'กรุงศรีคอนซูมเมอร์' เข้มปล่อยกู้ลูกค้าใหม่ กลุ่มรายได้ต่ำ 3 หมื่นบาท
"กรุงศรีคอนซูมเมอร์" ปรับกระบวนการปล่อยกู้ปี 63 คุมภาระหนี้ต่อรายได้ไม่เกิน 70% สำหรับกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน รับกระทบยอดสมัครบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลใหม่ลดลงทันที 15-20% ขณะที่หนี้เสียปีนี้ยังเป็นขาขึ้น คาดอยู่ที่ 2.4%
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นไป กรุงศรีคอนซูเมอร์จะมีการปรับกระบวนการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยยึดการปล่อยสินเชื่อตามภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน ที่ต้องคุมไม่ให้ภาระหนี้ของผู้กู้ไม่ให้เกิน70% สำหรับการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต จากอดีตบางรายเคยปล่อยกู้ DSR เกิน 80%
"ยอมรับว่าการปล่อยสินเชื่อภายใต้กรอบการดูภาระหนี้ต่อรายได้ที่เข้มงวดมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อการยอดสมัครลูกค้าใหม่ของบริษัททันทีในปี 2563 ราว 15-20% จากเดิมที่ลูกค้าใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ราว 8.5 แสนรายต่อปี"
เขากล่าวว่า นอกจากเรื่อง DSR แล้ว กรุงศรีคอนซูมเมอร์ยังมีการปรับสกอริ่งในการให้สินเชื่อด้วย ทั้งการเพิ่มวงเงินสินเชื่อ ที่บริษัทต้องพิจารณามากขึ้น หรืออาจให้วงเงินสินเชื่อน้อยลง แต่หากพบว่าลูกค้ามีพฤติกรรมที่ดี อาจพิจารณาปรับวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือน หรือ 1ปีข้างหน้าได้ โดยการปรับกระบวนการให้สินเชื่อ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
"กลยุทธ์ของเราคือ เข้าโค้งอย่าเหยียบคันเร่ง ผ่อนคันเร่งก่อนไว้ ทางตรงค่อยปล่อย ทั้งการหาลูกค้า การปล่อยสินเชื่อ ขณะที่การเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร เราก็ยังหาลูกค้าอยู่ แต่เราจะไม่เหยียบคันเร่งมากขึ้น และเราก็มีการปรับสกอริ่งในการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นด้วย ปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทจะนำอินไซด์ผู้บริโภคเข้ามาใช้มากขึ้น ผ่านการใช้ AI ในการทำโปรโมชั่นหรือการเจาะลูกค้า ไม่หว่านแหเหมือนแต่ก่อน และ ไม่สุรุยสุร่ายในการทำโปรโมชั่น"
สำหรับเป้าหมายปี 2563 กรุงศรีคอนซูมเมอร์ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตเพียง 8% จากปี 2562 อยู่ที่ 11% โดยปัจจุบันมียอดคงค้างบัตรเครดิต 69,000 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อบุคคลคาดเติบโตเพียง 6% ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 7-8% จากยอดคงค้าง 76,000 ล้านบาท รวมพอร์ตคงค้างบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 1.45 แสนล้านบาท
ด้านเอ็นพีแอล เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต โดยคาดว่าสิ้นปี2563 เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.4% หรือเพิ่มขึ้นราว 20% หากเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 2% เริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่4 เดือนสุดท้ายของปี 2562 หากเทียบกับเดือนมิ.ย. 2562 ที่เอ็นพีแอลต่ำสุดในรอบ 5 ปี
"ปีนี้จะเห็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญราว 0.40-0.50% จากสิ้นปีก่อน จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะลูกค้าในโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการลดโอที ลดชั่วโมงทำงาน กระทบรายได้ อีกส่วนมาจากหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่หักหนี้จากบัญชีเงินเดือน คนเหล่านี้จึงมีปัญหา ทำให้ขาดสภพคล่อง นอกจากนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น ยังมาจากการคุมการปล่อยสินเชื่อบัตร และพีโลน หากรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ถือไม่เกิน 3 บัตร จากแต่ก่อนอาจขอได้ถึง 10 บัตร พอเต็มก็หมุนไปเรื่อยๆ แต่พอคุมเหลือ3บัตร ทำให้สภาพคล่องตึงเร็วขึ้น มีผลทำให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมา"
เขากล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีบางธนาคาร ขอปรับวงเงินผ่อนขั้นต่ำให้น้อยกว่า 10% เชื่อว่ อาจทำให้คนเป็นหนี้นานขึ้น และอาจเป็นตัวเร่งทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นในระบบ หากมีการปรับการผ่อนขั้นต่ำขึ้นมาสู่ระดับปกติ อาจทำให้สภาพคล่องของผู้ผ่อนชำระตึงตัว และเกิดการผิดนัดชำระหนี้ได้ในที่สุด ดังนั้นเชื่อว่าการปรับลดวงเงินผ่อนชำระขั้นต่ำ อาจเหมาะสมกับสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น เช่น กรณีเกิดน้ำท่วม เป็นต้น