที่ผ่านมาเขาพยายามดิสรัปธุรกิจทุก ๆวัน โดยพยายามมองว่าในอนาคตจะโดนผลกระทบอะไรบ้าง แล้วรีบปรับเปลี่ยนตัวเองก่อนที่จะมีคนอื่นมาดิสรัป

"ตัวผมเองชอบจินตนาการ และผสมผสานระหว่างครีเอทีฟกับจินตนาการ จับแมตท์ภาพนี้กับภาพนี้ ถ้าภาพนี้เจอกับภาพนั้นน่าจะเกิดแบบนี้  ทำให้คาดเดาจินตนาการของคนอื่นได้ถูก เมื่อเห็นว่าอะไรที่ไม่มีเราก็ทำ หรืออะไรที่ทำไปแล้วแต่สู้คนอื่นไม่ไหวก็ไม่ต้องทำ"

ส่วนตัวเขามองว่า เทคโนโลยี 5 จีส่งผลกระทบธุรกิจในด้านบวกแทบทั้งสิ้น คือเอื้อให้การทำงานทำได้อย่างรวดเร็วและสะดวก ยกตัวอย่างเช่น ในวันนี้บริษัทเขาสามารถทำงานและส่งงานให้ลูกค้าทางออนไลน์ได้ทั้งหมด เป็นต้น

"จะมีมีเดียใหม่ๆเกิดขึ้นแน่นอน เช่น มีความเป็นไปได้ของการได้เห็นภาพอยู่กลางอากาศ  ซึ่งผมมีทีมเกมที่ทำหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีรอไว้อยู่แล้ว ทุกอย่างที่เราเคยเห็นในหนังไซไฟในอดีต เดี๋ยวนี้มันก็เกิดขึ้นแล้ว ผมว่ามีความเป็นไปได้ทั้งหมด วันนี้อาจยังไม่เกิดแต่วันข้างหน้ามันอาจจะเกิด  ระการสำคัญก็คือ บริษัทเราทำได้ก่อนหรือเปล่า ต้องทำอาร์แอนด์ดี ทำอาร์แอนด์ไอ หรือรีเสิร์ซแอนด์อินโนเวชั่น เมื่อดีเวลลอปแล้วก็ต้องดูว่าอันไหนที่เป็นอินโนเวชั่น มองต่อว่ามันจะแตกหรือต่อยอดเป็นอะไรได้อีก"

จะทำให้จำนวนคู่แข่งเยอะขึ้นหรือไม่? เขาบอกว่า การเข้าสู่ธุรกิจนี้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีคนมาว่าจ้างให้ทำงานในหลักล้าน ไปจนถึงระดับพันล้าน หัวใจสำคัญจึงเป็น “ความเชื่อมั่น” ถ้าลูกค้าไม่เคยเห็นผลงานย้อนหลัง 5 ปี 10 ปี เพิ่งทำแค่ปีเดียว..บอกเลยว่ายากมาก

"ธุรกิจนี้มีเงินอย่างเดียวเข้าไม่ได้ แค่มีเงินจ้างคนเก่ง ๆมาทำงานแล้วยังไงต่อ เปรียบก็เหมือนการเตะฟุตบอลถ้าจะเก่ง มันต้องซ้อมกันเยอะๆ"

157744879094

ส่วนกระแสที่หวั่นกันว่าเอไอจะมาแทนที่คนทำงานหลายอาชีพนั้น เขามองว่ายังคงห่างไกลจากงานครีเอทีฟ อย่างไรก็ดี ในเวลานี้เขาก็นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในงานที่ต้องใช้คนจำนวนมากเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น ส่วนงานที่ครีเอทีฟก็อาจนำเอไอเข้ามาผสมผสานเพื่อสร้างงานที่มีคุณภาพ สร้างความแตกต่างที่โดดเด่นยิ่งขึ้น

“เราจะไม่ได้จำกัดตัวเอง เพราะมันคือเรื่องของการอยู่รอด และเราจะหนีรอดได้อย่างไรมากกว่า จะนำเอาข้อดีอะไรของเอไอมาใช้มากกว่า”

สำหรับเขาสำคัญที่สุดคือต้องลงมือทำจริงๆ ระหว่างนั้นก็ต้องมองหาวิธีเอาตัวรอดว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาตัวเขาเองก็ค้นหามาตลอดว่าชอบอะไรกันแน่  สุดท้ายก็เป็นธุรกิจที่ทำอยู่ และก็คิดต่อว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจเติบโต ด้วยความที่เรียนจบนิเทศศาสตร์การทำธุรกิจก็เลยท้าทาย 

"ผมใช้วิธีค่อยๆเรียนรู้ว่าคนเก่ง ๆในแต่ละธุรกิจเขาทำอย่างไร เราต้องไปเรียนรู้ตรงไหนถึงจะเก่งได้แบบเขา  ไม่แค่ธุรกิจที่ทำอยู่ผมไปดูว่าธุรกิจอื่น ๆทำอะไรกันบ้าง มีปัญหาอย่างไร

ที่ผ่านมาผมลงเรียนหลายคอร์สเลยได้พบกับนักบริหาร ซีอีโอเก่งๆหลายท่านก็ได้รู้ถึงแนวคิด รู้ว่าเขาทำอะไรมาบ้าง พอเห็นคนเก่งเราก็จะรู้สึกว่าเราไม่เก่ง  และคิดหาทางว่าจะทำอย่างไรให้เราเก่ง  ทำอย่างไรก็ไม่เก่งก็ต้องทำให้เก่ง เราต้องผลักดันตัวเอง ผมชอบการเรียนรู้ ชอบการไปเจออะไรใหม่ๆ"