กลยุทธ์ลงทุน ต้อนรับปีชวด
ส่องกลยุทธ์ลงทุนในปี 2563 นักลงทุนจะไปทางไหน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ หรือควรพิจารณาลงทุนในหรือต่างประเทศดี
สวัสดีปีใหม่ ท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ
หลังจากฉบับเดือน พ.ย. ปีก่อน ดิฉันได้เขียนเกี่ยวกับเรื่อง "เตรียมจัดพอร์ตลงทุน รับภาวะ Risk-on Mode" ให้ทุกท่านได้ทราบกันไปแล้ว ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา ตลาดหุ้นหลักๆ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับฉบับต้อนรับปีชวดในเดือน ม.ค.นี้ ดิฉันจึงจะเขียนถึง "กลยุทธ์การลงทุนในปี 2020" เพื่อให้ทุกท่านได้เตรียมจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนกันได้อย่างเหมาะสม และสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุนต่อไป ซึ่งเมื่อกล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุน ดิฉันขออ้างถึงมุมมองการลงทุนของ SCB หน่วยงาน CIO Office, Investment Advisory นำโดย คุณศรชัย สุเนต์ตา ซึ่งได้ให้มุมมองการลงทุนไว้ดังต่อไปนี้
- ทิศทางตลาดการเงินทั่วโลกในปี 2020
เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วง Late Cycle โดยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-คู่ค้าหลักๆ ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง โดยการที่เศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตนานมากขึ้น และดอกเบี้ยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ถือเป็น New Normal อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนของการเกิด Recession ในปี 2020
อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางต่างๆ ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง แต่ข้อจำกัดการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มขึ้น โดยธนาคารกลางบางแห่งได้ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางหลายแห่งยังต้องการเก็บกระสุนที่มีจำกัดไว้ เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต นอกจากนี้นโยบายการคลังจะถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดจากระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีความสามารถในการใช้นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายได้มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
Valuation ของสินทรัพย์ ทั้งตลาดหุ้น และตราสารหนี้ ในหลายๆ ประเทศตึงตัว เช่น มูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การกระตุ้นจากนโยบายการเงินและการคลัง รวมถึงข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่ผ่อนคลายความตึงเครียดลง น่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลบวกต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2020 และโอกาสที่จะถูกปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการลดลงด้วยเช่นกัน
ความผันผวนยังคงอยู่ ได้แก่ ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน แม้ว่าทั้ง 2 ประเทศ จะสามารถตกลงการค้าในเฟสแรกได้ แต่ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ในเฟสที่สอง ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากเนื้อหาในการเจรจาหลังจากนี้จะเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของจีนในเชิงปฏิบัติ ประกอบด้วย นโยบาย รัฐวิสาหกิจ และการอุดหนุนภาค อุตสาหกรรม ซึ่งทั้งสหรัฐและจีน ยังไม่มีทางออกในการประนีประนอม ซึ่งกันและกัน
รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐ จากประเด็นการถอดถอน ปธน.ทรัมป์ (Impeachment) แม้คาดว่า ปธน.ทรัมป์ ไม่น่าจะถูกถอดถอน เนื่องจากพรรครีพับลีกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐก็ตาม และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในช่วงเดือน พ.ย.2020 ซึ่งนโยบายของผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต หรือหากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง อาจส่งผลต่อ Sentiment ของลงทุน
ความไม่แน่นอนประเด็น Brexit โดยอังกฤษจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในวันที่ 31 ม.ค.2020 แต่อาจมีความผันผวนจากการที่นายบอริส จอห์นสัน จะไม่ขยายระยะเวลาเปลี่ยนผ่านออกไปจากสิ้นปี 2020 ซึ่งหากอังกฤษและสหภาพยุโรป ไม่สามารถมีข้อตกลงการค้ากันได้ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.2020 จะทำให้อังกฤษต้องออกจาก EU Single Market และ EU Custom Union มาอยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าของ WTO แทน และความไม่แน่นอนทางการเมือง ภายในประเทศของไทย จากประเด็นเสถียรภาพของรัฐบาล
"หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้เอกชน High Yield และเน้นลงทุนในตราสารหนี้เอกชน Investment Grade"
- กลยุทธ์การลงทุนในปี 2020
แนะนำหาจังหวะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น มากกว่าตลาดตราสารหนี้ ขณะที่หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้เอกชน High Yield และเน้นลงทุนใน ตราสารหนี้เอกชน Investment Grade โดยมองว่า การบรรลุข้อตกลงทางการค้าในเฟสแรกระหว่างสหรัฐ และจีน จะทำให้นักลงทุนเปิดรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risk-On) เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างมาก เพียง 1 ครั้งในปีหน้า ทำให้ Bond Yield มีแนวโน้มทรงตัว หรือปรับลดลงได้ไม่มากนัก
สำหรับตลาดหุ้น ให้เน้นหาจังหวะเข้าลงทุนระยะสั้น ในช่วงที่นักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงภายใต้ความผันผวนที่ยังคงอยู่ โดยตลาดหุ้นที่แนะนำลงทุน ได้แก่ ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐ ตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่ยังมีการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และตลาดหุ้น Asia Emerging Market เช่น ตลาดหุ้นจีน ซึ่งได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจากแนวโน้มการปรับเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นจีน A-Share ในดัชนี MSCI ในส่วนของสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ น้ำมัน และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ มีมุมมองเป็นกลาง
สุดท้ายนี้ ดิฉันขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้โปรดดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านและครอบครัวประสบแต่ความศุภสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูลผลในสิ่งอันพึงปรารถนา ตลอดจนประสบความสำเร็จในการลงทุนทุกประการ สวัสดีปีใหม่นะคะ