'ปธ.ฎีกา' เผย เนติบัณฑิต พัฒนาสอบวิชากม.อังกฤษ ยกระดับไทยในอาเซียน
"ปธ.ฎีกา" ระบุ หลังประชุมนัก กม.อาเซียน ปลายปี 62 เนติฯไทยเอาด้วย พัฒนาหลักสูตร สอบ กม. ยกสิงค์โปร์ไปไกล มั่นใจร่วมสร้างนัก กม.พิทักษ์ประโยชน์ยุคอาเซียนโต
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 62 นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ได้กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังจากที่ศาลฎีกาของไทย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติสมาคมนักกฎหมายอาเซียน (ALA) และการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน (CACJ) ครั้งที่ 7 เมื่อช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า สมาคมนักกฎหมายในอาเซียนได้มาประชุมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนวิชาการทางด้านกฎหมายเพื่อพัฒนานักกฎหมายอาเซียน และศาลต่างๆ ในอาเซียน พร้อมทั้งประธานศาลสูงหรือประธานศาลฎีกา 10 ประเทศในอาเซียน ก็มาร่วมประชุมในนามสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน หรือ Council of ASEAN Chief Justices (CACJ) ซึ่งแต่ละศาลต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างความร่วมมือในการทำงานศาล โดย CACJ เป็นโหมดความร่วมมือของศาล เรียนรู้ระบบกฎหมายซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกันในการดำเนินคดี เช่น คดีเกิดประเทศหนึ่ง แล้วจำเลยอยู่อีกประเทศหนึ่งจะมีการส่งหมายให้กันได้หรือไม่
"ตรงนี้เป็นอีกขั้นหนึ่งของเรื่องการบังคับคดี หรือสมมุติว่ามีคำพิพากษาอีกประเทศหนึ่งจะไปบังคับให้อีกประเทศหนึ่งได้หรือไม่ ตัวอย่างการยึดทรัพย์ ก็มีการเจรจาแต่ยังไม่ได้ข้อยุติใน 10 ประเทศ ตรงนี้จึงเริ่มเพียงการทำทวิภาคีในเรื่องศาลยุติธรรมที่จะร่วมกันส่งหมายเท่านั้น เรื่องการยึดทรัพย์นั้นเรายังไปไม่ถึงเพราะเรื่องสภาพบังคับ ที่ไปบังคับเอาทรัพย์สินอันนี้หมายถึงอำนาจอธิปไตย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าเรื่องการช่วยการส่งหมาย" นายไสลเกษ กล่าว
นายไสลเกษ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่ร่วมมือกันคือพัฒนานักกฎหมาย พัฒนาคุณภาพนักศึกษาวิชากฎหมาย ปัจจุบัน CACJ มีการตั้งสถาบันกฎหมายอาเซียนที่ตั้งฟิลิปปินส์ เรากำลังทำรายละเอียดอยู่ว่าจะอบรมเรื่องอะไร และประเทศสิงคโปร์พยายามยกระดับเป็นศูนย์กลางอนุญาโตตุลาการ หรือไกล่เกลี่ยทางเลือกซึ่งเรามีความร่วมมือการฝึกอบรมผู้พิพากษา ซึ่งตนมองว่าเขาโอเคและมีความสุขที่มาอบรมผู้พิพากษา ขณะที่ปัจจุบัน CACJ มีการตั้งกลุ่มทำงานขึ้นมาประกอบด้วยสมาชิกจากศาลทุกประเทศ ซึ่งแต่ละกลุ่มทำงานจะไปพัฒนางานแต่ละด้าน โดยประเทศไทยได้รับมอบหมายประธานกลุ่มทำงานอาเซียนพลัส (+) ซึ่งเป็นเรื่องในศาล ก็ได้เสนอไปว่าควรจะมีอาเซียน +3 สำหรับ "+3" คือจีน , ญี่ปุ่น ,เกาหลี ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนากว่าไทยในกระบวนการยุติธรรม ถ้าดึงเข้ามาในอาเซียน องค์การศาลก็จะพัฒนาขึ้น และเรายังมองว่ามีอาเซียนพลัสอย่างอื่นอีก อาจเป็นเอเซียแปซิฟิคก็เป็นอีกลำดับต่อไป และต่อไปก็จะมีศาลสูงอาเซียน บวกกับองค์กรอื่นๆ เป็นลำดับต่อไป
"ขณะนี้เราหนีไม่พ้นแล้วเมื่ออาเซียนเริ่มแข็งแรงแบบนี้ เราเองเสียอีกจะต้องพัฒนานักกฎหมายให้สามารถทำงานร่วมกับนักฎหมายหรือศาลในอาเซียนได้ โดยที่ประเทศไทยจะสามารถรักษาประโยชน์ของประเทศไว้ได้สมบูรณ์แบบ ผมว่าวิวัฒนาการสิ่งแรกที่เกิดขึ้น ในฐานะที่ผมเป็นนายกเนติบัณฑิตยสภาในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีข้อเสนอไปแล้ว และเนติบัณฑิตยสภาฯ ก็บอกมาว่าเอาด้วยคือต่อไปนี้จะให้มีการสอบวิชาอังกฤษกฎหมายในประเทศไทยเป็นครั้งแรกซึ่งปีนี้เริ่มแล้ว ไม่อย่างนั้นเราสู้อาเซียนไม่ได้ ตอนนี้เราแพ้สิงคโปร์ อินโดนีเซียเก่งขึ้นโตวันโตคืน แต่เมื่อเราเปลี่ยนแปลงแล้วผลจะเกิดมหาศาล พอบังคับว่าสอบเนติบัณฑิตต้องสอบอังกฤษกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศต้องปรับใหม่หมดไม่งั้นแพ้ เด็กจะสอบเนติบัณฑิตไม่ได้ ตอนนี้มี 3 มหาวิทยาลัยที่เข้มแข็ง คือธรรมศาสตร์ , จุฬาฯ และเอแบค เพราะผู้ช่วยผู้พิพากษาก็สอบอังกฤษกฎหมาย ตรงนี้จะต้องเป็นไฟท์บังคับ" นายไสลเกษ กล่าว
นายไสลเกษ กล่าวทิ้งท้ายว่า คนจบต่างประเทศจะได้เปรียบไม่มากเพราะกฎหมายหลักเป็นกฎหมายไทย ตอนนี้เราเริ่มต้นในกฏหมายสารบัญญัติภาษาอังกฤษมาแล้ว 10 คะแนนจาก100 คะแนน โดยCACJ จะยกระดับการศึกษาในอาเซียนให้แข็งแรงขึ้น แล้วประเทศไทยจะได้ประโยชน์