'สรยุทธ' ลุ้นระทึก! คดีค่าโฆษณาอสมท ศาลนัดอ่านฎีกา 21 ม.ค.นี้
"สรยุทธ-ไร่ส้ม" ลุ้นฎีกาชั้นสุดท้าย หลังศาลอุทธรณ์ยืนคุกจริงไม่รอลงอาญา 13 ปี 4 เดือน ร่วม พนง.อสมท ไม่แจ้งโฆษณารายการเล่าข่าวเกินเวลา
หลังจากที่มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 29 ส.ค.60 ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 6 กระทงรวม 20 ปี นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อายุ 50 ปีเศษ อดีตพนักงาน บมจ.อสมท มีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 กรณีทำให้ อสมท. เสียหาย จากการละเว้นไม่แจ้งการชำระค่าโฆษณาส่วนเกินจำนวน 138 ล้านบาท ของรายการ คุย คุ้ยข่าว ระหว่างปี 2548-2549 ที่ บจก.ไร่ส้ม และ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง ดำเนินรายการ ซึ่งศาลอุทธรณ์ ก็พิพากษายืนสั่งปรับ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 รวม 6 กระทงเป็นเงิน 80,000 บาท กับลงโทษ นายสรยุทธ อายุ 53 ปีเศษ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และน.ส.มณฑา ธีระเดช อายุ 46 ปีเศษ พนักงาน บ.ไร่ส้มฯ จำคุก 6 กระทง รวมจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำผิด ซึ่งโทษจำคุกจำเลยทั้งหมดนั้นศาลไม่รอลงอาญา
ล่าสุดคดีนี้ มีการกำหนดนัดฟังคำพิพากษาฎีกาในวันที่ 21 ม.ค.63 นี้ เวลา 10.00 น. ณ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ซึ่งตามขั้นตอนเมื่อจำเลยทั้งหมดได้รับหมายศาลแจ้งวันนัดแล้ว ก็ต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด นอกจากหากมีเหตุจำเป็นปัจจุบันทันด่วน หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินกระทันหัน ต้องมอบหมายให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปก่อน โดยนายสรยุทธ อดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 3-4 ได้ประกันตัวระหว่างฎีกาสู้คดี ใช้สมุดบัญชีเงินฝากเป็นหลักทรัพย์ที่ศาลฎีกาตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลและให้จำเลยต้องมารายงานตัวต่อศาลทุก 3 เดือน เช่นเดียวกับ นางพิชชาภา อดีตพนักงาน บมจ.อสมทจำเลยที่ 1 ก็ได้ประกันตัวไป 5 ล้านบาทเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางพิชชาภา หรือนางชนาภา บุญโต อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท , บจก.ไร่ส้ม , นายสรยุทธ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และอดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง , น.ส.มณฑา พนักงาน บจก.ไร่ส้ม เป็นจำเลยที่ 1- 4 คดีหมายเลขดำ อ.3132558 เมื่อวันที่ 30 ม.ค.58 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ , เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร , เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.6,8,11
โดยบรรยายพฤติการณ์ สรุปว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.48- 28 เม.ย.49 ต่อเนื่องกัน นางพิชชาภา พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 ได้จัดทำคิวโฆษณารวม ในรายการ “คุย คุ้ยข่าว” ซึ่งก่อนออกอากาศนางพิชชาภา ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลา จาก บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 1 จำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาทจากจำเลยที่ 2-4 เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภา ไม่รายงานการโฆษณา ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยหน้าที่และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บมจ.อสมท โดยมีจำเลยที่ 2-4 เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ ให้ความสะดวกในการกระทำผิด และมอบเช็คธนาคารธนชาติ สาขาพระราม 4 สั่งจ่ายเงินให้นางพิชชาภา เหตุเกิดที่แขวง-เขตห้วยขวาง กทม.โดยจำเลยทั้งหมด ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ซึ่งชั้นตรวจหลักฐาน นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 แถลงแนวทางต่อสู้ว่าตัวเองไม่มีอำนาจอนุมัติการโฆษณาและไม่เคยใช้น้ำยาลบคำผิดลบข้อความเกี่ยวกับการจัดคิวเวลาโฆษณา ส่วนเช็ค 6 ฉบับที่ได้รับนั้นเป็นค่าประสานงานคิวโฆษณาที่นอกเหนือจากหน้าที่ ไม่ใช่ค่าตอบแทนในการไม่ระบุการโฆษณาเกินเวลา ขณะที่ บมจ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ได้ต่อสู้ว่าไม่เคยมอบให้ผู้ใดไปติดต่อเพื่อจัดคิวโฆษณาเกินเวลาและไม่เคยให้จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในเอกสารเกี่ยวกับการโฆษณา เช่นเดียวกับ นายสรยุทธ จำเลยที่ 3 ที่แถลงว่าไม่เคยรู้จักกับนางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่ามีหน้าที่อะไรและไม่เคยติดต่อให้ผู้ใดไม่รายงานโฆษณาที่เกินเวลา แต่ยอมรับว่าเช็ค 6 ฉบับได้ลงลายมือชื่อนายสรยุทธซึ่งเป็นเช็คที่ชำระค่าประสานงาน ไม่ใช่เงินที่ตอบแทนให้นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในเอกสารการโฆษณา ซึ่งศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ก.พ.59 เห็นว่า การจัดรายการทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุชัดว่าถ้ามีโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่ง บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ต้องขอซื้อโฆษณาส่วนเกินย้อนหลังและชำระค่าโฆษณาเกินให้แก่ บมจ.อสมท และสืบเนื่องจากกรณีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดยังมีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่า บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินและไม่มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดทางการค้าปกติร้อยละ 30 จากค่าโฆษณาส่วนเกิน 138,790,000 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ขณะที่นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณาแต่ไม่รายงานการโฆษณาที่เกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็นเหตุให้ อสมท ได้รับความเสียหาย ตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบทั้งสองชุดที่อสมท ตั้งขึ้นนอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังใช้น้ำยาลบคำผิดลบรายการโฆษณาที่เกินเวลาส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาโดยตลอดดังนั้นน่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การให้เช็คแม้จะอ้างให้โดยเสน่หาแต่การไม่รายงานโฆษณาส่วนเกินให้ทราบทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ ถือเป็นกระทำมิชอบด้วยกฎหมาย จึงให้จำคุก นางพิชชาภา อดีตพนักงาน บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สินฯ รวม 6 กระทงๆ ละ 5 ปี เป็นจำคุก 30 ปี สั่งปรับ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 รวม 6 กระทงๆ ละ 20,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท
ส่วนนายสรยุทธ อดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง จำเลยที่ 3 และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 4 พนักงาน บจก.ไร่ส้ม ก็จำคุก 6 กระทงๆ ละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ศาลจึงลดโทษให้จำเลยทั้งสี่คนละ 1 ใน 3 โดยปรับ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จำนวน 80,000 บาท ส่วนนางพิชชาภา อดีตพนักงาน บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 จำคุกเป็นเวลา 20 ปี
สำหรับ นายสรยุทธ และน.ส.มณฑา จำเลยที่ 3-4 ก็จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ขณะที่การกระทำของจำเลยที่ 1,3,4, ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ (ไม่รอลงอาญา) ต่อมาชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการจัดทำคิว และทราบความเป็นไปของรายละเอียดการโฆษณาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นสามัญสำนึกในหน้าที่จะต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของรัฐ จะอ้างว่ามีช่องว่างทางการตรวจสอบไม่ได้ เมื่อการโฆษณาเกินส่วนต้องเสียค่าโฆษณา แต่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในใบคิวโฆษณาของ บจก.ไร่ส้มจำเลยที่ 2 แม้อ้างว่าทำไปเพราะตกใจกลัวจะต้องรับผิดก็เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนักส่วนคุณงามความดีซึ่งจำเลยที่ 3 กล่าวอ้างนั้น ศาลเห็นว่าประวัติคุณงามความดีเป็นคนละส่วนกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด จึงไม่มีเหตุสมควรให้รอลงอาญา
ศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายืนผลลงโทษตามศาลชั้นต้นซึ่ง บจก.ไร่ส้ม , นายสรยุทธ , น.ส.มณฑา จำเลยที่ 2-4 ได้ยื่นฎีกาโดยมีผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเซ็นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ) มาตรา 221 บัญญัติว่าในคดีซึ่งห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 คือคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกนั้นไม่เกิน 5 ปี กับมาตรา 219 ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดดังกล่าว ซึ่งหากจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องมีผู้พิพากษาในสำนวน หรือที่ทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดเซ็นรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย โดยคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปีจึงต้องเป็นไปข้อกฎหมายดังกล่าวผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับค่าโฆษณาส่วนเกิน จำนวน 138,790,000 บาทนั้น บจก.ไร่ส้ม ได้ชำระคืนให้ แก่ อสมท.แล้ว