'สิงห์-ช้าง' ย้ายสังเวียน จากน้ำเมาสู่ฟู้ดบิซิเนส
ในรอบปีที่กำลังผ่านพ้น เกิดปรากฎการณ์ "ฮุบ" ธุรกิจร้านอาหาร จากค่ายน้ำเมา 2 รายใหญ่ "สิงห์ - ช้าง" ที่เริ่มย้ายสังเวียนการแข่งขัน สู่ "ฟู้ด บิซิเนส" มูลค่าตลาดรวมหลายแสนล้านอีกชิ้นเค้กที่หอมหวาน
บนสมรภูมิธุรกิจ “สิงห์-ช้าง” ถือเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กันมาโดยตลอด และแลกกันหมดต่อหมัดในตลาดน้ำเมาสีอำพันหรือ “เบียร์” มูลค่า “แสนล้านบาท” ฝ่าย “สิงห์” ภายใต้บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษา “บัลลังก์” เบอร์ 1 เอาไว้ ขณะที่ภารกิจของ “ช้าง” แห่งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ของตระกูล “สิริวัฒนภักดี”ต้องไล่ล่าและ “โค่นแชมป์” เพื่อก้าวไปเป็น “ผู้นำ” ตลาดบนฐานทัพไทยให้ได้ ตอกย้ำเจ้าแห่งเบียร์เบอร์ 1 ของภูมิภาคอาเซียน
แต่เกมกำลังเปลี่ยนไปอีกสเต็ป และการขับเคี่ยวแข่งขันในเวที “เครื่องดื่ม” ไม่พอ แต่ต้องขยายสนามรบสู่ “สังเวียนอาหาร”ด้วย เพราะกินอาหารยังไงก็ต้องดื่มน้ำตาม ทั้ง 2 เป็นสินค้าที่ Combination กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเสริมแกร่งด้านอาหารจึงตอบความครบวงจรธุรกิจอย่างยิ่ง
ปีนี้ 2 ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มมีการซื้อกิจการที่สำคัญ เพื่อเสริมแกร่งธุรกิจ โดยไทยเบฟ ส่งบริษัทลูก “เฟรเซอร์แอนด์นีฟ”หรือเอฟแอนด์เอ็น ผนึกพันธมิตรร “แม็กซิมส์ กรุ๊ป” ปิดดีลซื้อกิจการร้านกาแฟเบอร์ 1 ของโลก “สตาร์บัคส์ ในประเทศไทยที่ทำมา 20 ปี นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนมือ เพราะเดิม แม็กซิมส์ ถือสิทธิ์บริการแฟรนไชส์สตาร์บัคส์ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอยู่แต่ เพียงแต่เพิ่ม “พันธมิตร” ใหม่มาสร้างความแข็งแกร่งและ win win ด้วยกัน
ปัจจุบันการบริโภคกาแฟนอกบ้าน หรือที่ร้าน กลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นของคนเมืองไปแล้วและสร้างการเติบโตให้ตลาดแซงหน้าการบริโภคกาแฟในบ้าน หากมองลึกกว่าไทยเบฟ คือตระกูลสิริวัฒนภักดี มีธุรกิจเกษตรเป็น 1 ใน 5 กลุ่มหลัก และมีการปลูกกาแฟในประเทศลาว สามารถต่อยอดกิจการได้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การรุกร้านกาแฟ ยังเป็นการขยายพอร์ตโฟลิโอกลุ่มร้านอาหารให้หลากหลายขึ้น จากที่มีอาหารไทย ญี่ปุ่น คิวเอสอาร์(เคเอฟซี) ร้านหรูบ้านสุริยาศัย การได้ “คาเฟ่” ร้านกาแฟดังระดับโลก ยิ่งสร้างความครบครันในเวทีการแข่งขัน
จะปล่อยให้ “ปรปักษ์ธุรกิจ” เบ่งอาณาจักรโตฝ่ายเดียวได้อย่างไร ค่ายสิงห์ ที่ปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น 5 เสาหลัก และแสวงหา “ขุมทรัพย์การตลาด” ใหม่ๆตลอดเวลา หนึ่งในนั้นคือธุรกิจอาหาร และยังได้ “ทายาท” คือ “ปิติ ภิรมย์ภักดี” ผู้มี Passion การทำอาหารในสายเลือด และยอม “ฉีกกรอบ” การทำงานแบบเดิมๆ ซึ่งไม่ค่อยเห็นการใช้มรรควิธี “ซื้อและควบรวมกิจการ” หรือ M&A สร้างการเติบโตมากนัก แต่หลังจากการคิดใหม่ เห็นการตั้ง “ฟู้ดแฟ้คเตอร์ส” กำหนดวิถีการทำงานมีความ “ขบถ” แบบ “สตาร์ทอัพ” คิดและทำเร็ว จึงกำหนดกรอบการลงทุนพร้อมงบ 4,000-5,000 ล้านบาท ในการขยายธุรกิจอาหาร
หนึ่งในจิ๊กซอว์โตคือทางลัดซื้อกิจการ เกณฑ์เล็งร้านหรือแบรนด์ที่ใช่ต้อง “แข็งแกร่ง” ซื้อมาแล้วโตต่อได้ จึงเห็นการทุ่มเงิน 1,500 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 88% ในบริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด หรือร้าน “ซานตา เฟ่ สเต็ก” (Santa fe) 117 สาขา ซึ่งเป็นร้านที่มียอดขายและ “กำไร” เติบโตทุกปี
การมีแบรนด์ใหม่ๆ แน่นอนเป็นการ “ขยาย” พอร์ตโฟลิโอให้กว้าง ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเซ็กเมนต์ต่างๆมากขึ้น จากเดิมร้านอาหารของกลุ่มสิงห์ มีร้านเครื่องดื่มและเบเกอรี่ “ฟาร์มดีไซน์” ร้านอาหารและเบียร์สด EST.333 ร้านหรูอาหาร(R-HAAN) ซึ่งมีสาขารวมกัน หากเทียบกับคู่แข่ง ตลอดจนบิ๊กโฟร์ เจ้าแห่งธุรกิจอาหารจำนวนร้านยังห่างไกล การซื้อกิจการจึงช่วยเพิ่ม “สปีด” การมีร้านและศักยภาพในการต่อกรกับแบรนด์อื่นๆ เพื่อท้ายที่สุดแบรนด์จะได้มีพื้นที่หรือ Market share ในกระเพาะผู้บริโภค(Share of stomach) เรียกว่าจะกินของว่าง ของคาว ขนมหวาน เครื่องดื่ม ฯ ขอให้เป็นแบรนด์ในเครือของตนเองมากเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะจะสร้างรายได้ให้บริษัทเติบโตต่อไป
สิงห์-ช้าง ย้ายศึกสู่สังเวียนอาหาร ไม่ง่าย เพราะเวทีนี้ พี่เบิ้มในตลาดมีเพียบ และคงไม่ยอมให้ “เจาะยาง” ง่ายๆ เกมนี้ต้องติดตามตอนต่อไป พี่ใหญ่เก่ากับพี่ใหญ่ใหม่จะแลกอาวุธใส่กันอย่างไร ส่วนผู้บริโภคต้องลุ้นจะได้รับสินค้าและบริการที่โดนใจจากแบรนด์เหล่านี้อย่างไร