สื่อ-เพลง-สินค้าอุปโภคบริโภค ปรับกระบวนยุทธ์..!!สู้ศึกดิสรัป
กระแส “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ไม่มีทีท่าจะจางลง และปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจหลากหลายเซ็กเตอร์ เจอผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป ธุรกิจสื่อ เป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์ที่ถูกคลื่นสึนามิดิสรัปแรงมาก
ทีวีดิจิทัล ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม “ผู้ชม” โยกแพลตฟอร์มจากจอแก้วไปยังจอใหม่ๆ (Screen) อื่นๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ ดูรายการสด ดูย้อนหลัง ผ่านไลน์ทีวี เฟสบุ๊คไลฟ์ ยูทูปฯ ทำได้หมด
เมื่อจำนวนคนดูวัดความนิยมหรือ เรทติ้ง สื่อไหน คนดูมาก ทำให้แบรนด์ต้องเทเงินลงโฆษณาไปยังแพลตฟอร์มเหล่านั้นมากขึ้น ที่สุดแล้ว สื่อดั้งเดิมต้องรับมือกับเงินโฆษณาไหลออกอย่างต่อเนื่อง
ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ (เอ็มไอ) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด ประมาณการปี 2563 เม็ดเงินโฆษณาทีวีจะมีสัดสวนต่ำกว่า 50% นับเป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นกับวงการอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาทางทีวี ซึ่งเดิมครองเม็ดเงินมากกว่า 50% โดยตลอด ขณะที่สื่อ “ออนไลน์” แย่งเม็ดเงินมากขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากสื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ ก็สาหัสไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ “นิตยสาร” เพราะเงินที่หายไปทุกปี ทำให้การหล่อเลี้ยงธุรกิจยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ ที่สุดต้องปล่อยให้กิจการกลายเป็น “ตำนาน” เพราะต้องลาแผงไปตามๆกันไปเล่มแล้วเล่มเล่า ซึ่งปีนี้ ณัฐพล ธำรงลักษณ์ ผู้จัดการอาวุโส-สายงานวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด รายงานว่า จำนวนนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำปิดตัวลงมีทั้งสิ้น 6 หัว ได้แก่ M2F หนังสือพิมพ์ “โพสต์ทูเดย์” (Post Today) ในเครือบางกอกโพสต์ นิตยสารแจกฟรีทุกวันพุธ Hamburgerหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ The Nation นิตยสาร Amarin Baby & Kids และนิตยสาร สุดสัปดาห์
ทั้งนี้ เม็ดเงินโฆษณาของทั้ง 2 สื่อ หายไปมูลค่ามหาศาล เพียงปีเดียวคิดเป็น 1,400 ล้านบาท โดยหนังสือพิมพ์ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.2562) มีมูลค่า 3,747 ล้านบาท ลดลง 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 4,918 ล้านบาท ส่วนนิตยสาร มีมูลค่า 816 ล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 1,027 ล้านบาท การปรับตัวหรือ “ทรานส์ฟอร์ม” ของสื่อเหล่านี้คือสร้างคอนเทนท์เสิร์ฟคนอ่านผ่านแพลตฟอร์ม “ออนไลน์” ตอบโจทย์ฐานคนอ่านเดิม แต่เวทีออนไลน์ ไม่ง่าย!! ท่ามกลาง “เว็บไซต์” ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด การแย่งชิงคนอ่านจึงยากขึ้นเรื่อยๆ คอนเทนท์ดี ใช่ว่าจะถูกจริตคนอ่าน เพราะปัจจุบัน “ข่าวดราม่า ข่าวลวงปลอม(Fake news) ข่าวฆ่ากันตีรันฟันแทง ข่าวบันเทิง” ที่ใกล้ชิดคนผู้บริโภค ได้รับความนิยมกว่าข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสร้างสรรค์จรรโลงสังคมด้วยซ้ำ
ธุรกิจเพลง มูลค่าพันล้านบาท เป็นอีกสื่อที่โดนดิสรัปตั้งแต่ Physical เทป ซีดี หายไป มาสู่ MP3 และการ “ดาวน์โหลด” ซึ่งอย่างหลังหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ดนุภพ กมล ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มิวซิกมูฟ จำกัด หยิบยกเทรนด์เพลงโลกมาฉายภาพการดาวน์โหลดลดลงเรื่อยๆ เพราะการฟังเพลงจากดาวน์โหลด จะมีแค่เพลงที่โหลดมาเก็บไว้ แต่ฟังเพลงออนไลน์หรือสตรีมมิ่ง ที่มีอยู่นับล้านรายการ สามารถเลือกได้ตามใจชอบ และจัด “ลิสต์เพลง” ที่ตรงใจในโมเมนต์นั้นๆได้ด้วย
ส่วนศิลปินดังๆหรือ Main Stream ถูกศิลปินอิสระเบียดความดังมากขึ้น พร้อมทำเพลงเป็นทางเลือกให้กลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้ ส่วนเพลงร็อค ป็อปที่ฮอตฮิตในอดีต ถูกรัศมีเพลงฮิปฮอปเข้ามาตีตลาดมากขึ้น จนศิลปินต้องทำเพลงประกบหรือ Featuring กับศิลปินแร็พกันเป็นทิวแถว
การทรานส์ฟอร์มของธุรกิจเพลง ต้องรักษาศิลปินซึ่งเป็นสินทรัพย์สำคัญ ปั้นให้มีเพลงอยู่ในกระแส ไม่โดนกลบหายไป และทำเพลงให้มีคุณค่า แต่ต้องรักษาความเป็นตัวตนเดิม(Original)ไว้ด้วย เพื่อไม่ให้แฟนคลับเดิมหดหายไป นอกจากนี้ หารายได้ในประเทศไม่พอ ต้องบุกเบิกตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพและโอกาส เพื่อปูทางโกอินเตอร์ย่อมๆ ต่อยอดรายได้ สตรีมมิ่ง มาแรงทั่วโลกต้องจับมือกันทำเพลง “เอ็กซ์คลูสีพ” เสิร์ฟคนฟังแพลตฟอร์มนั้นๆโดยเฉพาะ หรือผนึกพันธมิตร ค่ายละคร ทำเพลงป้อนกันดังแบบ Win win เป็นต้น
สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าแฟชั่นฯ จากที่เคยค้าขายผ่านช่องทางร้านค้าเดิมๆ ทั้งห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าทั่วไปฯ ถูก “ช่องทางขายออนไลน์” ดิสรัป แม่ทัพใหญ่ บุญเกียรติ โชควัฒนา ซึ่งกุมบังเหียน บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) จึงต้องทรานส์ฟอร์มการค้าขายสู่ออนไลน์มากขึ้น และตั้งเป้าหมายโต “เท่าตัว” อย่างต่อเนื่อง เป็นการทยอยเพิ่มสัดส่วนการขายช่องทางใหม่ๆ เพื่อรับเทรนด์ความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตนั่นเอง
ฟากบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) อาณาจักรจัดจำหน่ายและทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีช่องทางจำหน่ายผ่านร้านค้าต่างๆนับหมื่นแห่งทั่วประเทศ แต่เพื่อรับมือกับการดิสรัป พร้อมกับการเพิ่มศักยภาพและขีดแข่งขันทางธุรกิจ ได้มีการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท เอสพีซี เวนเจอร์ส จำกัด ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 20 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจแบบ CVC โดยเฉพาะ “สตาร์ทอัพ” ให้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงธุรกิจใหม่ๆ นับเป็นการทรานส์ฟอร์มตัวเองครั้งสำคัญ สำหรับองค์กรเก่าแก่กว่า 7 ทศวรรษ
บริษัทในเครือสหพัฒน์ อีกมากที่อัพเกรดองค์กรเพื่อให้พ้นดิสรัปชั่น อย่างบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)ลงขันในกองทุน TukTuk500 ร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของรายอีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัล กลุ่มธุรกิจทีซีพีหรือค่ายเครื่องดื่มกระทิงแดง เป็นต้น
เพราะดิสรัปชั่นนั้นน่ากลัว การเร่งทรานส์ฟอร์มให้พร้อมรบย่อมดีกว่าภัยมาแล้วค่อยตื่นตัวพลิกเกมสู้ เพราะตอนนั้นอาจไม่ทันการณ์แล้ว