ค้าปลีกชู 'ดิจิทัลแพลตฟอร์ม' ปฎิวัติ 'ช้อปปิ้งสมัยใหม่'
ตลาดการบริโภคค้าปลีกในไทยมูลค่าราว 3.8 ล้านล้านบาท เปลี่ยนแปลงหลากหลายมิติ!! ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี สภาวะแวดล้อม การขยายตัวของเมือง นำมาซึ่งเมกะเทรนด์ ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจซึ่งเป็นได้ทั้ง “โอกาส”และ"อุปสรรค"
วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า เมกะเทรนด์ในอุตสาหกรรมค้าปลีกประเทศไทยช่วง 2-3 ปีจากนี้ "New Digital Business Model"กำลังก่อร่างสร้างตัว!!ภาคค้าปลีกขนาดใหญ่ มีการลงทุน ดิจิทัล เทคโนโลยี (Digital Technology) อย่างมาก เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกกันว่า อี-บิสสิเนส (E-Business) ซึ่งรูปธรรมของ อี-บิสสิเนส ที่รู้จักกันดี ก็คือ O2O หรือ ออฟไลน์ทูออนไลน์/ออนไลน์ทูออฟไลน์ หรือ ออมนิแชนแนล (Omni Channel) เป็นการเชื่อมห้างร้านค้าปลีกในโลกออฟไลน์เข้ากับเทคโนโลยีโลกออนไลน์อย่างลงตัว จะเริ่มให้ผลเป็นรูปธรรมการเชื่อมออฟไลน์กับออนไลน์อย่างไร้รอยต่ออย่างชัดเจนไม่เกินปี 2565
ในอนาคตอันใกล้ธุรกิจค้าปลีกต้องใช้ “Data&Asset” ในการสร้างรายได้อย่างไรก็ดี ผลวิจัยของ Forrester Consulting ในประเทศไทย พบว่า ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกที่มีความพร้อมใช้“ดาต้า” มีแค่ 5% เท่านั้น!
ขณะที่“ค้าปลีกโลก” มีความพร้อมใช้ดาต้า และ Asset ที่มีการสร้างรายได้ 15%จะเห็นว่า“Big Data” หากไม่เริ่มวันนี้ ก็อาจจะสายไปแล้ว แต่อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยยังขาดโนว์เลจ (Knowledge) และ โนว์ฮาว (Know How) โดยห้างค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคไทย กว่า 91% ขาดความสามารถ เทคโนโลยี บุคลากร และกระบวนการต่างๆ ที่จำเป็นในการนำ“ข้อมูลเชิงลึก” (Insights)ของลูกค้ามาใช้เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า
เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นต่อภาคการค้าปลีกไทยที่จะขับเคลื่อนธุรกิจก้าวเข้าสู่การปฏิวัติ“ชอปปิงสมัยใหม่” ที่จะฉายภาพชัดเจนขึ้นทุกขณะ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการการค้าการขายแบบร้านดั้งเดิม ร้านค้าปลีกอิสระขนาดกลางขนาดเล็กๆ เป็นหมื่นเป็นแสน ที่อยู่ทั่วราชอาณาจักร อาจจะได้ผลกระทบถึงขั้นล้มเลิกกิจการ!
ขณะเดียวกัน จะเป็นการแจ้งเกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มองภัยคุกคามในรูปแบบเทคโนโลยีผสมผสานกับพฤติกรรม เป็น“โอกาส” ในการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ โดยพัฒนากลายเป็น“คู่แข่งใหม่”ที่ไม่ต้องการทำเลที่ตั้งหน้าร้าน ไม่ต้องมีสต็อก แต่สามารถเข้าหาลูกค้าได้ทั่วทุกสารทิศ ไม่สนใจเรื่องระยะทาง และขนาดของธุรกิจ
แน่นอนว่า สิ่งที่ตามมาคือเมกะเทรนด์ของเครื่องมือทางการเงิน การทำธุรกรรมต่างๆ ระบบElectronic Payments จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วง 2 ปีที่เริ่มใช้พร้อมเพย์ (Prompt Pay) คนไทยใช้พร้อมเพย์กว่า 46.5 ล้านราย มีปริมาณธุรกรรมกว่า 1.1 พันล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมทั้งสิ้น 5.8 ล้านล้านบาท
“ทุกวันนี้อุปสรรคสำคัญของการชำระเงินผ่านมือถือ พบว่า ร้านค้าที่รองรับมีจำนวนจำกัด ต้องเติมเงินเป็นประจำ และใช้เงินสดสะดวกกว่าในการใช้จ่ายเงินจำนวนน้อย แต่สิ่งเหล่านี้กำลังจะถูกขจัดไปด้วยเมกะเทรนด์ของเทคโนโลยีล้ำสมัย”
เมื่อเริ่มมีการใช้เทคโนโลยี“5G” ธุรกรรมทางการเงินจะรวดเร็วและแพร่หลายมากขึ้น เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดย่อย หรือ Micro Business เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยสำคัญ ก็คือ ราคาถูก สะดวก และรวดเร็วทุกที่ ทุกเวลา ทุกคนสามารถเป็นพ่อค้าแม่ค้าได้ อุปกรณ์ทุกชิ้นจะทำธุรกรรมทางการเงินได้
วรวุฒิ กล่าวต่อว่า ในเชิงโครงสร้างอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งยังมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย ปัจจุบันและเทรนด์อนาคตสามารถแบ่งธุรกิจค้าปลีกได้เป็น 3 แถว“แถวหนึ่ง”โมเดิร์นเชนสโตร์ (Modern Chain Store) กล่าวคือมีศูนย์การบริหารจัดการอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก คาดมียอดขายเป็นสัดส่วนราว 32% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกค้าส่ง“แถวสอง” ค้าปลีกค้าส่งภูธร ที่กำลังพัฒนาในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้นำค้าปลีกค้าส่งในจังหวัดตัวเองเป็นหลัก มีสัดส่วนประมาณ 20% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกค้าส่ง“แถวสาม”ค้าปลีกค้าส่งขนาดกลางขนาดเล็กขนาดย่อม ที่มีราว 4.5 แสนราย สัดส่วนโดยรวม 53-55%
ปัจจุบันตลาดการบริโภคค้าปลีกในไทยคาดมีมูลค่าราว 3.8 ล้านล้านบาท การเติบโตจากนี้ไปของอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยจะมาจาก“ค้าปลีกภูธรแถวสอง” เป็นหลัก ที่จะมีการขยายตัวมากกว่าจีดีพีของประเทศเป็น 2 เท่า และจะขยายตัวออกนอกพื้นที่นอกจังหวัดมากขึ้น!!ส่วนกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่แถวหนึ่ง จะพุ่งเป้าขยายตัวไปสู่ภูมิภาคพื้นบ้านและต่างประเทศมากขึ้น