นายกฯเล็งฟื้น 'จำนำยุ้งฉาง' ชี้ชาวอีสานเรียกร้อง ย้ำใช้หลายมาตรการ
"พล.อ.ประยุทธ์" เล็งฟื้น "จำนำยุ้งฉาง" เหตุชาวอีสานเรียกร้อง ชี้ต้องใช้หลายมาตรการ วอนพ่อค้า-โรงสีอย่ากดราคาข้าว
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2563 เวลา 10.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัญหาเงินบาทแข็งค่า ว่า เรื่องเศรษฐกิจและค่าเงินบาท ตนไม่ได้หยุดนิ่ง มันมีหลายปัญหาหลายอย่างที่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน แต่กฎหมายและกลไกก็มีอยู่ เราคิดเองไม่ได้ ต้องยึดหลักการทั้งเศรษฐศาสตร์และข้อเท็จจริง ขณะที่ปัญหาในประเทศ สิ่งที่รัฐบาลมอง นอกจากการช่วยเหลือประชาชน ในเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อประทังชีวิตให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ไปพลางก่อน อีกส่วนคือมาตรการช่วยเหลือ เช่น การประกันราคาข้าวและพืชผลเกษตร อย่างการประกันราคาข้าว จะต้องดูว่ากลุ่มใดที่ยังไม่ได้รับประโยชน์ กำลังคิดการจำนำข้าวในยุ้งฉาง อย่างที่เคยทำมาแล้ว ซึ่งเกษตรกรชาวอีสานต้องการแบบนี้ เพราะเขาทำข้าวได้ปีละครั้ง เราจึงต้องแยกมาตรการนี้ออกมาและต้องใช้เงินจำนวนหนึ่ง มาตรการเดียวใช้ไม่ได้ ต้องใช้หลายมาตรการ
“สิ่งสำคัญคือต้องช่วยกันดูแล ว่าเราต้องมาตรการจำนำข้าวไปนั้น มันเกิดประโยชน์แล้วคนนำประโยชน์ไปใช้อย่างอื่นหรือไม่ เช่น กระโดดราคารับซื้อในราคาต่ำลงกว่าปกติ เพราะรัฐบาลรับผิดชอบแล้ว ฉะนั้น ขอร้องบรรดาพ่อค้าโรงสี อย่าไปกดราคาข้าว ตัวเองต้องรับผิดชอบ ช่วยด้วย ช่วยชาติกันหน่อย ไม่ใช่รัฐบาลตั้งราคาสูงไว้ ก็ไปกดราคาต่ำไว้ ที่เหลือรัฐบาลชรับผิดชอบเอาเอง อย่างนี้ผมถือว่าไม่ช่วยชาติ ไปดูว่าถ้าราคาตลาดพอที่รับได้ ก็ให้ราคามันลดลงหน่อยได้หรือไม่ นี่คือเรื่องของการประกันราคาข้าว”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลมองปัญหาเศรษฐกิจในภาพกว้าง มี 3 ระดับ คือ บน กลาง ล่าง ตอนนี้ก็ดูในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบที่ใช้ตัวเดียวกันทั้งกลาง ใหญ่ เล็ก แต่ขนาดเล็กและกลาง ขีดความสามารถยังไม่เพียงพอ ก็ต้องหามาตรการว่าจะแยกอย่างไร เช่น เรื่องบัญชี กรมบัญชีกลางจะดูแลได้อย่างไร เพราะในกติกาเดียวกัน บริษัทขนาดใหญ่ เขาก็มีขีดความสามารถในการทำบัญชี มีการเรียนรู้ มีทุน แต่ระดับกลาง ล่าง เขามีน้อย ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 ม.ค.นี้ จะมีการพิจารณามาตรการเกี่ยวกับเอสเอ็มอี และกองทุนต่างๆ รวมถึงมาตรการที่เอสเอ็มอีบางรายเข้าไม่ถึง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีคนจำนวนมากอยู่ในระบบ ถ้าไม่เข็มแข็งเพียงพอ ความสามารถการแข่งขันไม่ได้ โรงงานขนาดกลางและเล็กอยู่ไม่ได้ คนก็ตกงาน นี่คือสิ่งที่เราต้องไปดู พวกเราต้องช่วยกันดู ถ้ามัวแต่ติติงกันทั้งหมด มันไม่ใช่ จะให้รัฐบาลแก้ปัญหาอะไรก็กรุณาบอกมา จะได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่ติกันทุกวันในภาพรวมว่าเศรษฐกิจมันแย่ แต่ไม่ได้มองแบบรัฐบาล ว่ามองกี่ส่วนบ้าง ซึ่งต้องมองว่าที่ผ่านมามาตรการเหล่านี้มากเท่าวันนี้หรือไม่ แม้กระทั่งรัฐบาลที่แล้วทำอะไรมาบ้าง ทุกคนต้องกลับไปดู ถ้าเราไม่ดูสิ่งที่สำเร็จ แล้วดูแต่สิ่งที่ไม่สำเร็จ มันก็จะเจอแต่ปัญหาที่ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่สำเร็จมันก็จะต้องมีปัญหาต่อไปอีก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ก็เสียภาษีและสูงกว่าปกติ เราอยู่กันอย่างนี้ อย่าให้ใครมาบิดเบือนว่าคนจนเอื้อประโยชน์คนรวย ภาษีมาจากทุกคนมากน้อยตามกฎกติกากฎหมาย ถ้าเราบอกว่าเอื้อประโยชน์คนรวย คนจนถูกกดภาษี ก็ให้ไปดูมาตรการภาษีว่าเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่เอาเรื่องนี้มาพูดคุยก็ตีกันอยู่ทุกวัน ที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้ต่างกันตรงไหน ตนยังไม่ได้ขึ้นภาษีอะไรสักอย่าง เพียงแต่บางอย่าง เช่น สินค้าที่น้ำตาลมากจะต้องขึ้นภาษีหรือไม่ เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพ หรือภาษีท้องถิ่น ที่ท้องถิ่นเป็นคนเก็บและเก็บไม่ได้มากนัก แต่เป็นการสร้างให้คนเข้าสู่ระบบภาษี วันนี้คนอยู่ในระบบภาษีไม่ครบ แต่ไม่มีใครกล้าทำเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศ ถ้าวันข้างหน้าประเทศเราดีขึ้น แล้วจะทำอย่างไรถ้าระบบภาษีไม่สมบูรณ์ บิ๊กดาต้า เราก็ไม่ครบ หลายอย่างที่ทำมา ไม่ได้มุ่งหวังจะเป็นรายได้ เช่น โครงการชิมช้อปใช้ แต่ต้องการให้คนเข้ามาสู่ระบบ จะได้เช็คข้อมูลพื้นฐานได้ ทุกคนก็กลัวแต่เรื่องภาษีกัน ถ้าไม่มีภาษี รัฐบาลจะเอารายได้มาจากไหน แต่ตนก็ไม่สามารถไปบังคับใครได้ แต่อย่าไปพูดให้สิ่งที่กำลังเดินหน้าดีๆ ดึงถอยหลังไป