หนี้เสีย ‘พีโลน-บัตรเครดิต’ ปี 63 ส่อพุ่ง
“ศูนย์วิจัยทีเอ็มบี” ประเมินหนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตปี 63 พุ่งต่อเนื่อง 15-20% ผลจากเศรษฐกิจชะลอตัว “ไทยพาณิชย์”ยึดมาตรฐานปล่อยกู้ ย้ำไม่ได้เพิ่มความเข้มงวด หวั่นซ้ำเติมคนกู้ จนต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ด้าน "กสิกรไทย" รับพีโลนโตแรง
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics เปิดเผยว่า หากดูแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลปี 2563 ของสินเชื่อส่วนบุคคล เชื่อว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 2.51 % ของสินเชื่อรวม หากเทียบกับสิ้นปี 2562 ที่คาดว่าเอ็นพีแอลจะอยู่ที่ 2.45 % หรือมีเอ็นพีแอลรวมอยู่ที่ 36,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15 % หากเทียบกับปี 2562 ที่คาดว่าเอ็นพีแอลอยู่ที่ 31,848 ล้านบาท
ทั้งนี้ แนวโน้มเอ็นพีแอลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยหลักมาจาก ภาะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ธนาคารต่างๆ อาจต้องระมัดระวังด้านคุณภาพหนี้มากขึ้น ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต คาดว่าเอ็นพีแอลมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน มาอยู่ที่ระดับ 2.68 % ในปี2563 จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 1.42 % ด้านมูลค่าเอ็นพีแอลคาดอยู่ที่ 8,099 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20 % จากปี 2562 อยู่ที่ระดับ 6,638 ล้านบาท
นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(SCB) กล่าวว่า ยอมรับว่าปี 2563 เป็นปีที่แบงก์ต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ให้อยู่ภายใต้กรอบกติกาที่ออกมาหลายด้าน ทั้งตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท) หรือข้อบังคับต่างๆ แต่โดยรวมแล้ว เชื่อว่ามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของแบงก์อาจไม่ได้เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หากแบงก์ยิ่งไปเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อาจทำให้คนเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมและผลักลูกค้าให้หันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบได้
ดังนั้นแบงก์ก็หวังว่าปี 2563 จะเป็นปีที่แบงก์ต้องเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าเต็มที่ แต้ต้องไม่ขัดกฎระเบียบต่างๆที่มีอยู่ ส่วนการเติบโตสินเชื่อคาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 15 % ในปี 2563 ใกล้เคียงกับปี 2562 ขณะที่เอ็นพีแอลเชื่อว่าธนาคารบริหารจัดการให้อยู่ในกรอบได้ โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับทรงตัวกว่า 3 %
“ปีหน้าเป็นปีที่มีหลายกฎระเบียบ เป็นตัวที่ทำให้แบงก์โตยาก และระมัดระวังมากขึ้นเพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ แต่เราก็จะปล่อยเต็มที่ เท่าที่เราจะปล่อยได้ ภายใต้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ เพราะสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังเร่งทำคือการช่วยเหลือผู้บริโภค หากแบงก์ไปลดการปล่อยกู้ หรือเข้มงวดมากขึ้น ก็อาจผลักให้ลูกค้าไปหาหนี้นอกระบบได้ ดังนั้นเราก็จะช่วยเต็มที่ภายใต้ความเสี่ยงที่เราดูแลได้"
นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า หากดูการเติบโตสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยสิ้นไตรมาส 3 พบว่า เติบโต 19.5 % ซึ่งเติบโตอยู่ในระดับสูง สะท้อนว่าคนมีความต้องการใช้เงินมากขึ้น เพราะรายได้ลดลง ทำให้สภาพคล่องอาจติดขัด จึงต้องการกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายมากขึ้น
ส่วนปี 2563 เชื่อว่าสินเชื่อบุคคลน่าจะเติบโตได้ในระดับที่ดี เนื่องจากความต้องการใช้เงินของผู้บริโภคยังมีอยู่สูง ในด้านการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น ในการดูแลคุณภาพสินเชื่อ และต้องหาวิธีในการบริหารความเสี่ยง โดยจะนำดิจิทัล และเทคโนโลยี เช่น AI มาใช้มากขึ้น ในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า ดูว่าการขอกู้แต่ละครั้ง นำไปใช้สำหรับหมุนเวียนในการทำธุรกิจหรือไม่ หรือเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อให้แบงก์สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงของแต่ละกลุ่มลูกค้าได้ดีมากขึ้น
"ส่วนกรณีที่ธปท.มีการคุมภาระหนี้ต่อรายได้หรือดีเอสอาร์ เชื่อว่ามีผลกับแบงก์น้อย เพราะแบงก์ให้สินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ตลอด เช่นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน ก็ให้วงเงินแค่ 1.5 เท่า และในอนาคตจะมีเรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบ ต้องคำนึงถึงเงินดำรงชีวิตขั้นต่ำของลูกค้าด้วย นี่เป็นสิ่งที่แบงก์ต้องดูมากขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อธนาคารมากนัก”