เชื่อแก้ปัญหาจัดพิมพ์แบบเรียนได้

เชื่อแก้ปัญหาจัดพิมพ์แบบเรียนได้

รมว.ศธ.เชื่อแก้ปัญหาจัดพิมพ์แบบเรียนได้แบบวินๆ ยันมติองค์การค้าจัดพิมพ์แบบเรียนทั้งหมด เพื่อความอยู่รอดขององค์การค้าฯ สสวท.นัดประชุมบอร์ดวาระพิเศษ 9 ม.ค. ยุติดราม่าองค์การค้า-สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ

"หนังสือเรียน หรือแบบเรียน" อีกหนึ่งปัญหาของการศึกษาไทยที่ไม่ว่าจะผ่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) มากี่สิบคนก็ต้องแก้ปัญหาในเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือเรียน ซึ่งองค์การค้า ของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) หน่วยงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดพิมพ์แบบเรียน

ว่ากันว่า ปัญหาการจัดพิมพ์แบบเรียนเกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการจัดพิมพ์แบบเรียนไม่ทัน ทำให้ทางองค์การค้าต้องเปิดประกวดราคาให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์แบบเรียน โดยที่ผ่านมาจะมีสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์แบบเรียน

ล่าสุด นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีการจัดพิมพ์แบบเรียนว่าจากการหารือเรื่องการจัดพิมพ์แบบเรียนปีการศึกษา 2563 ซึ่งมีมติให้องค์การค้าของสกสค. เป็นผู้จัดพิมพ์แบบเรียนทั้งหมด เพื่อความอยู่รอดขององค์การค้าฯ และสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับหน้าที่จัดส่งหนังสือเรียนในสัดส่วนที่เคยเป็นโควต้าของสำนักพิมพ์จุฬาฯเท่านั้น

โดยประเด็นการให้องค์การค้าฯพิมพ์แบบเรียน นายณัฎฐพล กล่าวต่อว่ายึดหลักการบริหารผลประโยชน์ของหน่วยงานในองค์กรศธ. ซึ่งองค์การค้าฯเองเป็นหน่วยงานหนึ่งในกำกับการดูแลของศธ.ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจ เพราะไม่ใช่เป็นการตัดสินใจทางใดทางหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ ซึ่งจะคำนึงถึงความอยู่รอดขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ส่วนประเด็นอื่นๆเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่นำมาประกอบการตัดสินใจเท่านั้น

ผมเข้าใจดีว่าระหว่างการหารือได้มีการกลับมติเกิดขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลเข้ามาเพิ่มเติมที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่องค์การค้าฯ และความเหมาะสมด้านอื่นๆ แต่ผมเชื่อว่าเราสามารถพูดคุยทำความเข้าใจกันได้ โดยเมื่อผมรับตำแหน่งรมว.ศธ.วันแรกผมเข้ามาดูข้อมูลกระบวนการผลิตและจัดส่ง แต่เมื่อผมมีผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่เข้าไปดูทำให้ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนจึงได้ตัดสินใจว่าจะเป็นแนวทางอย่างไร ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ต้องมาคุยกัน ดังนั้นคาดว่า 1-2 วันนี้น่าจะได้ข้อยุติแบบวินๆทั้งสองฝ่าย โดยยืนยันว่าจะพิมพ์แบบเรียนได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนเดือนพ..นี้อย่างแน่นอนรมว.ศธ.กล่าว

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่สำนักพิมพ์จุฬาฯไม่ดำเนินการจัดพิมพ์ตามข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ ทีโออาร์นั้น ได้ยินมาเช่นกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ต้องไปตรวจสอบ และหากตรวจสอบแล้วพบว่าสำนักพิมพ์จุฬาฯไม่ทำตามทีโออาร์คิดว่า สพฐ.คงจะมีข้อเสนอแนะมาเองว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มามอบนโยบายคณะกรรมการ สสวท. หรือบอร์ด สสวท. ในการประชุมวาระพิเศษ เรื่อง การให้สิทธิ์ในการพิมพ์หนังสือแบบเรียนสาระวิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษา ที่จะเกิดขึ้น

ในวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2563 เวลา 14.00น. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหาข้อสรุปตามที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แจ้งความประสงค์ให้ สสวท. พิจารณาเรื่องการมอบภารกิจให้องค์การค้าของ สกสค. เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายหนังสือแบบเรียน สสวท. ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ชั้นปี ตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6

ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า สพฐ. สสวท. องค์การค้าของ สกสค. และสำนักพิมพ์จุฬาฯ ได้ดำเนินการตามแผนการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนสาระวิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับภาคการศึกษาที่ 1/2563 โดยองค์การค้าของ สกสค. ได้ขอรับสิทธิ์ในส่วนของระดับชั้นประถมศึกษา และสำนักพิมพ์จุฬาฯ ได้ขอรับสิทธิ์ในส่วนของระดับชั้นมัธยมศึกษา

นอกจากนี้ สพฐ. ได้อนุญาตให้สำนักพิมพ์จุฬาฯ พิมพ์จำหน่ายไปแล้ว 42 เล่ม จาก 60 เล่ม ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2562 ดังนั้น เมื่อมีการแจ้งความประสงค์และนโยบายจากผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ ให้เปลี่ยนแปลงการให้สิทธิ์การผลิตและจำหน่ายจากสำนักพิมพ์จุฬาฯ เป็นองค์การค้าของ สกสค. ก็มีความจำเป็นที่จะต้องขอมติใหม่จากคณะกรรมการของ สสวท.

"คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการ สสวท. ตาม พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2541 โดยกำหนดอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสถาบัน ทั้งนี้ พ.ร.บ. ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการ ของสถาบัน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ผมได้เรียนเชิญท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มามอบนโยบายกับคณะกรรมการ สสวท. พร้อมกับเชิญผู้แทนจากองค์การค้าของ สกสค. และสำนักพิมพ์จุฬาฯ มารายงานความก้าวหน้า เพื่อที่จะพิจารณาหาข้อสรุปเพื่อให้ทุกฝ่ายเดินหน้าต่อไป และให้นักเรียนไทยได้รับหนังสือเรียนทันเวลาก่อนเปิดเทอม" ศ.ดร.ชูกิจ กล่าว