'สนธิรัตน์' เปิดแผนพลังงาน 63 ดันน้ำมันบนดิน-โรงไฟฟ้าชุมชน
ปี 2563 เป็นปีที่กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ผ่านนโยบายสำคัญในหลายเรื่อง เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน พืชพลังงาน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนงานในปี 2563 เริ่มจากนโยบายส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้น้ำมันดีเซล บี7 ไปสู่ดีเซล บี10 เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานในกลุ่มดีเซลอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา
นโยบายนี้สำเร็จมากสะท้อนจากราคาปาล์มดิบที่ขึ้นไป 6 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน จากที่เคยตกต่ำเหลือ 2 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ขึ้นไปถึง 33 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 17-18 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกิดส่วนต่างราคา CPO ของไทยกับตลาดประเทศ 10 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป้าหมายของนโยบายนี้จะนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันตลอดทั้งปี
ขณะที่ปลายไตรมาส 1 ปีนี้ จะขับเคลื่อนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ผ่านการใช้เอทานอลให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายยกระดับราคาพืชเกษตร 2 ชนิด คือ อ้อยและมันสำปะหลัง โดยมีนโยบายเปลี่ยนเกรดแก๊สโซฮอล์ลงให้เหลือบางเกรด ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา ก็คาดว่าจะมีน้ำมันเกรดพื้นฐานกลุ่มเบนซินตัวใหม่ คือ แก๊สโซฮอล์ อี 20 ซึ่งคณะทำงานกำลังพิจารณาความเหมาะสมและจะดำเนินการเดือน มี.ค.นี้
ส่วนอีกนโยบายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและเป็นนโยบายธงหลักของกระทรวงพลังงานในปี 2563 คือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมี 3 มิติ คือ 1.โรงไฟฟ้าชุมชนที่เอกชนร่วมลงทุนกับชุมชน โดยชุมชนปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ กฐินรงค์ ไผ่ แล้วนำวัตถุดิบป้อนให้โรงไฟฟ้าผ่านการทำสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (คอนแทรค ฟาร์มมิง)
ทั้งนี้ ในสัญญาต้องระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อ คุณสมบัติเชื้อเพลิงและราคารับซื้อในสัญญา จะเป็นสัญญารับซื้อระยะเวลายาวสุดในไทยถึง 20 ปี เท่ากับเกษตรกรจะมีรายได้สม่ำเสมอต่อเนื่อง อีกทั้งยังสอดคล้องกับสัญญาซื้อไฟฟ้าที่การันตีตลอดอายุโครงการ 20 ปี
โดยโครงการนี้จะเน้นผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าเป็นหลัก ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าถูกลง มีส่วนค่าไฟฟ้า มีรายได้จากการขายพืชพลังงาน รวมทั้งมีประโยชน์ส่วนเพิ่มจากประมูลแข่งขันจัดตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย คาดว่า โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง (Quick Win) เป็นรูปธรรมในช่วงครึ่งแรกของปี 2563
มิติที่ 2 โรงไฟฟ้าชุมชน ประเภท Off Grid คือ โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองแต่ไม่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสายส่งไฟฟ้า หรือปลายสายส่ง ที่มีปัญหาไฟฟ้าตกดับและยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ให้เข้าถึงการใช้ไฟฟ้าและมีความเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งโรงไฟฟ้ารูปแบบนี้จะใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและงบความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ของภาคเอกชนมาสนับสนุน
มิติที่ 3 โรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบสถานีพลังงานชุมชน ซึ่งจะส่งเสริมให้ชุมชนผลิตไฟฟ้าใช้เอง จากการลงทุนเอง หรือ กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ ในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้วนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ทำโรงน้ำแข็ง ห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาสินค้าเกษตร โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ผลิตไฟฟ้าใช้เพื่อลดต้นทุนแล้วยังจะต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น กาญจนบุรีโมเดล
“โรงไฟฟ้าชุมชน พยายามเร่งรัดให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด แต่การสร้างโรงไฟฟ้าไม่ง่ายต้องใช้เวลา 8-12 เดือน ดังนั้น เฟสแรก จะเกิดก่อนคือ ประเภท Quick Win ที่เริ่มไปบางส่วนแล้ว และเฟสต่อไป คือ ประเภทสร้างใหม่จะเกิดขึ้นได้หลังอนุมัติโครงการแล้วภายใน 1ปี ฉะงั้นโรงไฟฟ้าชุมชนที่ได้รับอนุมัติดำเนินการ รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ 700 เมกะวัตต์ จะเกิดเม็ดเงินลงทุนราว 5 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท”
ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญ คือ นโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นอีก disruption ที่สำคัญของโลก ซึ่งเรื่องนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมจัดตั้งคณะกรรมการอีวีแห่งชาติ ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อวางแผนบูรณาการเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าทำช้าจะเสียโอกาสที่ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ภูมิภาค
กระทรวงพลังงานเกี่ยวข้องเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ค่าไฟ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้วให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษานำกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนเกินของประเทศที่ 30% หรือในส่วนที่โอเวอร์ซัพพลาย นำไปใช้สร้างแรงจูงใจ
รวมทั้ง จะจัดทำแผนที่ (Mapping) กำหนดจุดติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าทั่วประเทศจะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเกิดขึ้นกี่แห่งและจุดไหนบ้าง โดยจะกำหนดรัศมีระยะห่างของแต่ละสถานีไว้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และเกิดการกระจายการลงทุนออกไปยังต่างจังหวัด
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า อีกเรื่องจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภูมิภาค ขณะนี้แผนงานต่างๆเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งการปรับแก้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการซื้อขาย LNG ไปยังประเทศต่างๆ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการรับ-จ่ายถ่ายก๊าซและพอร์ตการลงทุนต่างๆ เป้าหมายกลุ่มลูกค้า เส้นทางการขนส่งก๊าซ ซึ่ง ปตท.เตรียมพร้อมไปสู่เชิงพาณิชย์ปลายไตรมาส 3 ปีนี้
ในขณะที่ โครงการโซลาร์ภาคประชาชน จะมีการนำมาพิจารณาปรับรูปแบบโครงการใหม่ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ หลังจากสั่งการให้ กกพ.ประเมินผลโครงการให้ปีแรก เพื่อแก้ไขอุปสรรค เพราะโซลาร์ภาคประชาชน เป็นทิศทาง disruption พลังงานของโลก ที่จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะต้องวางรูปแบบให้เหมาะสม