'ฝ่ายค้าน' ถล่ม ม.4 ตั้งงบ 63 ผิดกม.-รธน. เตือน 'ส.ส.'สนับสนุนถูก ป.ป.ช. สอบ
"ส.ส.ฝ่ายค้าน" ถล่ม ม.4 ตั้งงบ 63 ผิดกม.-รธน. เตือน “ส.ส.”สนับสนุนถูก ป.ป.ช. สอบ ขอหั่นงบลง 5-15% ชี้ขัดวินัยการเงินการคลัง จี้ “บิ๊กตู่” ลาออก ปมแก้ปัญหาปชช.ล้มเหลว
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 63 ในการประชุมสภาฯ ซึ่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท วาระสอง ต่อเนื่องในมาตรา 4 ว่าด้วยการตั้งงบประมาณ ปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท โดยกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากไม่มีการแก้ไข แต่กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นซีกฝ่ายค้าน ลงชื่อขอสงวนความเห็น 25 คน และมี ส.ส.สงวนคำแปรญัตติทั้งสิ้น 44 คน
ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยสงวนคำแปรญัตติให้ปรับลดงบประมาณจำนวนดังกล่าวลง 5 เปอร์เซ็นต์ และ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยย้ำถึงการตัดงบประมาณในส่วนที่จัดสรรให้กับหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานขอรับงบประมาณ โดยเฉพาะกองทุนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล รวมถึงปรับให้สอดคล้องกับสถานะของจีดีพีประเทศล่าสุด รวมถึงสถานการณ์ของประเทศที่ต้องการกระตุ้นทางด้านเศรษฐกิจ โดย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย อภิปรายว่าการจัดสรรงบประมาณ ตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 ถือว่าขัดกับพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้กับหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่การเสนอจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลตามร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 พบจัดสรรให้กับทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ให้กับ 20 กองทุนหมุนเวียน รวมเป็นเงิน 1.97แสนล้านบาท ทั้งนี้ เนื้อหาของร่างาพ.ร.บ.งบฯ 63 ยังมีประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตนกังวลว่าหาก ส.ส.ลงมติสนับสนุนหรือผ่านร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและทำผิดกฎหมาย โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจตรวจสอบและมีระยะเวลาตรวจสอบนานถึง 10 ปี ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย พยายามท้วงติงและแก้ไขให้ถูกต้องแต่ไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ถือว่าผิดปกติและจะสร้างปัญหาให้กับสภาฯ
ด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย อภิปรายว่าการกำหนดงบประมาณของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับนโยบายของพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเป็นรัฐบาล เพราะเป็นการทำงบประมาณที่ตั้งต้นสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนโครงการที่จะออกตามนโยบายพรรคการเมืองเชื่อว่าจะออกเป็นโครงการเพิ่มเติมตามมติของ ครม. โดยตนมองว่าจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณผิดจากสัดส่วนงบประมาณที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง เพราะบางกระทรวงได้รับงบประมาณสูงกว่าภาพรวมของงบประมาณทั้งหมด เช่น กองทัพ เป็นต้น ดังนั้น การเสนอปรับลดงบฯ ลง 15 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4.3 แสนล้านบาท ถือว่าสอดคล้องกับสถานะจีดีพีของประเทศ
นายสันติ กีระนันทน์ กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก และเลขานุการกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ถือว่าปรามาสกันเกินไปที่ระบุล่วงหน้าว่าการใช้งบประมาณของรัฐบาลเป็นไปไม่เหมาะสมและอภิปรายเกินจริง ทั้งนี้ ยอมรับว่าสถานการณ์ภายนอกประเทศนั้นเกินกว่าที่ประเทศไทยจะควบคุม แต่สิ่งที่สภาฯ อภิปรายไป ถือว่ายอมแพ้เร็วเกินไป ซึ่งการเสนอขอปรับลดงบประมาณลง ข้อเท็จจริงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากงบประมาณก้อนใหญ่ 70 เปอร์เซ็นต์ คืองบรายจ่ายประจำ หากปรับลดจะกระทบต่องบลงทุนได้ ขณะที่ประเด็นการก่อหนี้ซึ่งต้องกู้เงินเพื่อชดเชยรายจ่ายขาดดุล 4.6 แสนล้านบาทนั้น ข้อเท็จจริงพบว่าในแต่ละปีภาครัฐจะมีหนี้สินที่ไถ่ถอน ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ทำให้การกู้เงินจริงจะอยู่ที่ 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่ไม่สูงเกินกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
"การจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม พบการจัดเก็บรายได้สูงกว่าาประมาณการ เพราะการจัดเก็บภาษีผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ดึงผู้ที่เลี่ยงภาษีเข้าระบบได้ ขณะรายได้จากาการเก็บภาษีนำเข้า ส่วนของกรมศุลกากรนั้น จากภาวะเงินบาทที่แข็งค่า พบว่าภาคการส่งออกได้รับประโยชน์ ทั้งนี้กรมศุลกากรถือเป็นหน่วยงานจัดเก็บรายได้ที่หดตัวลงเรื่อยๆ เพราะประเด็นการค้าเสรีตามข้อตกลงเอฟทีเอ กระจายตัวออกไป” นายสันติ ชี้แจง
ขณะที่ ส.ส.ซึ่งสงวนคำแปรญัตติ มีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเสนอให้รัฐบาลนำข้อผิดพลาด และบกพร่องจากการจัดงบประมาณ ปี 2563 ปรับปรุงแก้ไขในการทำงบประมาณ ปี 2564 พร้อมเสนอให้จัดให้รับฟังความเห็นของส.ส. ฐานะตัวแทนของประชาชนที่สะท้อนถึงปัญหา โดยอย่าคำนึงเฉพาะการมีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้น ทั้งนี้ขอสภาฯ อย่าพูดเฉพาะแต่ปัญหาของการจัดงบประมาณ ปี 2563 และขัดต่อกฎหมายเท่านั้น เพราะหากไม่เริ่มต้นการรับฟังความเห็นของส.ส. เพื่อแก้ปัญหาการทำงบปี 2564 เชื่อว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนจะเกิดขึ้น และแผนการแก้ปัญหาของรัฐบาลกี่แผนไม่สามารถแก้ไขได้
ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบต่อกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้