กำจัดพลาสติก พันธกิจทุกคน
ดีเดย์ 1 มกราคม 2563 ไม่เพียงแต่เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการงดใช้ถุงพลาสติก นำร่องด้วยบรรดาร้านค้าส่งค้าปลีกขอประกาศงดแจก แต่จริงๆ แล้วควรเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกัน เพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมและโลกให้ยั่งยืน
น่ายินดีและควรสนับสนุน หลังจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ร่วมกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ และภาคีเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ประกาศเจตนารมณ์งดให้บริการถุงพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 ซึ่งเราเชื่อว่าจะช่วยลดการใช้พลาสติกลงได้บ้าง เพราะแค่ทดลองโดยเริ่มจากการงดเป็นบางวันผ่านแคมเปญ ลดให้ถุงพลาสติก ช่วยลดขยะ
นับแต่เริ่มกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.2561 จนถึงวันที่ 31 ส.ค.2662 มา สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วไปแล้วกว่า 2,000 ล้านใบ หรือ 5,755 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท หรือราว 4.6% และในปีนี้จะมีกิจกรรมจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ผ่านแคมเปญ "Everyday Say No to Plastic Bags" ซึ่งจะงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป
โดยขยายความร่วมมือโดยประสานร้านค้าปลีกค้าส่งทั่วประเทศ จากร้านค้าภาคีในเครือข่ายสมาคม 42 ร้านค้า เพิ่มเป็น 75 ร้านค้า รวมช่องทางจำหน่ายทั้งสิ้นกว่า 2.45 หมื่นช่องทาง ที่จะงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างจริงจัง การรณรงค์แบบนี้นอกจากจะเดินมาถูกทางแล้ว ต้องเพิ่มความเข้มข้น และภาครัฐเองต้องหันมาพิจารณาสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนเอกชน ห้างร้าน งดการใช้พลาสติก
ขณะเดียวกันตอกย้ำจิตสำนึกของเยาวชนในห้องเรียนปลูกฝังผ่านตำรา ที่ต้องทำกันขนาดนี้เพราะภัยจากพลาสติกนั้นรุนแรง และสามารถอยู่ในระบบ อยู่ร่วมกับเรา 300-400 ปีถึงจะสลาย การตายของพะยูนมาเรียมได้กระตุ้นสังคมไทยที่ย้อนมาถึงภัยใกล้ตัวเอง ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ระบุว่าสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นในช่วง 3 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยปีละ 400 ตัว ไม่ว่าจะเป็นเต่าทะเล โลมา วาฬ และพะยูน ที่คิดเป็นจำนวน 5%
โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2546-2560 สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้มีแนวโน้มการเกยตื้นเพิ่มขึ้น มากที่สุดในปี 2560 จำนวน 566 ครั้ง รองลงมาในปี 2559 จำนวน 449 ครั้ง สาเหตุเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลและพะยูนเกิดจากติดเครื่องมือประมง เป็นอันดับหนึ่งถึง 74% และ 89% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มโลมาและวาฬป่วยตามธรรมชาติมากกว่า 60% และขยะพลาสติก ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้ต้องจบชีวิตลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับมนุษย์ก็เช่นกัน เรากินไมโครพลาสติกเข้าไปอย่างไม่รู้ตัว เพราะมีงานวิจัยระบุออกมาชัดว่าพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วไม่ได้อยู่แค่ในมหาสมุทร แต่อยู่ในร่างกายมนุษย์โดยเฉลี่ยคนละ 1 หมื่นชิ้น และกำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะผู้คนทั่วโลกบริโภคไมโครพลาสติกที่มาพร้อมอาหาร เครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งอากาศเข้าสู่ร่างกายราว 2,000 หน่วยต่อสัปดาห์ โดยไมโครพลาสติกที่พบมีตั้งแต่ใช้ทำขวดน้ำดื่ม โพลีพรอพีลีน ใช้ทำถุงร้อน พลาสติกบรรจุอาหาร ไปจนถึงโพลีไวนิลคลอไรด์ หรือฟิล์มห่ออาหาร ล้วนแล้วแต่อันตรายยิ่ง ดังนั้นจึงควรเป็นพันธกิจที่ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบ