โฉมหน้า "แพทย์รุ่นใหม่" ในยุคทรานสฟอร์ม
“แพทย์”วิชาชีพที่จะต้องมีองค์ความรู้ที่ลึกในการตรวจ วินิจฉัย รักษาโรคให้กับผู้ป่วย แต่ในยุค “ดิจิทัล ทรานสฟอร์ม”การรู้ลึกในสาขาเดียว อาจไม่เพียงพอ !!!!
จำเป็นที่จะต้องมีองค์ความความรู้ในสขาอื่นเข้ามาเชื่อมโยงด้วย เพื่อดูแลผู้ป่วยให้หายจากโรค กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ หลักสูตรแพทยศาสตร์อย่างน้อย 4 สถาบันมีการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล
0 แพทย์นวัตกร 0
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดลได้ลงนามความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดลเปิดโครงการร่วม หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต - วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์” (พ.บ. - วศ. ม.) เพื่อมุ่งสร้าง “แพทย์นวัตกร” ครั้งแรกในประเทศไทย ตอบโจทย์ยุคดิสรับชั่น ใช้เวลาเรียน 7 ปี จะได้ 2 ปริญญา คือ ปริญญาตรีแพทย์ และ ปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์ เปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2563
จุดเด่นของหลักสูตรร่วมแพทย์–วิศวะ (พ.บ. - วศ. ม.) ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 7 ปี โดยปีที่ 1 - 3 มีการเรียนการสอนทางด้านพรีคลินิกเช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ ส่วนในชั้นปีที่ 4 เป็นช่วงของการพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมและลงมือพัฒนางานวิจัยหรือนวัตกรรม จะได้รับการพัฒนาศักยภาพในรายวิชาทางด้านวิศวกรรม ผ่านหลักสูตร“วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์” (Biomedical Engineering) ในการสร้างแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษาและมีความรู้ความเข้าใจทางด้านวิศวกรรม ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาและโอกาสในการแก้ปัญหา รวมทั้ง สร้างนวัตกรรมให้เชื่อมโยงกับวิศวกรชีวการแพทย์ได้ เป็นลักษณะ Project Based Learning (PBL)
และปีที่ 5 - 7กลับมาเรียนชั้นคลินิกเช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ พร้อมทั้งทดลองและต่อยอดนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน เมื่อจบการศึกษาสามารถทำงานเป็นแพทย์ที่เป็นได้มากกว่าแพทย์ โดยมองเห็นปัญหาและโอกาสในการแก้ปัญหาด้วยหลักการทางวิศวกรรม มีการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบมากขึ้น มีพื้นฐานพร้อมต่อยอดเพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่มีโอกาสูงขึ้นในการได้รับเลือกให้เรียนต่อเฉพาะทางหรือหลักสูตรปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากมีประสบการณ์ทำงานวิจัยและผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ
คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเข้าเรียนในหลักสูตร ต้องจบมัธยมปลายในประเทศหรือต่างประเทศ มีความรู้ภาษาอังกฤษดี เนื่องจากเอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่ต้องทำอยู่บนพื้นฐานภาษาอังกฤษค่อนข้างมาก มีคะแนนสอบ IELTS ไม่น้อยกว่า 6.5 ขึ้นไป และคะแนนสอบ BMAT ต้องเกิน 12 ขึ้นไป หากมีโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับการแพทย์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ ในชั้น ม.ปลาย รวมถึงนักเรียนระดับโอลิมปิกจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ค่าใช้จ่ายทั้งหลักสูตรไม่เกิน 4 แสนบาท ซึ่งมหาวิทยาลัยมีโครงการทุนการศึกษาอีกด้วย
“มีความเชื่อมั่นว่า มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่สนใจทางด้านการแพทย์ควบคู่กับวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งตรงนี้จะเป็นหลักสูตรที่ตรงใจแต่ใช้เวลาเรียนมากขึ้นจาก 6 ปี เป็น 7 ปี แต่ได้ 2 ปริญญา คือ แพทยศาสตร์บัณฑิต และวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต แต่ได้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างเดียว เพราะไม่ได้ตอบโจทย์การเป็นวิศวกร แต่เป็นแพทย์ที่มีความรู้เชิงวิศวกรรมศาสตร์” ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าว
0 แพทย์ 2 ปริญญา 0
นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดตัวหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตใหม่ พ.ศ.2563 เป็นหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต 7 ปี 2 ปริญญา หลักสูตรแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลตามเกณฑ์ WFME โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) และแพทยสภา บูรณาการความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร ที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และ รพ.ตำรวจ ซึ่งจะเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักในหลักสูตรนี้ โดยมี รพ.จุฬาภรณ์ รพ.เพชรบูรณ์ และรพ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ร่วมสอน
“หลักสูตรพัฒนาทั้งวิธีการเรียนการสอน การประเมิน การติดตามผลที่มุ่งบูรณาการความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี และคิดค้นคว้านวัตกรรม พร้อมโอกาสที่จะได้เข้าร่วมศึกษาและทำงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร โดยได้ยกระดับหลักสูตรการเรียนการสอนสู่มาตรฐานสากลเพื่อการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีศักยภาพขั้นสูง นักศึกษาแพทย์ที่ได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้จะใช้ระยะเวลาเรียน 7 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา คือ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พบ.) MD จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญา iBSc จากมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร” นพ.นิธิ กล่าว
หลักสูตรมีการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงในแนวราบของแต่ละชั้นปีเรียกว่า “Horizontal Modules” ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ด้วยการผสมผสานวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิ ทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก โดยนักศึกษาจะเริ่มเรียนรู้จากผู้ป่วย และฝึกปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลองการเป็นแพทย์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองในพื้นฐานทางคลินิก โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน และการประเมินอย่างต่อเนื่องผ่านเทคโนโลยีการศึกษา
รวมถึง การปูพื้นฐานให้นักศึกษาฝึกหัดค้นคว้าและรู้จักใช้ข้อมูลที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมผ่านกระบวนการ Evidence based practice และหลักสูตรเน้นการประเมินผลแบบ Formative Assessment เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ในทุกรายวิชาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ และเป็นแพทย์ที่มีคุณธรรมจริยธรรม
นอกจากนี้ นักศึกษาจะได้ฝึกคิดค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ผ่านกระบวนการวิจัยตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติเรียนรู้กระบวนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร มุ่งเน้นการบูรณาการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ครอบคลุมทุกสาขาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 7 โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้ผ่าน“Vertical Modules” 6 คอลัมน์ เพื่อฝึกให้นักศึกษาแพทย์ได้คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแบบเป็นองค์รวม
0 แพทย์ตัวพาย 0
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้มุมมองว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ จะยังคงมีหลักสูตร 6 ปีเหมือนเดิม แต่ใน 6 ปีนี้จะมีช่วงที่ให้นักศึกษาเลือกในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันคนที่สนใจแล้วมาเข้าในหลักสูตร 6+1 โดย 1 ปีที่เพิ่มขึ้น นักศึกษาจะออกจากศิริราช เพื่อไปเรียนในอีกคณะ เก็บหน่วยกิตจนครบหมดทุกอย่าง และจะได้รับอีก 1 ปริญญา เมื่อกลับมาดูคนไข้ในช่วงปีที่ 3-6ของหลักสูตรแพทย์ จะเป็นตัวกระตุ้น ทำให้มองเห็นมุมบางอย่าง ให้อยากสร้างอะไรใหม่ๆ เพื่อคนไข้ เชื่อว่านักศึกษาจะเห็นคนไข้ในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเห็นโจทย์บางอย่าง จะทำให้ได้แพทย์อีกแบบหนึ่งทันทีที่จบ
โจทย์ในวันนี้ไม่ใช่เพียงผลิตแพทย์ 1 คนแล้วดูคนไข้ด้วยศาสตร์ความรู้ทางการแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องสามารถเติมเต็มด้วยศาสตร์อื่นร่วมด้วย ทั้งนี้ รูปแบบเดิม การผลิตแพทย์เป็นรูปตัวไอ คือ รู้ลึกลงไปเรื่อยๆเป็นแพทย์เฉพาะทาง ต่อมาเป็นรูปตัวที คือ รู้ลึกแต่ต้องรู้กว้างด้วย เพราะการเจ็บไข้ได้ป่วยจะสัมพันธ์กับมิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันต้องเป็นรูปตัวพาย คือมีความรู้ในแนวนอน และมีแนวตั้งที่มีขาลงมามากกว่า 1 ขา เช่น แพทย์อาจจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยคนไข้
อาทิ คนไข้เดินไม่ได้ แม้ทานยาแล้วก็ยังเดินไม่ได้ แต่อาจจะมีเทคโนโลยีบางอย่างช่วยให้คนไข้เดินได้ หากแพทย์เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เชื่อว่าแพทย์จะดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น การนำเทคโนโลยีเอไอ หรือ การรู้บริบทนิสัยคนไข้แล้วนำมาปรับให้เหมาะสมกับคนไข้ การนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ( Data Science) รวมทั้ง ระบบการดูแลสุขภาพ เข้ามาช่วย เป็นต้น
“สิ่งเหล่านี้คณะแพทยศาสตร์ต่างๆ เริ่มบรรจุเข้าไปในหลักสูตรช่วงที่เรียกว่า อิเล็กทริกพีเรียด (Electric Period) ขณะที่บางหลักสูตรเริ่มจัดเป็นโปรแกรมร่วม เช่น เรียนแพทย์แล้วขยายเวลาเรียนอีก 1 ปี แต่นักศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา เพราะต้องการให้รู้ลึกในอีก 1 ปริญญาด้วย และเชื่อว่า 2 ปริญญาที่มารวมกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือคุณภาพชีวิตของคนไข้ที่จะดีขึ้น”ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
0 แพทย์นักวิจัย 0
เมื่อปีการศึกษา 2561 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ มิติใหม่ผลิตแพทย์แห่งศตวรรษที่ 21 โดยจับมือกับ รพ.สิรินธร สำนักการแพทย์ กทม. มุ่งเน้นสร้างแพทย์ที่เก่งรักษาควบคู่ทักษะสร้างนวัตกรรมสมัยใหม่
ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ลักษณะสำคัญที่ต่างจากหลักสูตรแพทยศาสตร์ในสถาบันอื่น คือ การทำวิทยานิพนธ์ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์มีความสามารถด้านการวิจัย อันเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และบัณฑิตแพทย์ยุคใหม่ต้องมีทักษะและความเชี่ยวชาญที่รอบด้าน ไม่เฉพาะความเป็นเลิศด้านการตรวจวินิจฉัยรักษาผู้ป่วย แต่ยังต้องมีความสามารถในการใช้หรือพัฒนาเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และลดการนำเข้าเทคโนโลยีด้านการแพทย์จากต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ หลักสูตรแพทยศาสตร์ สจล.พัฒนาขึ้นโดยใช้กรอบความคิดของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในศตวรรษที่ 21 กำหนดวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1. บัณฑิตต้องมีความรู้ความสามารถสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (medical professional competencies) ตามมาตรฐานของประเทศไทยและสากล 2. บัณฑิตมีทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะด้านสังคมและการดำเนินชีวิต (life and career skills) ทักษะในการเรียนรู้และนวัตกรรม (learning and innovation skills) และ ทักษะในการจัดการข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี (information, media and technology skills)
3. บัณฑิตต้องเป็นนักวิจัยที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และสร้างผลงานวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ 4. บัณฑิตต้องมีความเป็นสากลและตระหนักในการเป็นพลเมืองของโลก ควบคู่ไปกับกลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผลงานและการปฏิบัติ (outcome and task-based learning) การจัดให้มีประสบการณ์ทางคลินิกตั้งแต่ในระยะแรกและตลอดหลักสูตร โดยความร่วมมือกับโรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลในเครือข่ายของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร การเรียนรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้จากโครงการวิจัย และการสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นสากล ตามมาตรฐานสากลสำหรับแพทยศาสตรศึกษา (World Federation for Medical Education: WFME)
การเรียนตลอดหลักสูตร นักศึกษาจะได้เรียน ทั้งสิ้น 247 หน่วยกิต จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและดำเนินการแบบหลักสูตรนานาชาติ คือมีอาจารย์และนักศึกษาส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ ระยะเวลาศึกษา 6 ปี หรือ 12 ภาคการศึกษาในระบบทวิภาค แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้ 1. ระยะการศึกษาทั่วไป 2. ระยะการศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3. ระยะการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ 4. ระยะการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก สำหรับชั้นปรีคลินิกจัดให้มีคณาจารย์จากทั้งคณะแพทยศาสตร์ สจล. และจากโรงพยาบาลสิรินธร นอกจากนี้ยังมีบุคคลากรสาขาวิชาอื่นๆ จากสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ การบริหารและการจัดการ ส่วนในชั้นคลินิกจะมีการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสิรินธร