ปี 63 กสศ. ช่วยเด็กอนุบาลยากจนพิเศษ 1.5 แสนคนทั่วประเทศ

ปี 63 กสศ. ช่วยเด็กอนุบาลยากจนพิเศษ 1.5 แสนคนทั่วประเทศ

กสศ. เดินหน้าช่วยเด็กอนุบาลยากจนพิเศษ 1.5 แสนคนทั่วประเทศ หลัง กมธ.งบฯ คืนงบ กสศ. 1.9 พันล้านบาท พร้อมขยายผลเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ในปี 63 สามารถช่วยเด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา อนุบาล-ม.ต้นได้ราว 9 แสนคน

จากการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบการขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ของกองทุนเพื่อวามเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จำนวนกว่า 1,937 ล้านบาท จำแนกเป็นงบประมาณตามแผนการใช้เงินฯ จำนวน 1,637 ล้านบาท และทุนประเดิมในส่วนที่ยังได้รับไม่ครบ จำนวน 300 ล้านบาท สำหรับการเพิ่มงบประมาณดังกล่าว เป็นการปรับเพิ่มให้กสศ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณครบถ้วนตามแผนการใช้เงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 62 (5,496 ล้านบาทเศษ)

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เปิดเผยว่า  ในปีการศึกษา 2563 กสศ.สามารถเดินหน้างานสำคัญเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายสำคัญตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาต่างๆ ดังนี้ กลุ่มที่1 การขยายผลการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนอย่างมีเงื่อนไขไปยังกลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 949,941 คน ครอบคลุมนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.ต้น ในสังกัด สพฐ. อปท. ตชด. และ พศ. ทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่สำคัญได้แก่ นักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาล จำนวน 150,407 คน

157839166181

ทั้งนี้ สำหรับการช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและการฝึกทักษะอาชีพตามศักยภาพ โดย กสศ. จะสามารถช่วยเหลือเด็กนอกระบบในพื้นที่ 20 จังหวัดและภาคีเครือข่ายได้ตามเป้าหมายที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้วางเอาไว้ภายในปี 2563 นี้ จำนวน 55,000 คน จากเดิมที่จะมีงบประมาณทำได้เพียงแค่ 20% ของเป้าหมายดังกล่าวเท่านั้น

ล่าสุด กสศ. กำลังสำรวจเด็กนอกระบบและนำเด็กนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี ยะลา ขอนแก่น อำนาจเจริญ มหาสารคาม นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี นครนายก ระยอง และกาญจนบุรี ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการสำรวจแล้วบางพื้นที่ พบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาแล้วจำนวน 23,382 คน ซึ่งหากสำรวจครบพื้นที่ทั้งหมด คาดว่าจะพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาตามเป้าหมาย

นายสุภกร กล่าวอีกว่า กสศ. ยังสามารถดำเนินงานส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพ (ปวส./อนุปริญญา) ในส่วนของการเพิ่มเติมทักษะสมัยใหม่ให้แก่ผู้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมากกว่า 5,000 คน ประกอบด้วยทุนต่อเนื่อง 2,113 คน และทุนใหม่ 2,500 ทุน

157839166165

ซึ่งรวมถึงการจัดแนะแนว ดูแลสวัสดิภาพ การฝึกงานกับสถานประกอบการ การส่งเสริมการมีงานทำ รวมทั้งสามารถสนับสนุนการพัฒนาครูในโรงเรียนขนาดกลางที่มีสัดส่วนนักเรียนด้อยโอกาสเกินครึ่งโรงเรียนครอบคลุม 560 โรงเรียน ในพื้นที่ 60 จังหวัด คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของโรงเรียนประจำตำบล จากเดิมที่จะทำได้เพียง 3 ใน 4 ของจำนวนดังกล่าว

โดยอาศัยหลักการสนับสนุนโรงเรียนที่สมัครใจร่วมพัฒนาการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพื้นที่ ในด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต้นแบบกสศ.จะสามารถจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนมาตรการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้ครอบคลุม 40 จังหวัดตามเป้าหมาย ซึ่งจะแสดงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางพัฒนาการ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ในช่วงวัยที่สำคัญจำนวน 3 ช่วงวัย

157839166113

รวมถึงการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาระดับจังหวัด (Provincial Education Account: PEA) ซึ่งเป็นการจัดทำข้อมูลแสดงรายจ่ายด้านการศึกษาในระดับจังหวัดทั้งในส่วนของภาครัฐ ท้องถิ่น ครัวเรือน และภาคเอกชน ฐานข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้จังหวัดสามารถนำไปใช้วางแผน และติดตามผลการใช้จ่ายงบประมาณ และมาตรการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างแม่นยำกว่าการใช้ข้อมูลทุติยภูมิระดับภูมิภาค และระดับชาติ ซึ่งหากไม่ได้รับงบประมาณจะทำได้เพียง 20 จังหวัดเท่านั้น

"กสศ.ต้องขอบคุณคณะกรรมาธิการฯ และคณะอนุกรรมาธิการฯที่พิจารณาคำขอเพิ่มงบประมาณของ กสศ. ซึ่งจะสามารถทำให้ขยายผลการดำเนินงานไปถึงกลุ่มเป้าหมายตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอนุบาลที่สมองกำลังเจริญรวดเร็วที่สุด แต่ปัจจุบันเด็กนอกระบบการศึกษาในช่วงก่อนวัยเรียนยังมีสัดส่วนสูงราวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับประชากรวัยเดียวกัน" ผจก.กสศ. กล่าว

157839166191